ความฝันที่จะเป็นศูนย์กลางในเรื่องของเครือข่ายสายเคเบิ้ลใต้ในเซาท์อีสเอเชียอาจจะเริ่มกลายเป็นความจริงได้บ้าง หลังจากล่าสุดกลุ่มทรูและสมาชิกร่วมโครงการ Southeast Asia – Japan 2 consortium SJC2 ได้ลงนามข้อตกลงกับ NEC Corporation ร่วมสร้างเครือข่ายสายเคเบิ้ลใต้น้ำประสิทธิภาพสูง
เพื่อรองรับการเชื่อมโยงระบบสื่อสารระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียเหนือ ซึ่งการขยายเครือข่ายในครั้งนี้ทำให้ไทยกลายเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจในตลาดนี้แทนสิงคโปร์ทันที
เครือข่ายสายเคเบิ้ลใต้น้ำประสิทธิภาพสูงนี้จะเชื่อมโยงระบบสื่อสารระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียเหนืออันได้แก่ สิงคโปร์ ไทย กัมพูชา เวียดนาม ฮ่องกง ไต้หวัน จีนแผ่นดินใหญ่ เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น
โดยโครงการสายเคเบิ้ลใต้น้ำดังกล่าวมีความยาวกว่า 10,500 กิโลเมตร มีจุดการเชื่อมต่อทั้งหมด 11 จุดในภูมิภาค คาดจะสามารถดำเนินการเสร็จสิ้นภายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2020
นายวิเชาวน์ รักพงษ์ไพโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มบริษัท (ร่วม) บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ที่ผ่านมาไทยยังเป็นแค่ฮับในอินโดไชน่าเท่านั้น แม้ว่าภายในประเทศเราจะมีโครงสร้างพื้นฐานทางด้านโมบิลิตี้ที่ดีมาก แต่ในส่วนของฟิกซ์ไลน์ยังไม่ค่อยดีเท่าไร
ดังนั้นถ้าเรามีความจุที่เพิ่มขึ้นก็จะรองรับเทคโนโลยีได้หลากหลาย นอกจากนี้การขยายความจุดังกล่าวจะช่วยให้บริการของเราสามารถเชื่อมต่อไปยังต่างประเทศในต้นทุนที่ต่ำ สามารถตอบสนองต่อการใช้งานที่มีแบนวิดท์มากๆ ได้อย่างรวดเร็ว มีความเสถียร ทำให้ลูกค้าองค์กรต่างประเทศจะมีทางเลือกมากขึ้น
“ที่ผ่านมาเราอยากเป็นฮับของเซาส์อีสเอเชีย แต่ก็ไม่ได้เป็นสักที การลงทุนในครั้งนี้ก็จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เราก้าวไปได้ ซึ่งเดิมธุรกิจต่างๆ จะใช้บริการสิงค์โปรเพราะเขาเดินสายเคเบิลมาก่อน คนจึงไปใช้ในการเชื่อมต่อไปยังประเทศในแถบตะวันตก ซึ่งถ้าเราทำก็จะช่วยให้คนที่เคยใช้สิงคโปร์หันมาใช้เราซึ่งราคาถูกกว่า
โครงการสายเคเบิ้ลใต้น้ำ SJC2 นี้ยังเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับระบบการสื่อสารของชาติและสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาล โดยเคเบิ้ลใต้น้ำดังกล่าวจะถูกสร้างขึ้นด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัยและมีประสิทธิภาพสูง ซึ่งจะทำให้กลุ่มทรูสามารถเพิ่มศักยภาพ และคงความเป็นผู้นำทางธุรกิจทั้งในด้านโมบายล์และอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์
