จิสด้า เผยผล workshop “ท่องเที่ยวเพิ่มพูน เกื้อกูลเศรษฐกิจ ยกระดับชีวิต ด้วยเทคโนโลยีทางทะเล” พบหลังใช้ระบบเรดาร์ชายฝั่งในพื้นที่อ่าวไทยในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา ได้นำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการสนับสนุนการติดตามและบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยและภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก มีการขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ควบคู่กับการรักษาฐานทรัพยากรและคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ฐานเศรษฐกิจที่สำคัญๆ ของประเทศ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ฐานเศรษฐกิจชายฝั่ง และการท่องเที่ยวชายฝั่ง นับเป็นรายได้หลักด้านหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จึงทำให้เกิดการขยายตัวทางด้านคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ อุตสาหกรรม การท่องเที่ยวหรือโลจิสติกส์ในพื้นที่ดังกล่าวอย่างมากมาย ซึ่งจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ที่ต้องสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม
จิสด้าเล็งเห็นความสำคัญของพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจชายฝั่ง ด้วยการใช้บเทคโนโลยีและนวัตกรรมภูมิสารสนเทศทางทะเลและชายฝั่ง ที่มีความทันสมัย มาใช้เป็นเครื่องมือช่วยในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ให้กับส่วนภูมิภาค ได้รับความรู้ ความเข้าใจ และนำไปสู่ความร่วมมือ และ การประสานความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างมั่นคงและยั่งยืน
“ระบบเรดาร์ชายฝั่งมีในพื้นที่อ่าวไทยตอนบน ตอนกลาง ตอนล่าง และฝั่งตะวันออก จำนวนรวมทั้งสิ้น 12 จังหวัด 22 ตำแหน่ง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 เป็นต้นมา ซึ่งจากผลการดำเนินงานระบบเรดาร์ชายฝั่ง ใน 5-6 ปีที่ผ่านมา ข้อมูลจากระบบดังกล่าว ได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์และช่วยสนับสนุนการติดตามและบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเลให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
อาทิ การบริหารจัดการมลพิษทางน้ำอันเกิดจากน้ำมันรั่ว การเกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี หรือที่เรียกว่าแพลงก์ตอนบลูม การค้นหาผู้ประสบภัยกรณีเรือล่ม การติดตามพื้นที่เสี่ยงต่อการกัดเซาะชายฝั่ง ขยะทะเล คุณภาพน้ำที่จะมีผลต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง”
อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าพื้นที่ติดตั้งระบบเรดาร์ชายฝั่ง ภายใต้โครงการนี้ ล้วนตั้งอยู่ในแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล ที่มีชื่อเสียงของประเทศไทย เช่น หัวหิน ชะอำ ระยอง พัทยา เป็นต้น และปลายปีนี้ (2561) จะดำเนินการติดตั้งเพิ่มเติมที่อ่าวนาง และเกาะลันตา จังหวัดกระบี่
เพื่อเพิ่มศักยภาพและความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยวฝั่งทะเลอันดามัน หากแล้วเสร็จจะมีจำนวนสถานีเรดาร์ชายฝั่งถึง 24 สถานี ครอบคลุ่มทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ซึ่งเมื่อนำข้อมูลจากระบบเรดาร์ชายฝั่งมาวิเคราะห์ ร่วมกับข้อมูลภาพถ่ายดาวเที่ยม
เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมเชิงพื้นที่ สร้างความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยวทะเลชายฝั่ง ส่งผลต่อภาพลักษณ์ที่ดีของของประเทศ บนพื้นฐานการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม ต่อไป ผู้อำนวยการจิสด้า กล่าว