สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย หรือ ทีเอ็มเอดึงกูรูจากไลน์ และอีกหลายๆกูรู แนะทางลัดการทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัลให้องค์กรธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยเพิ่มโอกาสการสร้างธุรกิจ และการสร้างความมั่นคงให้กับองค์กรทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ในงานเสวนา Thailand ICT Management Forum 2018 ภายใต้หัวข้อ Shaking Business Foundation: The Effect of Digital Trend
นายอริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไลน์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เมื่อเรานึกถึงดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น ผมอยากให้มองภาพใหญ่ก่อนว่าทำไมเราต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่การเป็นดิจิทัลด้วย เพราะวันนี้เรามีคนใช้อินเทอร์เน็ตกว่า 45 ล้านคน และเราใช้เวลากับอินเทอร์เน็ตต่อวันกว่า 4 ชั่วโมง แต่เราก็ยังเป็นเพียงแค่ผู้บริโภค เราไม่สามารถนำอินเทอร์เน็ตมาสร้างให้เกิดธุรกิจได้
วันนี้มีแพลตฟอร์มการสื่อสารเกิดขึ้นหลายแพลตฟอร์มบนโลกใบนี้ แต่เราเห็นคนใช้จริงๆอยู่แค่ 3 แพลตฟอร์มเท่านั้น ซึ่งเมื่อเรามองอุตสาหกรรม ทั้งการท่องเที่ยว ธนาคาร การค้าปลีก หรือมีเดีย ฯลฯ ซึ่งเราแบ่งกลุ่มผู้เล่นออกเป็น 3 กลุ่มหลัก 1.กลุ่มสตาร์ทอัพ ที่มีไอเดียดีแต่ไม่เงินทุน 2.กลุ่มธุรกิจเก่า ที่มีเงินทุนเป็นธุรกิจดั้งเดิมแต่ไม่มีไอเดีย 3.กลุ่มสุดท้ายเป็นกลุ่มแพลตฟอร์มคอนเทนต์ ที่มีทั้งเงินทุนและไอเดีย เพราะสิ่งที่แพลตฟอร์มเหล่านี้มีฐานลูกค้าและข้อมูลที่มหาศาล รวมไปถึงการมีเทคโนโลยีที่เกิดมาพร้อมกัน และเงินทุนที่มีมากมาย
และสิ่งหนึ่งที่มองเห็นคือการที่กลุ่มธุรกิจในเอเชีย เริ่มเติบโตและแข่งขันได้กับกลุ่มมหาอำนาจเดิม เราเริ่มเห็นการเติบโตของอีคอมเมิร์ชที่เติบโตอย่างรวดเร็วของอาลีบาบา ซึ่งเราไม่อาจจะปฎิเสธว่าเราอยู่ในยุคที่แพลตฟอร์มเป็นสิ่งที่น่ากลัวและต้องให้ความสนใจ
วันนี้อยากให้เข้าใจพลังของเทคโนโลยี เพื่อที่จะรับรู้ความเปลี่ยนแปลงและปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงให้ได้
ปีนี้จะมีการแข่งขันสูงมากของแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ทั้งในมุมของการแข่งขันและการค้า ผู้เล่นรายใหญ่กำลังจะเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนหนึ่งก็จะเป็นการกระตุ้นให้ตลาดมีขนาดที่ใหญ่ขึ้น แต่ก็ต้องยอมรับว่า การเปลี่ยนแปลงธุรกิจในยุคดิจิทัล นั้นไม่ได้เติบโตแบบค่อยๆเป็นค่อยๆไป เพราะเมื่อโตแล้วจะมีการเติบโตแบบก้าวกระโดดขึ้นเลย
