ความท้าทายของการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล เกิดขึ้นกับทุกรูปแบบธุรกิจ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่การต้องค้นหาสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงเท่านั้น แต่กาลยุทธ์การเปลี่ยนแปลง เพื่อสร้างพฤติกรรมให้ทั้งองค์กรเดินหน้าสู่ดิจิทัลไปพร้อมๆกัน เป็นหัวใจของการดิจิทัลทรานส์ฟอร์ม ซึ่งจะนำไปสู่โมเดลธุรกิจแบบใหม่ในที่สุด
ชลลักษณ์ มหาสุวีระชัย Digital Business Lead บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด กล่าวว่า เราต้องการเปลี่ยน External Startup Engagement ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงการพัฒนาสินค้าของสตาร์ทอัพให้เจ้ามาสนับสนุนการดำเนินธุรกิขององค์กรให้ได้
แน่นอนว่าจะต้องเริ่มเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรจากการตั้งบริษัทในเครือ เพื่อทำหน้าที่เริ่มต้นกับสตาร์ทอัพทั่วทุกมุมโลก ซึ่งจะทำให้เราเห็นความเป็นไปของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในโลกใบนี้
เราเริ่มลงทุนกับการสร้างองค์กรขึ้นมาเพื่อสร้างรูปแบบการลงทุนกับสตาร์ทอัพมากขึ้น พร้อมการทำโปรแกรม เพื่อสร้างรูปแบบการทำงานใหม่ และดึงคนรุ่นใหม่ให้เกิดความเป็นเจ้าของธุรกิจจากภายในจิตใจ เพื่อสร้างสรรค์บริการใหม่ให้เกิดขึ้นกับเอสซีจีในอนาคต
วันนี้เราเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ดิจิทัลพาร์ทเนอร์ ด้วยการเชื่อมโยงเข้าสู่ระบบออนไลน์จากเดิมที่เป็นตลาดออฟไลน์ ด้วยโจทย์ของการดึงลูกค้าจากออฟไลน์เข้าสู่ออนไลน์ พร้อมประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับลูกค้า
เราเริ่มเปลี่ยนจากการขายปูนให้ลูกค้ารู้สึกว่า อยากมีบ้านที่ดี มีการสร้างบริการและสินค้าที่เข้าถึงกลุ่มลูกค้า B2C มากยิ่งขึ้น แน่อนนว่าการเปลี่ยนแปลงของดิจิทัล ไม่ใช่เพียงแค่การเปลี่ยนสินค้าเท่านั้น หากแต่เป็นการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดที่จะต้องเกี่ยวเนื่องกัน โดยเริ่มต้นจากคนนั่นเอง
ด้านวีระศักดิ์ กฤษณประพันธ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ ฝ่ายสารสนเทศ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า โรงพยาบาล เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงจากการรักษาผู้ป่วย แต่เป็นการดูแลรักษาเพื่อให้เกิดสุขภาพที่ดีแทน จนเมื่อวันหนึ่ง โรงพยาบาลจะเข้าถึงผู้คนมากขึ้นนั่นเอง
เราเริ่มต้นดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมขั่น เพราะเราเขื่อว่าเทคโนโลยีเป็น Business Transformation ซึ่งจะต้องเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจทั้งหมดเพื่อสอดรับ มากกว่าการทำเพียงแค่การซื้ออุปกรณ์เข้ามาเท่านั้น
ยกตัวอย่างเช่นการวิเคราะห์อาการจากฟิล์มเอ็กเรย์ วันนี้เริ่มมีการใช้เอไอในการวิเคระห์อาการได้ดีกว่า การวิเคระห์จากหมอจริงๆแล้ว ทำให้เราเริ่มตระหนักถึงการทรานส์ฟอร์มเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น
