SMART Visa “S” คืออะไร แล้วทำไมทรูอินคิวบ์ก็ออกให้ได้

SMART Visa “S” คืออะไร แล้วทำไมทรูอินคิวบ์ก็ออกให้ได้
การพัฒนาประเทศในหลายๆ ด้านจำเป็นต้องมีการนำผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามาช่วยเหลือ และทำงานในเมืองไทยในช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่ที่ผ่านมาพบว่าการออกวีซ่าในรูปแบบปกติที่ต้องต่ออายุทุก 3 เดือน และไม่สามารถให้ครอบครัวติดตามเข้ามาด้วย
กลายเป็นปัญหาที่สำคัญที่จะดึงผู้เชี่ยวชาญเหล่านั้นเข้ามา ด้วยเหตุนี้เองหลายหน่วยงานจึงต้องช่วยกันผลักดันให้เกิดการออกวีซ่าแบบพิเศษที่เรียกว่า SMART Visa ซึ่งจะช่วยดึงดูดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถสูงเข้ามาทำงานในประเทศไทย
โครงการวีซ่าประเภทพิเศษ (SMART Visa) เป็นดึงดูดชาวต่างชาติที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ ผู้บริหารระดับสูง หรือนักลงทุน เข้าทำงานหรือลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย
ประกอบด้วย 1.อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ 2.อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจริยะ 3.อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
4.อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ 5.อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร 6.อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ 7.อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์
8.อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ 9.อุตสาหกรรมดิจิทัล 10.อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร
โดยทั้ง 10 อุตสาหกรรมล้วนเป็นอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยยังไม่มีผู้เชี่ยวชาญอย่างแท้จริง ซึ่ง บีโอไอ ได้กำหนดประเภทของการรับรองคุณสมบัติของผู้มีสิทธิได้รับสมาร์ทวีซ่า ทั้งหมด 4 ประเภท
ซึ่งได้รับความร่วมมือจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เป็นหน่วยงานที่จะตรวจสอบและให้การรับรองคุณสมบัติของผู้ยื่นขอสมาร์ทวีซ่า
โดยวีซ่า ทั้ง 4 ประเภท ประกอบด้วย 1. SMART “T” (Talents) ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  2. SMART “I” (Investors) ลงทุนในบริษัทที่ใช้เทคโนโลยีเป็นฐานในการทำธุรกิจและอยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย
3. SMART “E” (Executives) ผู้บริหารระดับสูงที่ทำงานในบริษัทที่ใช้เทคโนโลยีเป็นฐานในการทำธุรกิจและอยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย และ 4. SMART “S” (Startups) กลุ่มผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น
SMART Visa จึงเป็นเสมือนบัตรผ่านพิเศษสามารถนำครอบครัวเข้ามาอยู่และทำงานได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และผลักดันประเทศไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม
ซึ่งล่าสุดในการให้วีซ่าแบบพิเศษนี้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอได้จับมือสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)แต่งตั้ง ทรู อินคิวบ์ ร่วมรับรองคุณสมบัติสตาร์ทอัพต่างชาติ
ผู้มีสิทธิรับ SMART Visa ประเภท SMART “S” ประเดิมพันธมิตรเอกชนรายแรกในไทย
ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านนวัตกรรมและความยั่งยืน บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ที่ผ่านมาทรูได้ร่วมผลักดันในเรื่องนี้มาโดยตลอด
เนื่องจากการออกวีซ่าเป็นปัญหาอย่างมากในการนำผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามา เราจึงแชร์เรื่องนี้ให้กับภาครัฐได้รับรู้ ซึ่งในส่วนของทรูเองจากการที่ได้สัมผัสมาพบว่ามีผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากอยากมาอยู่เมืองไทย
แต่ติดในเรื่องดังกล่าว ซึ่งนับจากนี้จะไม่กลายเป็นปัญหาอีกต่อไป และการที่ทรูอินคิวบ์เข้ามาร่วมในเรื่องนี้ก็จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องการพิจารณาที่เป็นคอขวดของภาครัฐให้สะดวกและรวดเร็วขึ้น
การที่ทรูอินคิวบ์ได้เป็นพันธมิตรบริษัทเอกชนรายแรกในประเทศไทย ที่สามารถให้การรับรองคุณสมบัติของสตาร์ทอัพต่างชาติที่ยื่นขอสมาร์ทวีซ่า ประเภท SMART “S” เพราะได้ทำงานร่วมกันมาโดยตลอด
ประกอบกับทรูเองก็มีโครงการสตาร์ทอัพเป็นของตนเอง และมีผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมจะเข้ามาร่วมผลักดันโครงการต่างๆ กว่า 100 ราย