ถ้าเรารอเมื่อพร้อม วันนั้นเราอาจตะเข้าร่วมไม่ทันก็เป็นได้ ยกตัวอย่างเช่น เมื่ออีคอมเมิร์ชเข้ามา และเราต้องการซื้อสินค้าที่เหมือนกับในประเทศ แต่ได้ราคาที่ถูกกว่า ซึ่งหากเราสังเกตเห็นนั้นผู้ขายกลับส่งสินค้ามาจากต่างประเทศ ทั้งสิ้น
ขณะที่ตลาดโลจิสติกส์ก็เติบโตมาพร้อมกับการค้าออนไลน์ที่เติบโตขึ้น เนื่องจากเป็นธุรกิจต่อเนื่องที่เรียกว่าเป็นส่วนเสริมการทำธุรกิจร่วมกัน
วันนี้หากเราต้องการแนวทางการทำธุรกิจด้านดิจิทัล แนะนำให้ไปที่จีนมากกว่าการไปซิลิคอนวัลย์เล่ เนื่องจากที่จีน มีอัตราการเกิดธุรกิจเทคโนโลยีขึ้นเร็วมาก
การเชื่อมต่อระหว่างแพลตฟอร์มออฟไลน์ให้เข้าไปอยู่ในออนไลน์แบบทางลัด เป็นเรื่องที่เราสามารถใข้งานแพลตฟอร์มที่มีอยู่แล้ว จาก 3 แพลตฟอร์มที่กล่าวมา ซึ่งสิ่งที่เราเห็นชัดเจนในกลุ่มธุรกิจแบบดั้งเดิม นั่นคือการเปลี่ยนแปลงไม่ทัน ย่อมทำให้เกิดการล่มสลาย ตัวอย่างนี้เกิดขึ้นกับนิตยสารหลายๆเล่มในช่วงปีที่ผ่านมา
ผมมองว่าสื่อยังต้องมีอยู่ แต่รูปแบบของการพิมพ์จะหายไป ขณะที่สื่อทีวีก็จะยังมีอยู่แต่ต้องเปลี่ยนแปลงเช่นกัน
การแข่งขันวันนี้ไม่ใช่การทำเทคโนโลยีเพื่อเข้าสู่การแข่งขัน แต่เป็นการนำเทคโนโลยีที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์ที่เหมาะสมกับธุรกิจของตนเองที่สุด
วันนี้ดาต้าเปรียบเหมือนทอง ที่จะทำให้เราเข้าใจความต้องการของผู้บริโภคมากที่สุด ยกตัวอย่างเช่นการปล่อยกู้ด้วยเทคโนโลยี ที่ปัจจุบันเรามีข้อมูลจากโลกออนไลน์มากมายที่สามารถเข้ามาประเมินผู้กู้ได้ดีกว่า เอกสารที่ยื่นแบบเดิมๆอย่างมากมาย
เรามีข้อมูลมากมายก็จริง แต่เราไม่ได้นำกลับมาใช้ เราต้องเริ่มหาคนที่ชอบดาต้า เพื่อให้เกิดข้อมูลอินไซด์และนำไปสู่การพบธุรกิจรูปแบบใหม่ ซึ่งท้ายที่สุด เราจะเรียกกลุ่มนี้ว่า เดต้าไซเอนทิสต์ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มองและเข้าใจตัวเลขและข้อมูลที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อมองหาโอกาสในการสร้างรูปแบบธุรกิจใหม่ได้อย่างเหมาะสมต่อไป
การเข้าใจปัญหาที่แท้จริงอย่างลึกซึ้งจะทำให้เราเข้าใจลูกค้ามากขึ้น และสามารถคิดบริการออกมาได้อย่างตรงใจ ท้ายที่สุดบริการนั้นๆก็จะประสบความสำเร็จในการออกแบบบริการ
การออกแบบยูสเซอร์อินเตอร์เฟส ซึ่งเป็นด่านแรกที่ผู้บริโภคจะเชื่อมต่อกับบริการนั้นๆ และเป็นการสร้าประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้บริโภค และที่สุดแล้วก็จะเป็นการสร้างแบรนด์ที่มีประโยชน์ที่สุดสำหรับองค์กรธุรกิจนั้นๆ
วันนี้เราสร้างรูปแบบการเข้าเว็บไซต์แล้ว ต้องคำนึงว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อผู้บริโภคเข้าไปแล้ว จะทำยังไงให้เกิดการซื้อบริการของข้อมูลเหล่านี้ ซึ่งการตรวจจับพฤติกรรมทั้งหมด สามารถตรวจสอบได้จากข้อมูลหรือดาต้านั่นเอง
