ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าถ้าเราพูดถึงไมโครซอฟท์ จะต้องนึกถึงคำว่าซอฟต์แวร์ถูกกฏหมายมีราคาค่อนข้างสูง มีความเป็นตัวของตัวเองและไม่ปล่อยให้ใครเข้ามาร่วมพัฒนา แต่สำหรับโลกยุคดิจิทัลนี้ ทุกธุรกิจจะต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ว่าจะเป็นผู้ให้บริการหรือผู้ใช้บริการต่างก็ต้องเปลี่ยนไปตามแนวโน้มของเทคโนโลยี โดยเฉพาะการขยายตัวอย่างรวดเร็วของ Artificial Intelligence หรือ AI
ไมโครซอฟท์คือหนึ่งในบริษัทยักษ์ใหญ่ที่จะคงอีโก้แบบเดิมคงจะไม่สามารถทำธุรกิจได้อย่างราบรื่น ดังนั้นจึงได้นำ AIเข้ามาใช้และพัฒนาเพื่อเสริมให้ทุกผลิตภัณฑ์และบริการมี AI อัจฉริยะ มาอำนวยความสะดวกและเสริมประสิทธิภาพการทำงานให้กับผู้ใช้
อาทิ การนำเสนอไอเดียการพรีเซนต์รูปแบบใหม่ๆ ให้ผู้ใช้ใน PowerPoint การเสนอแนะแนวทางการวิเคราะห์และนำเสนอข้อมูลดิบที่ผู้ใช้กรอกใน Excel หรือฟังก์ชันการเสนอแนะแนวทางการทำงานในด้านต่างๆ ของธุรกิจมากมาย อย่างด้านงานขาย ปฏิบัติการ หรือบริการลูกค้าใน Dynamics 365
ส่วนที่น่าประหลาดใจที่สุดคือแพลตฟอร์ม AI และคลาวด์นี้ยังเปิดกว้างเพื่อให้นักพัฒนาสามารถเข้ามาต่อยอดได้ ทั้งในระดับของ AI ที่ทำงานเพื่อมนุษย์ ทำงานแทนมนุษย์ หรือช่วยตัดสินใจให้มนุษย์ ด้วยชุดเครื่องมือและบริการมากมายบนแพลตฟอร์มคลาวด์ ไมโครซอฟท์ อาซัวร์ ที่รองรับการพัฒนาโซลูชัน AI หลากหลายรูปแบบ นับตั้งแต่ฟังก์ชันอัจฉริยะแบบสำเร็จรูป ไปจนถึงโครงสร้างด้านข้อมูลและ AI ที่รับรองมาตรฐานต่างๆ มากมายสำหรับนักพัฒนาทุกกลุ่มและทุกระดับในตลาด
นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ไมโครซอฟท์มองใน 3 ด้าน เราจะเป็นแพลตฟอร์มที่ต้องเชื่อมต่อกับนักพัฒนาและลูกค้า เจาะในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม เรามองว่าในอนาคตเอไอจะถูกฝังในทุกที่เพื่อเสริมศักยภาพ ซึ่งไมโครซอฟท์เอไอจะแบ่งเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย 1.เป็นเอไอแพลตฟอร์มให้โปรแกรมเมอร์หรือนักพัฒนาไปต่อยอดได้ 2.อินเทอริเจน โปรดักส์ เรานำเอไอเข้าไปทุกผลิตภัณฑ์ของเรา และ 3.เอไอ บิสิเนสโซลูชัน การนำเสนอโซลูชันให้กับลูกค้า