ทั้งนี้อินเทอร์เนชันแนลแบนด์วิทเกตเวย์เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เทคโนโลยีใหม่ก็จะทำให้คาปาซิตี้เพิ่มขึ้นมาก แค่เปลี่ยนอุปกรณ์บางตัวก็จะขยายได้ ซึ่งการลงทุนครั้งล่าสุดนี้จะทำให้คาปาซิตี้สูงขึ้นสามารถรองรับความต้องการได้ดีขึ้น รวมไปถึงเป็นการสร้างคาปาซิตี้ล่วงหน้าจะทำให้ราคาต่อหน่วยลดลง โดยตั้งแต่เริ่มโครงการรวมโครงการล่าสุดน้ทรูได้ลงทุนในเรื่องนี้ไปแล้วกว่า 3,600 ล้านบาท
ระบบเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงนี้จะมีความจุได้สูงสุดถึง 8 คู่ใยแก้วนำแสง (fiber pair) รองรับความจุ 144 เทราไบต์ต่อวินาทีเมื่อเริ่มต้น ซึ่งเทียบเท่ากับการทำสตรีมมิ่งวิดีโอความละเอียดสูง ถึง 5.76 ล้านวิดีโอต่อวินาที ทำให้สามารถรองรับการใช้งาน วิดีโอสตรีมมิ่ง, วิดีโอระดับความคมชัดสูง, แอปพลิเคชันเสมือนจริง,การสื่อสารในระบบ 5G, ปัญญาประดิษฐ์, ระบบคลาวด์, การวิเคราะห์ข้อมูล, หุ่นยนต์ และ Internet of Things
ด้านนายสุพจน์ มหพันธ์ กรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจระหว่างประเทศ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า โครงการ SJC2 นับเป็นการตอบสนองความต้องการใช้งานบรอดแบนด์ที่เพิ่มมากขึ้นตลอดเวลาของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน ตลอดจนลูกค้ากลุ่มองค์กรที่กำลังปรับเปลี่ยนเข้าสู่ยุคดิจิทัลได้เข้ามาใช้งานเพิ่มขึ้น
และสามารถตอบโจทย์กลุ่มทรูในการนำเสนอบริการที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า และยังเปิดโอกาสให้เราได้เข้าถึงเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าที่สุดของอุตสาหกรรม รวมทั้งได้เรียนรู้ประสบการณ์และความชำนาญจากเหล่าพันธมิตรธุรกิจที่จะร่วมผลักดันโครงการจนสู่ความสำเร็จ
นอกจากนี้ยังตอบโจทย์แผนการขยายเกตเวย์ของกลุ่มทรู เพราะสามารถทำให้เพิ่มขนาดแบนด์วิดท์และทำให้เครือข่ายเกตเวย์มีความหลากหลายและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อีกทั้งจะทำให้กลุ่มทรูมีโอกาสที่จะรุกขยายและสร้างความเข้มแข็งให้กับธุรกิจ สามารถรองรับความต้องการใช้งานด้านสื่อสารโทรคมนาคมที่เพิ่มขึ้นทั้งในประเทศและระดับภูมิภาคและยกระดับประเทศไทยให้ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคเออีซี
โดยมีพันธมิตรธุรกิจที่เข้าร่วมสร้างและดำเนินการลงทุนในโครงการ SJC2 ประกอบด้วยบริษัทชั้นนำด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยี อาทิ China Mobile International, Chunghwa Telecom, Chuan Wei, Facebook, KDDI, Singtel, SK Broadband, กลุ่มทรู และ VNPT.
“SJC2 ของกลุ่มทรู จะเพิ่มความแข็งแกร่งและความหลากหลายของเครือข่ายเชื่อมต่อการสื่อสารระหว่างประเทศทั้งของบริษัทและของประเทศ รองรับความต้องการใช้บริการด้านดิจิทัลและคอนเวอร์เจนซ์ที่หลากหลายตอบโจทย์วิถีชีวิตของผู้คนที่ต้องการใช้ดาต้าและสตรีมมิ่งอย่างรวดเร็วทันใจ
ตลอดจนการใช้งานในดิจิทัลแพล็ตฟอร์มอื่นๆ รวมทั้ง IoT โซลูชั่นส์ ช่วยยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมด้านการเชื่อมต่อการสื่อสารระหว่างประเทศของไทยอีกด้วย”