การใช้งานที่ง่ายและสะดวก อย่างเช่นการสร้างระบบค้นหาให้บนเว็บ นับเป็นส่วนที่ดี แต่เมื่อเปิดเข้าไปที่หน้าของการค้นหาแล้ว กลับมีเพียงการค้นหา ไม่ได้สร้างแคมเปญบางอย่างที่ตรงตามความต้องการของลูกค้า ซึ่งทำให้เสียโอกาสในการสร้างยอดขายไปอย่างน่าเสียดาย
ปัจจุบันไลน์มีลูกค้าอยู่ที่ราว 200 ล้านบัญชี โดยในประเทศไทยมีกว่า 45 ล้านบัญชี และคิดเป็น 1 ใน 3 ของการใช้โลกออนไลน์ตลอดเวลา มีทีมงานกว่า 300 คนที่ขับเคลื่อนไลน์ประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตลอดมาได้ทำการปรับเปลี่ยนรูปแบบบริการที่เหมาะสมกับคนไทย นับว่าเป็นบริษัทที่อายุน้อยสำหรับการเกิดขึ้นมาได้เพียง 7ปีเท่านั้น
แต่สิ่งหนึ่งของกลยุทธ์การทำธุรกิจที่สำคัญนั้น เราเน้นที่การคิดจากท้องถิ่นเป็นหลัก ซึ่งแตกต่างจากการบริหารจากศูนย์กลางอย่างที่บริษัทต่างชาติมักทำ ทำให้เราเคลื่อนไหวได้เร็ว ขณะที่การลงทุนเป็นการมองหาโอกาสที่เรายังไม่มีอยู่ เพื่อสร้างทางลัดให้เกิดขึ้นได้เร็วมากขึ้น แน่นอนว่ากลยุทธ์การลงทุนที่ดีจะช่วยให้เราก้าวกระโดดไปได้อย่างรวดเร็ว
ตัวอย่างเช่นเมื่อไม่นานมานี้ เราได้จับมือกับเอไอเอส เพื่อเข้าสู่ระบบการชำระเงินออนไลน์ ซึ่งก็เป็นการปรับตัวเพื่อเข้าสู่แพลตฟอร์มการชำระเงินของลูกค้าด้วยมือถือ และทำให้เรากระโดดเข้าสู่ฐานลูกค้าระบบการชำระเงินขนาดใหญ่ได้อย่างรวดเร็ว
และหากมองไปที่ทางลัดแบบที่ธนาคารควรใช้ ตัวอย่างที่ดีอย่างธนาคาร SCB ก็เป็นรูปแบบหนึ่งที่เข้ามาเป็นบริการชำระเงินส่วนหนึ่งของไลน์ ซึ่งจะเป็นการช่วยเพิ่มจำนวนการชำระเงินจากศูนย์ ขึ้นมาสู่ 2 ล้านครั้งในเวลาเพียงแค่ไม่กี่เดือน
ท้ายที่สุดสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมด มันแสดงให้เห็นว่าเรากำลังจะสร้างประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า โดยเมื่อช้อปผ่านไลน์ ก็สามารถกดชำระเงินได้เพียงการกดครั้งเดียว ซึ่งสะดวกในการใช้งานมากกว่าเดิม
ดังนั้นความเข้าใจเทคโนโลยีจะทำให้เราเข้าใจบริการและสามารถคิดบริการที่เหมาะสมออกมาได้ อีกทั้งยังจะเข้าใจความสามารถของคู่แข่ง แน่นอนว่าความสำคัญของข้อมูลเป็นส่วนหนึ่งของความสำคัญในอนาคต เชื่อเราต้องเริ่มดูข้อมูลที่มีทั้งหมด เพื่อนำมาใช้ประโยขน์ให้เกิดขึ้นจริง ไม่ต้องรอให้มีขนาดใหญ่หรือรอให้พร้อม
ไม่ควรยึดติดกับแนวคิดเดิมๆที่จะต้องให้บริการเดิมๆกับสินค้านั้น แต่ต้องเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจและเปลี่ยนรูปแบบสินค้า ซึ่งเมื่อคุณเปลี่ยนได้ ก็จะเป็นการสร้างรูปแบบบริการและโมเดลธุรกิจใหม่ๆที่เกิดขึ้นในอนาคต ซึ่ง ความคิด เป็นเรื่องสำคัญที่สุดของการปรับตัวสู่ดิจิทัลในอนาคต