วันนี้ธุรกิจของ รพ.กรุงเทพ เริ่มพุ่งเป้าไปที่การสร้าง เวลล์เนส เซ็นเตอร์ มากยิ่งขึ้น โดนได้เริ่มเปิดตัวเวลล์เนส เซ็นเตอร์ที่ปาร์คนายเลิศเป็นแห่งแรก เพื่อทำให้ผู้คนสุขภาพดีขึ้น มากกว่าการรอให้ป่วยแล้วเดินทางมาโรงพยาบาลแบบเดิม
ในอนาคตผู้สูงอายุจะเพิ่มจำนวนสูงขึ้นในประเทศไทย เชื่อว่าจะทำให้เกิดความต้องการในตลาดเวลล์เนสอีกมาก ด้วยความต้องการของคนกลุ่มนี้
เราเริ่มสร้างแอปพลิเคชั่นสำหรับสื่อสารกับกลุ่มคนที่ต้องการดูแลสุขภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งนอกจากจะเป็นการรวบรวมผลของการวัดค่าต่างๆของร่างกายแล้ว ยังสามารถตรวจสอบย้อนหลัง และพยากรณ์สุขภาพในอนาคตได้อีกด้วย
ถ้าวันนี้ทุกคนรู้ค่าต่างๆของร่างกายของเราดี รู้ความเสี่ยงที่จะเกิดโรคขึ้น การดูแลรักษาให้สุขภาพดีก็จะเกิดขึ้น ซึ่งนอกจากจะเป็นแอปพลิเคชั่นการเก็บข้อมูลการรักษาแล้ว ยังเป็นช่องทางในการสื่อสารกับหมอแต่ละด้านที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเข้ามาเป็นที่ปรึกษากับผู้ใช้งานได้อย่างเฉพาะบุคคลมากยิ่งขึ้น
เราควรเริ่มทำจากเล็กๆ ก่อนที่จะรอให้พร้อม ซึ่งเราก็เริ่มจากทีมงานเล็กๆ ที่มีความพร้อมในระดับหนึ่ง จากเดิมที่เราเก็บเพียงแค่ผลของค่าร่างกายเท่านั้น การทำแอปพลิเคชั่นจึงเริ่มทำการเก็บข้อมูลของไลฟ์สไตล์จริงๆของผู้ใช้งานแอปพลิเคชั่นด้วย ทำให้เราสามารถสร้างรูปแบบและพยากรณ์การเกิดโรคได้ในอนาคต
ซึ่งนอกจากวิชั่นที่เราจะต้องชัดเจนแล้ว เรายังจะต้องสร้างความเข้าใจในความต้องการของลูกค้า เพื่อที่จะพัฒนาบริการได้ตรงใจมากยิ่งขึ้น โดยเราได้จับมือกับบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ทำให้เราสามารถสำเร็จกับแคมเปญนี้ได้ในเวลา 6เดือน
ซึ่งทำให้ ปตท.สผ. มีความสะดวกในการดูแลพนักงานที่มีความสามารถสูงได้จากหลากหลายพื้นที่ โดยสามารถเข้าใข้บริการได้ทุกแห่งในประเทศ ภายใต้ข้อมูลการรักษาเดียวกัน
ขณะที่แนวทางนี้จะต้องใช้ความสามารถของ HR เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เพราะเมื่อเราเห็นพนักงานที่มีแนวทางเดียวกัน เขาเหล่านั้นจะต้องได้รับการโปรโมทและส่งเสริมให้เกิดความมั่นใจและมั่นคงในการทำงานของเขามากยิ่งขึ้น
ด้านกนกพรรณ ศรีวนาภิรมย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายพัฒนาทรัพยากรบุคคล บริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า เรามีการคุยกันเรื่องดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่นมาตั้งแต่ปี 2015 ที่ผ่านมา โดยวางเป้าหมายของการทรานส์ฟอร์มที่ชัดเจน
โดยเราประกาศว่าในปี 2020 จะก้าวขึ้นเป็น ดิจิทัลแบรนด์อันดับหนึ่งของประเทศไทยให้ได้ ทำให้เราต้องทำงานเป็นอย่างหนัก ซึ่งหากมองผลสำรวจที่เกิดขึ้น การ Disrubt เกิดขึ้นกับสื่อสิ่งพิมพ์เป็นอันดับแรก และเราก็เห็นว่ามันเกิดขึ้นจริงแล้ว
ซึ่งในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ก็เป็นอันดับ 2 ที่จะเกิดการ Disrubt เช่นกัน และสตาร์ทอัพจะเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ทรานส์ฟอร์มไปสู่ดิจิทัลได้อย่างรวดเร็ว
