หากจะพูดถึงโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor หรือ EEC) ที่มีเป้าหมายในการสร้างประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจระดับโลก (World Class Economic Zone) ที่ภาครัฐชูจุดเด่นด้านยุทธศาสตร์ของประเทศไทยในแง่ของการเป็นประตูสู่ประเทศต่างๆในภูมิภาคเอเชีย
ซึ่งได้มีผู้ประกอบการรายใหญ่ระดับโลกสนใจเข้ามาลงทุนมากมาย โดยเฉพาะสองยักษ์ใหญ่จากแดนมังกรอย่าง อาลีบาบา และ คิงซอฟท์ ซึ่งเป็นบริษัทแถวหน้าของประเทศจีนต่างมีความสนใจในการลงทุนดังกล่าวเป็นอย่างมาก
ล่าสุด แจ็ค หม่าเจ้าของ E-commerce ชื่อดังอย่าง อาลีบาบา (Alibaba)ได้เดินทางมาปิดดีลการลงทุนด้วยการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ พร้อมพบปะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช. และ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯฝ่ายเศรษฐกิจ ด้วยการลงนามบันทึกข้อตกลง การลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ด้วยกันถึง 4 ฉบับ
ซึ่งการลงทุนสมาร์ทดิจิทัลดังกล่าวใน อีอีซีจะผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็นศุนย์ควบคุมธุรกิจ E-commerce ในประเทศ CLMVT ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และ ไทย การลงนามดังกล่าวครอบคลุมธุรกิจ 4 ด้าน ได้แก่ 1.ความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนและขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล โดยสำนักงานอีอีซี และ อาลีบาบา
2. ความร่วมมือในการลงทุน Smart Digital Hub ระหว่าง สำนักงานอีอีซี กรมศุลกากร กับ Cainiao Smart Logistics Network ในกลุ่มอาลีบาบา 3. ความร่วมมือในการพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัล และการส่งเสริมธุรกิจผ่านอี-คอมเมิร์ซ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กับอาลีบาบา
และ 4.ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวเมืองรอง ระหว่างการท่องเที่ยวประเทศไทย กับ Fliggyหรือ Alitrip ผู้ให้บริการท่องเที่ยวจากจีน
อีกบริษัทยักษ์ใหญ่จากจีนที่น่าจับตามอง ซึ่งมีโครงการจะเข้ามาลงทุนในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เช่นกันคือ บริษัทผลิตซอฟต์แวร์ชื่อดังอย่าง คิงซอฟท์ (Kingsoft)จากประเทศจีนที่มีชื่อเสียงโด่งดังไม่แพ้ อาลีบาบา แถมยังมีผู้นำชื่อดังระดับโลกอย่าง เหลยจวิน(Lei Jun)

ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นประธานของคิงซอฟท์และ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของแบรนด์มือถือชื่อดังอย่าง Xiaomi ที่ได้รับสมญานามว่าเป็น สตีฟ จ๊อป แห่งประเทศจีนและเคยได้รับการจัดอันดับจาก Forbes ให้เป็น Business Man of the Year อีกด้วย สำหรับประเทศไทยนั้นชื่อของเขาอาจจะยังไม่เป็นที่รู้จัก
แต่ในอีกไม่นานชื่อของ คิงซอฟท์และ เหลยจวิน ก็คงจะเป็นที่คุ้นหูกันมากขึ้น เพราะเมื่อไม่นานมานี้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยว่าขณะนี้ คิงซอฟท์ ผู้นำเทคโนโลยีซอฟท์แวร์ของจีนที่มีกลุ่มธุรกิจที่หลากหลายได้แสดงความจำนงที่จะมาลงทุนในประเทศไทย โดยคาดว่าการลงทุนใน อีอีซีจะผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็นฐานการผลิตในอาเซียน และ CLMV
คิงซอฟท์ มีผลิตภัณฑ์ชูโรงเป็นชุดโปรแกรมสำนักงานที่เรียกว่า WPS Office ซึ่งเปิดตัวเป็นครั้งแรกในปี 2532 ในปัจจุบันมีอายุร่วม 29 ปีแล้ว ในปี 2560 คิงซอฟท์ พึ่งฉลองการมีจำนวนผู้ใช้งานรอบโลกกว่า 2,300 ล้านยูสเซอร์ โดยโปรแกรมของ WPS สามารถแบ่งผู้ใช้งานออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆได้แก่
การใช้งานจากพีซี และการใช้งานบนสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตเป็นที่แน่นอนว่าโปรแกรม WPS ได้รับการยกย่องให้เป็นที่หนึ่งของโปรแกรมสำนักงานสำหรับใช้งานบนโทรศัพท์มือถือทั้งใน Google Play และ Apple Store อีกด้วย
ในส่วนของการเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเมื่อปี 2560 คิงซอฟท์ได้นำร่องการลงทุนโดยการแต่งตั้งให้บริษัทอาร์เอ็มไอ โกลบัล เวนเจอร์ส คู่ค้าและพาร์ทเนอร์ในประเทศไทยเปิดตัวซอฟต์แวร์“ไทยดับเบิ้ลยูพีเอสออฟฟิศ หรือ ThaiWPS Office”ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์สำนักงานทางเลือกใหม่ที่เหมาะสำหรับข้าราชการ ผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไป
อันเนื่องมาจากความสะดวกสบายในการใช้งานที่ตอบโจทย์ในด้านต่างๆอาทิ มี Template สำหรับราชการ มีขนาดไฟล์ที่เล็กกว่าเมื่อเทียบกับคู่แข่งส่งผลให้การรับส่งไฟล์ลื่นไหลไม่มีสะดุด สามารถใช้งานร่วมกับโปรแกรมสำนักงานอื่นๆเช่น Windows Linux, Android, iOS ได้อย่างไม่มีปัญหา
สามารถรองรับการทำงานได้ทุกภาษาทั่วโลก และที่สำคัญ สามารถตัดปัญหาการลักลอบใช้โปรแกรมผิดกฎหมายได้อย่างถาวรเนื่องมาจากมีราคาที่ถูกกว่าโปรแกรมสำนักงานอื่นๆในท้องตลาดอยู่มาก
นอกจากนั้น ไทยดับเบิ้ลยูพีเอส ยังมีผลิตภัณฑ์คลาวด์ออฟฟิศแห่งอนาคต ที่พัฒนาร่วมกับ บริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ไอเน็ต (INET) ซึ่งเปิดตัวไปเมื่อต้นปี2561โดยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวถูกออกแบบมาเพื่อรองรับการทำงานของคนในยุคปัจจุบันที่สามารถทำงานได้ทุกที่ทุกเวลาอีกด้วย
เป็นที่น่าสนใจว่าการเข้ามาลงทุนของ คิงซอฟท์ ในอนาคตอันใกล้นี้ จะเปลี่ยนโฉมหน้าวงการอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีของประเทศไทยไปในด้านใดบ้าง ก็คงต้องรอดูกันต่อไป
ในขณะที่ความคืบหน้าด้านการลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกกำลังเดินหน้าไปด้วยดี โดยได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติเป็นจำนวนมาก สิ่งที่คนไทยและผู้ประกอบการไทยรวมถึงภาครัฐควรให้การสนับสนุน
คือการให้ความรู้และเตรียมความพร้อมแก่บุคลากรภายในประเทศ โดยให้การสนับสนุนทุกๆด้าน ตลอดจนผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยได้เตรียมความพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัลที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วอย่างทันท่วงที