กลายเป็นดราม่ากันอีกรอบ กับการขอผ่อนผันการชำระเงิน ประมูล คลื่นความถี่ 900 MHz ของทั้งค่าย เอไอเอส และ ทรู ทั้งที่ก่อนหน้าในระหว่างที่ทำการประมูล นั้นทำการปั่นราคากันแทบไม่มีใครยอมใคร จนเมื่อมาถึงจุดที่ยังไม่พร้อมก็เดินหน้ากันมาขอผ่อนผัน ด้วยเหตุผลที่ว่าไม่ใช่ไม่จ่าย
แต่ขอยืดเวลากันสักนิด ขอนำเงินไปขยายการลงทุนในส่วนอื่นเพิ่มเติมก่อน ด้านดีแทคตีเนียนขอเป็นส่วนหนึ่งในการเรียกร้องให้ทบทวนการ ประมูล คลื่นใหม่ แม้ว่าที่ผ่านมากสทช.จะทำหูทวนลมไม่ว่าแบรนด์นี้จะพูดอะไร
โดย เอไอเอส ให้เหตุผลของการขอผ่อนผันการชำระเงินประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ว่า หากได้รับการผ่อนผันจะ ช่วยให้สามารถนำเงินมาลงทุนขยายโครงข่ายระบบสื่อสารโทรคมนาคม ด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในการ นำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยี ดิจิทัลใหม่ๆ
เพื่อให้บริการลูกค้าและเป็นประโยชน์ต่อประชาชน อาทิ เทคโนโลยี 5G เทคโนโลยี IoT ซึ่งสอดคล้องกับการก้าวไปสู่นโยบาย ไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล แต่หากรัฐบาลไม่เห็นชอบผ่อนผันการชำระเงินบริษัทฯ ก็เคารพในการตัดสินใจของรัฐบาล
นายวีรวัฒน์ เกียรติพงษ์ถาวร หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านธุรกิจสัมพันธ์และองค์กร บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ จำกัด กล่าวว่า การยื่นหนังสือถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ขอพิจารณาขยายเวลาผ่อนผันการชำระเงิน ประมูล คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ในงวดที่ 4 นั้น เนื่องจากราคาประมูลคลื่นดังกล่าวสูงกว่าการประเมินไว้ในตอนแรก
ซึ่งหากรัฐบาลมีมติให้ผ่อนผัน บริษัทฯ จะสามารถนำงบประมาณไปเข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ย่านอื่นๆ ในครั้งต่อไปที่กสทช.กำหนดขึ้น และจะสามารถนำเงินมาลงทุนขยายโครงข่ายระบบสื่อสารโทรคมนาคม ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ๆ ที่จะมีนวัตกรรมไปพัฒนาอุตสาหกรรม และธุรกิจต่างๆให้เกิดขีดความสามารถในการแข่งขันกับนานาประเทศ
เช่นเดียวกับทรูฯ ที่ขอให้รัฐออก ม.44 ด้วยเหตุผลที่ว่าหากไม่ผ่อนผันจะทำให้เข้าประมูลรอบใหม่ได้ยาก ทั้งที่ก่อนหน้านี้ยังค้านหัวชนฝา ว่าการประมูลรอบต่อไป ต้องตั้งต้นราคาประมูลที่เท่ากับราคาครั้งสุดท้ายของรอบที่ผ่านมา
และก็เป็นฝ่ายที่ดันราคาประมูลขึ้นไปสูง จนธุรกิจโทรคมนาคมทั่วโลกต้องหันกลับมามอง แต่ในวันนี้ก็ได้มาเรียกร้องให้รัฐบาลใช้วิธีพิเศษ เพื่อช่วยเหลือเช่นเดียวกับที่เคยช่วยทีวีดิจิตอล
นายวิเชาวน์ รักพงษ์ไพโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัท (ร่วม) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เหตุผลที่บริษัทขอรัฐบาลให้ออก ม.44 เป็นเพราะ เมื่อปีที่แล้วผูู้ประกอบการทีวีดิจิตอลก็ได้รับการช่วยเหลือ เพราะราคาประมูลทีวีดิจิตอล สูงกว่าราคาที่ตั้งไว้ 2 เท่า
ทรูจึงเห็นว่าเมื่อการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz ที่ผ่านมามีราคาสูงกว่าราคาเริ่มต้นถึง 6 เท่า จึงน่าจะขอความช่วยเหลือจากรัฐได้ และการขอความช่วยเหลือครั้งนี้ไม่ได้ทำให้รัฐเสียประโยชน์ เพราะบริษัทยังคงชำระค่าธรรมเนียมพร้อมดอกเบี้ย
“การอ้างว่าทรูฯทำให้เกิดเสียหายเป็นหมื่นล้านนั้นไม่เป็นความจริง ทรูได้วางแบงค์การันตีไว้กับกสทช. และธนาคารพาณิชย์เองก็เชื่อมั่นในศักยภาพทางการเงินของทรู เพราะดอกเบี้ยที่ กล่าวอ้างว่าควรเก็บ 15 % นั้น ในทีโออาร์ ระบุว่า เป็นดอกเบี้ยที่เกิดจากการผิดนัดชำระ
ทรูฯ จึงยื่นขอความกรุณาจากรัฐบาล โดยเฉพาะในประเด็นการขยายเวลาชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ขอขยายระยะเวลางวดที่ 4 ที่ต้องจ่ายเงินที่เหลือทั้งหมด 60,000 ล้านบาท ออกเป็น 10 งวด และไม่จ่ายดอกเบี้ย ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว กสทช.และรัฐ จะช่วยด้วยการขยายงวดการชำระเหลือแค่ 5 งวด และ จ่ายดอกเบี้ยก็ตาม”