นั่นเพราะว่าการใข้งานด้านเสียงหรือการโทรของโทรศัพท์ เริ่มลดลง แน่นอนว่าหากเราไม่เปลี่ยนไปสู่ดิจิทัล เราเองก็จะถูก Disrubt ไปอย่างน่าเสียดายเช่นกัน
ขณะที่กลยุทธ์ทางลัดของการทรานส์ฟอร์มไปสู่ดิจิทัล นั้นก็คือ การยอมรับในสิ่งที่เป็น เช่นเรื่องไหนที่เราไม่เก่ง เราก็ยอมรับและมองหาคนที่เก่งเข้ามาทำงานแทนเรา เพื่อให้เกิดการทำงานที่รวดเร็ว บนความเร็วของเทคโนโลยีที่เหมาะสม
นอกจากนั้นเราจะต้องกลับมามองคนของเราเพื่อให้เกิดความเข้าใจของการทรานส์ฟอร์มและก้าวเข้าสู่ดิจิทัลแบบทั้งองค์กร ไปพร้อมๆกัน ซึ่งบางส่วนก็ต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันกับสตาร์ทอัพในบางมุมที่เหมาะสม
ดีแทคเองเมื่อเราต้องการสร้างบริการออกมาใหม่ๆ เราคำนึงถึงประสบการณ์ของลูกค้าเป็นหลัก ซึ่งทำให้เราสามารถสร้างบริการขึ้นมาตอบโจทย์ของลูกค้าได้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น แน่นอนว่าการสร้างประสบการณ์ที่ดีของลูกค้าส่วนใหญ่จะทำได้ด้วยระบบออนไลน์ที่เกิดขึ้น
ขณะที่วิธีการทำงานขององค์กรก็เป็นเรื่องสำคัญ การออกแบบยูเอ็กซ์ยูไอ เป็นเรื่องที่เราต้องให้ความสนใจกับพนักงานในองค์กรด้วย ทำให้พนักงานสามารถมีประสบการณ์ในโลกของดิจิทัลได้อย่างสมบูรณ์และเข้าใจมากยิ่งขึ้น เมื่อพรักงานเข้าถึงประสบการณ์ดิจิทัลที่ดีแล้วก็จะสามารถถ่ายทอดไปสู่ผู้บริโภคได้อย่างดีเยี่ยม
การออกแบบบริการนั้น เริ่มต้นจากผู้บริโภคเป็นหลัก ทำให้การออกแบบและพัฒนาขึ้นมาของแอปพลิเคชั่น บนพื้นฐานของการทำงานให้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับการให้พนักงานเป็นผู้ออกไอเดีย เพื่อให้พนักงานได้มีโอกาสในการสร้างสรรค์การบริหารจากปัญหาทีพบเห็นมา
การพัฒนาความรู้ของพนักงาน เพื่อให้เกิดความเชี่ยวชาญที่มากขึ้น รวมไปถึงความเข้าใจในดิจิทัลมากยิ่งขึ้น ก็สะท้อนให้เห็นการส่งต่อไปสู่ลูกค้าที่ดียิ่งขึ้นเช่นกัน ดังนั้นความสำคัญของการส่งเสริมความรู้จึงเป็นอีกหนึ่งตัวชี้วัดที่ดีแทคมุ่งหวังจะมอบให้กับพนักงานทั้งหมด
และอีกบริการหนึ่งคือไลน์โมบาย ซึ่งก็เป็นบริการหนึ่งที่สะท้อนความเป็นดิติทัลไลฟ์สไตล์ได้เต็มรูปแบบ และสอดรับกับการใช้ชีวิตในยุคดิจิทัลเป็นอย่างมาก
สิ่งที่ทำมาทั้งหมด ประสบการณ์ที่เกิดขึ้น รวมไปถึงการสร้างบริการใหม่ๆ เป็นสิ่งที่วัดค่าได้ ทั้งในส่วนของความพึงพอใจของลูกค้าที่มากขึ้น การสร้างกำไรขององค์กรที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังมีส่วนของความแข็งแกร่วขององค์กร เพื่อก้าวไปสู่การเป็นดิจิทัลอันดับหนึ่งของประเทศให้ได้ตามเป้าหมาย
ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลของกูรูด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์ม ล้วนแล้วมีเคล็ดลับที่น่าสนใจตามธุรกิจของตนเองเป็นอย่างแรก หากแต่ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “เริ่มได้เลย ไม่ต้องรอให้พร้อม”เพราะท้ายที่สุดแล้วเราจะเรียนรู้และพัฒนาระบบให้เกิดความสมบูรณ์ ตรงตามความต้องการมากยิ่งขึ้นเมื่อเราเริ่มลงมือทำแล้วเท่านั้น