ซึ่งความสามารถให้การรับรองได้นั้นจะทำให้เราสามารถดึงดูดให้คนเก่งๆ และนักลงทุนให้เข้ามามากขึ้น สามารถพัฒนาไปสู่อีโคซิสเต็มได้รวดเร็วมากขึ้น
ทั้งนี้สตาร์ทอัพที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการบ่มเพาะ (Incubation) หรือ โครงการเร่งการเติบโต (Accelerator) ของทรู อินคิวบ์ จะได้รับการรับรองดังกล่าวโดยอัตโนมัติ
สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของหน่วยงานภาครัฐในศักยภาพและมาตรฐานโปรแกรมบ่มเพาะของทรู อินคิวบ์ ซึ่งเป็นผู้นำด้านสตาร์ทอัพครบวงจรในการให้บริการและส่งเสริมสตาร์ทอัพไทยให้ก้าวไกลสู่ระดับโลก
ด้วยระบบนิเวศระดับภูมิภาค ภายใต้ 4 พันธกิจหลัก ทั้งการสร้างแรงบันดาลใจ, สร้างนวัตกรรม, บ่มเพาะธุรกิจ และการลงทุน
ดร.ธีระพล กล่าวว่า เพื่อขยายโอกาสการได้รับสิทธิและประโยชน์สมาร์ทวีซ่าในกลุ่มสตาร์ทอัพชาวต่างชาติ ทรู อินคิวบ์ จึงเตรียมเปิดรับสตาร์ทอัพจากไทยและต่างประเทศเข้าร่วม โครงการ “ScaleUp Batch 5 Startup Grandprix”
ซึ่งโปรแกรมนี้จะเพิ่มดีกรีความเข้มข้นในระดับภูมิภาคด้วยการผนึกความแข็งแกร่งของเหล่าโค้ชที่เป็นสตาร์ทอัพผู้ก่อตั้งธุรกิจในไทยและอาเซียน เพื่อช่วยพัฒนาศักยภาพสตาร์ทอัพไทยให้ประสบความสำเร็จได้ในเวทีโลก
นอกจากนี้ทรู อินคิวบ์ ยังเตรียมขยายโปรแกรมบ่มเพาะและกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่โครงการ ทรู ดิจิทัล พาร์ค สุขุมวิท 101 ศูนย์กลางด้านดิจิทัลของไทยที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่คาดว่าจะเปิดให้บริการราวปลายปีนี้
เพื่อเติมเต็มระบบนิเวศครบวงจรสำหรับสตาร์ทอัพไทยด้วย
ด้านดร.อภิชัย สมบูรณ์ปกรณ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มั่นใจว่าการดำเนินโครงการนี้โดยมีเอกชนช่วยจะทำให้โครงการสมาร์ทวีซ่ามีความก้าวหน้ามากขึ้น
สอดคล้องกับการที่ประเทศไทยต้องการเป็นศูนย์กลางของสตาร์ทอัพในภูมิภาคอาเซียน (Startup Hub of Southeast Asia) และต้องการดึงดูดบริษัทสตาร์ทอัพ (Startup Tech Company) และ บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถสูง (Talent)
ซึ่งสมาร์ทวีซ่าจะเป็นปัจจัยและแรงจูงใจสำคัญที่จะทำให้บุคลากรชั้นนำด้านเทคโนโลยี (Tech Talent) ต่างๆ มาเริ่มต้นธุรกิจในประเทศไทย
นายโชคดี แก้วแสง รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มีแนวทางในการส่งเสริมโครงการลงทุนเชิงยุทธศาสตร์ที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายของรัฐบาล
การสนับสนุนและการให้สิทธิและประโยชน์ในครั้งนี้จะช่วยส่งเสริมในด้านการลงทุน การวิจัยและพัฒนาการส่งเสริมนวัตกรรม ตลอดจนการพัฒนาบุคลากรเฉพาะด้านของกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมาย
ด้านดร.กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ด้านระบบนวัตกรรม กล่าวว่า โครงการสมาร์ทวีซ่าสอดรับกับแนวทางการดำเนินกลยุทธ์ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.) ในการยกระดับนวัตกรรม สร้างธุรกิจใหม่
และการพัฒนาบุคลากรด้านนวัตกรรม เสริมให้มีผู้เชี่ยวชาญในประเทศในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระตุ้นการลงทุนในสาขาที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม
ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสการเรียนรู้เทคโนโลยีและเป็นแหล่งเงินทุนให้คนไทย เพื่อเสริมศักยภาพความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
โดย สนช. ได้ทำงานร่วมกับ บีโอไอ ในการตรวจสอบและรับรองคุณสมบัติของผู้ยื่นขอสมาร์ทวีซ่าสำหรับกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ ผู้บริหาร นักลงทุน และสตาร์ทอัพที่อยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 ประเภท
รวมทั้ง พิจารณาให้การรับรองคุณสมบัติของสตาร์ทอัพ ในกรณีที่ได้รับการร่วมลงทุนจากหน่วยงานภาครัฐ ส่วนความร่วมมือกับเอกชนนั้น ถือเป็นการขยายโอกาสการได้รับสิทธิและประโยชน์สมาร์ทวีซ่าสำหรับสตาร์ทอัพต่างชาติ
ซึ่งสตาร์ทอัพที่ผ่านการรับรองและมีคุณสมบัติครบถ้วนจะได้รับสิทธิและประโยชน์สมาร์ทวีซ่า อาทิ ระยะเวลาวีซ่าครั้งแรก 1 ปี และขยายสูงสุดไม่เกิน 2 ปี/ครั้ง ขยายเวลารายงานตัวเป็นทุก 1 ปี (จากปกติ 90 วัน)
ทำงานในกิจการที่ได้รับการรับรองโดยไม่ต้องขอใบอนุญาต ได้รับยกเว้นการขอ Re-entry Permit ในการเข้าออกประเทศไทย รวมถึงสิทธิประโยชน์สำหรับครอบครัวในการพำนักในประเทศไทย เป็นต้น

Related Posts