รายงานวิจัยของไมโครซอฟท์และไอดีซีที่ทำร่วมกันในปีนี้คาดการณ์ไว้ว่ากว่า 40% ของกระบวนการดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน ภายในปี 2562 จะมี AI เข้ามามีบทบาทสนับสนุนด้วย และในปี 2563 ก็เป็นที่คาดการณ์ว่าจะมีองค์กรถึง 85% ที่นำ AI มาประยุกต์ใช้งาน ไมโครซอฟท์ยังคาดการณ์อีกว่าแอปพลิเคชันกว่า 50% ในตลาด จะนำ AI มาผนวกเพื่อใช้งานในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งภายในสิ้นปี 2561 นี้ ส่วนการใช้บอทและ AI ติดต่อสื่อสารกับลูกค้านั้นมีแนวโน้มที่จะแพร่หลายขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนอาจคิดเป็นอัตราส่วนถึง 95% ของการสนทนากับลูกค้าในปี 2568
“เอไอจะเข้ามาช่วยเสริมศักยภาพของมนุษย์อย่างเช่น เราให้เอไออ่านคำถามประมาณ 1 แสนคำถามจะทำได้รวดเร็วกว่ามนุษย์ หรือแม้แต่การใช้โดรนขึ้นไปและใส่ไมโครซอฟต์อาชัวร์ที่มีเอไออยู่ข้างในเข้าไปกับกล้องถ่ายภาพ ป้อนข้อมูลที่ต้องการจะถ่ายภาพ ซึ่งอาจจะเป็นสะพานหรือตึกสูงเพื่อดูว่าจะต้องซ่อมแซมตรงไหนบ้างก็จะทำให้เราได้ภาพที่ชัดเจน รู้ว่าส่วนไหนยังดี ส่วนไหนต้องซ่อมแซม โดยไม่ต้องใช้แรงงานมนุษย์ที่อาจจะก่อให้เกิดความเสี่ยงมากกว่า”
นายธนวัฒน์ กล่าวว่า แนวโน้มความเคลื่อนไหวเหล่านี้ถือเป็นการยืนยันถึงมุมมองของไมโครซอฟท์ที่ว่าโลกของเราก้าวมาถึงยุคแห่ง ‘Intelligent Cloud’ และ ‘Intelligent Edge’ จะเห็นได้ชัดเจนถึงการถ่ายทอดความสามารถของเทคโนโลยีอันชาญฉลาดจากคลาวด์มาสู่ดีไวซ์ต่างๆ ที่ผู้ใช้ทุกระดับสามารถใช้งานร่วมกันได้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งที่ผ่านมาไมโครซอฟท์ไม่ใช่แค่ประดิษฐ์แพลตฟอร์มของเราเอง แต่เราสามารถนำเข้าไปให้ลูกค้าใช้สำหรับในเมืองไทย AI อยู่ในระดับเดียวกับทั่วโลก แต่ชาเลนจ์ของไทยคือดิจิทัลสกิล ในการนำเอไอแพลตฟอร์มเข้าไปสร้างสิ่งใหม่ๆ เรามีความต้องการในเรื่องนี้
ทั้งนี้นอกจากผลิตภัณฑ์และบริการจากผู้พัฒนาซอฟต์แวร์และแพลตฟอร์มต่างๆ แล้ว ความแพร่หลายในการใช้งาน AI ความเข้าใจของสังคมที่มีต่อเทคโนโลยี AI ที่ถือเป็นประเด็นที่มีความละเอียดอ่อนอยู่ไม่น้อย ซึ่งการจะใช้งาน AI อย่างแพร่หลายเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการวางมาตรฐานที่ชัดเจนในด้านความปลอดภัยของข้อมูล ความโปร่งใสในการทำงาน และความรับผิดชอบของผู้พัฒนา เป็นต้น โดยการพัฒนา AI จะต้องมีวัตถุประสงค์หลักคือการส่งเสริมให้มนุษย์สามารถทำงานได้ดีขึ้น มากขึ้น หรือทำในสิ่งใหม่ที่ไม่เคยเป็นไปได้มาก่อน ไม่ใช่การเข้ามาแทนที่มนุษย์แต่อย่างใด
แพลตฟอร์มของไมโครซอฟท์เอไอ ไม่ใช่เป็นเพียงแนวคิดหรือการนำเสนอในเบื้องต้นเท่านั้น เพราะวันนี้ได้มีหลากหลายบริษัทนำไปใช้งานจนประสบความสำเร็จกันแล้ว และ Thereporter.asia จะนำเสนอตัวอย่างของการใช้งานที่ประสบความสำเร็จในตอนหน้า โปรดติดตาม