ส่วนการจะเข้าประมูลคลื่นรอบใหม่หรือไม่ขึ้นอยู่กับบอร์ด ไม่ว่ารัฐบาลจะตัดสินใจอย่างไรทรูฯก็ยอมรับ และคงยอมรับว่าหากไม่มีการขยายเวลาในการชำระเงินออกไป การเข้าประมูลคลื่นความถี่ครั้งหน้าอาจจะลำบาก ถ้ารัฐบาลช่วยก็จะมีโอกาสเตรียมการลงทุนด้านอื่น
ด้านดีแทคได้อาศัยจังหวะนี้ในการเรียกร้องให้ กสทช. ทบทวนแนวทางประมูลคลื่น 1800 MHz อีกครั้ง หลังจากในครั้งก่อนต้องถอนตัวออกมา เพราะไม่สามารถสูู้กับราคาที่สูงเกินไปได้ ซึ่งการเรียกร้องครั้งนี้ถือเป็นการดิ้นอีกครั้ง หลังจากที่กสทช.ยังคงดองความร่วมมือที่สำคัญกับทีโอที ที่จะทำให้ดีแทคมีลมหายใจที่ยาวขึ้น
โดยจะยังยืนยันเหมือนเดิมว่า ไม่ควรกำหนดราคาขั้นต่ำของการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ (ราคาขั้นต่ำ) โดยอิงกับราคาชนะการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz เมื่อปี 2558
ด้วยเหตุผลว่า ราคาดังกล่าวเป็นราคาคลื่นที่ผู้เข้าร่วมการประมูลรายหนึ่งที่เข้าร่วม การประมูลคลื่นความถี่ทั้งย่าน 1800 MHz และย่าน 900 MHz ครั้งที่ผ่านมาไล่ราคาจนสูงผิดปกติ แล้วในที่สุดชนะการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz แต่ไม่สามารถที่จะชำระเงินค่าประมูลคลื่นได้
และการกำหนดราคาขั้นต่ำที่สูงเกินไป จะมีความเป็นไปได้สูงมากที่ผู้ชนะการ ประมูล คลื่นความถี่ในคราวนี้จะประสบปัญหาด้านการเงินดังเช่นที่เกิดขึ้นแล้วกับผู้ชนะการประมูลคลื่น 900 MHz ในคราวก่อน
นายราจีฟ บาวา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กรและพัฒนาธุรกิจ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า ประเทศอินเดียและบังคลาเทศคือตัวอย่างความล้มเหลว ของการนำราคาชนะการประมูลครั้งก่อนมากำหนดเป็นราคาขั้นต่ำในครั้งต่อไป
ทำให้การประมูลล้มเหลวไม่สามารถประมูลคลื่นความถี่ได้ ซึ่งไทยน่าจะได้เรียนรู้ในเรื่องนี้ โดยการกำหนดราคาขั้นต่ำไว้สูงมากจะทำให้ไม่สามารถประมูลคลื่นได้ทั้งหมด ส่งผลให้คลื่นไม่ถูกนำมาใช้งานอย่างเต็มที่ ราคาคลื่นในปัจจุบันจึงควรกำหนดให้ต่ำลงเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำคลื่นไปใช้ได้มากขึ้นเพื่อประโยชน์ของผู้ใช้บริการและสังคมโดยรวม
นอกจากนี้ยังควรกำหนดใบอนุญาตเป็น 9 ชุดคลื่นความถี่ ชุดละ 2×5 MHz เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมการประมูลแต่ละรายสามารถเลือกประมูลคลื่นความถี่ตามความต้องการของตนได้ และยังเป็นการลดอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดของผู้ประกอบการรายใหม่ เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายใหม่ (หากมี) พิจารณาการเข้าลงทุนแข่งขันในการให้บริการ
เนื่องจากไม่ถูกบังคับให้ประมูลคลื่นความถี่ในขนาด 2×15 MHz ที่อาจสูงเกินความจำเป็นในระยะแรก นอกจากนี้ยังไม่เห็นด้วยกับเงื่อนไขการนำคลื่นออกประมูลโดยกำหนดให้จำนวนชุดคลื่นความถี่น้อยกว่าจำนวนผู้เข้าประมูล หรือที่เรียกว่า เงื่อนไข N-1 เพราะประเทศไทย ยังจำเป็นต้องจัดสรรคลื่นความถี่เพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก เพื่อให้มีคลื่นความถี่ใช้งานได้ทัดเทียม ประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ ทั่วโลก
แต่เงื่อนไข N-1 จะยิ่งทำให้ประเทศสูญเสียโอกาส ที่จะนำคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz มาใช้อย่างเต็มที่เพื่อพัฒนาประเทศตามนโยบาย Thailand 4.0
“จากการที่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) และบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC) ได้ยื่นเรื่องขอผ่อนผันการชำระเงินประมูลคลื่น ความถี่ย่าน 900 MHz เมื่อเวลาผ่านมากว่า 2 ปี หลังจากการประมูลคลื่นความถี่ตั้งแต่ปี 2558 นั้น
เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ชัดเจนว่าผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้รับแรงกดดันจากภาระด้านการเงินที่สูงมาก ดังนั้น กสทช.จึงต้องพิจารณาทบทวนเงื่อนไขการกำหนดงวดและระยะเวลาการชำระเงินประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และคลื่นความถี่ย่านอื่นๆ ในอนาคตเพื่อไม่ให้เป็นภาระทางการเงิน เกินกว่าที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จะแบกรับไหวตามที่เห็นสมควร”