“ดีแทคพลิกไทย” แพลทฟอร์มออนไลน์สำหรับโครงการเพื่อสังคมของดีแทค ได้ประกาศผล 10 ทีมสุดท้ายเข้าสู่รอบระดมทุน หลังจากการเปิดรับสมัครผู้มีไอเดียที่จะร่วมพลิกสังคม สร้างไทยให้แกร่งขึ้น เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2560 ที่ผ่านมา
โดยได้รับความสนใจจากผู้มีไอเดียกว่า 500 โครงการ ใช้เวลาในการคัดเลือกและเข้าโปรแกรมบ่มเพาะโครงการให้มีความเป็นไปได้มากยิ่งขึ้น จากผู้เชี่ยวชาญด้านกิจการเพื่อสังคม พร้อมอัดฉีดทุนก้อนแรก 100,000 บาท ให้กับทั้ง 10 ทีม
การริเริ่มโครงการนี้ดีแทคมองว่า ทุกการพัฒนาของสังคมโลกและสังคมไทยตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ต่างก็ก่อให้เกิดการพัฒนาเมืองและคุณภาพชีวิตทั้งในด้านที่เป็นประโยชน์และด้านที่ก่อให้เกิดผลเสีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน ก่อให้เกิดผลกระทบปัญหาสังคมหลากหลายด้าน ทั้งความเหลื่อมล้ำในสังคม ตลอดจนปัญหามลพิษและทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลาย ดีแทคจึงสร้างโครงการ “ดีแทคพลิกไทย” ขึ้น
โดยโครงการนี้ดีแทคจะเข้ามาช่วยในการเติมเต็มสิ่งที่โครงการพัฒนาขาดอยู่ โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเสริมสร้างให้โครงการมีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น ทั้งการระดมทุนออนไลน์และเชื่อมโยงผู้บริจาคและผู้เชี่ยวชาญให้แก่โครงการทั้ง 10 โครงการ ซึ่งนี่ถือเป็นบทบาทของเทคโนโลยีดิจิทัลในการเปลี่ยนพลังของคนในสังคมในการเปลี่ยนสังคมให้ดียิ่งขึ้น
นายราจีฟ บาวา รองประธานเจ้าหน้าที่บริการกลุ่มกิจการองค์กรและพัฒนาธุรกิจ บริษัท โทเทิ่ลแอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวว่า โครงการที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับเงินรางวัลตั้งต้น 100,000 บาท พร้อมรับการสนับสนุนในการระดมทุนผ่านเว็บไซต์ Taejai.com แพลทฟอร์มระดมทุนออนไลน์เพื่อสังคม
และผ่านการบริจาคทาง USSD ของดีแทค นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนในการเทรนนิ่งและพัฒนาโครงการกับผู้เชี่ยวชาญทั้งจากจีแล็บ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีจากดีแทค
“โครงการนี้บุคคลทั่วไปก็สามารถเข้าไปร่วมบริจาคได้ที่เว็บไซต์ Taejai.com และสำหรับลูกค้าดีแทคที่บริจาคผ่าน ตั้งแต่ 2,000 บาทขึ้นไป ดีแทคขอมอบสิทธิพิเศษในการปรับสถานะ dtac Reward ให้เป็นสถานะ Blue Member แก่ผู้บริจาคที่ใช้เลขหมายของดีแทคเป็นระยะเวลานาน 1 เดือน โดยผู้บริจาคจะได้รับสิทธิพิเศษนี้ภายใน 3 สัปดาห์หลังการบริจาคผ่าน SMS ยืนยันสิทธิพิเศษนี้จากดีแทค พร้อมระบุวันที่เริ่มต้นและสิ้นสุดของสถานะ”
ทั้งนี้แต่ละทีมต่างก็มีจุดเด่นที่แตกต่างกันออกไป แต่จะโครงการไหนจะโดนใจใครจนพร้อมที่จะเข้าไปช่วยบริจาค ก็ลองอ่านดู
1.ไม้เท้าปรับระดับ – ประเทศไทยมีผู้สูงอายุราว 10 ล้านคน ในจำนวนนี้ประมาณ 70,000 คนที่นอนติดเตียง และอีกราว 170,000 คนที่ต้องอยู่กับบ้าน พฤติกรรมเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคอัลไซเมอร์ โรคซึมเศร้า และอาการติดบ้านติดเตียง ทั้งนี้ อาการที่เกิดขึ้นจะลดลงได้ หากผู้สูงอายุได้ออกไปมีกิจกรรมร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้ง่ายมากขึ้น
ทั้งนี้ผู้เสนอโครงการ โดย อ.พญ.โสฬพัทธ์ เหมรัญช์โรจน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต้องการนำเงินสนับสนุนไปทำผลิตภัณฑ์ต้นแบบโดยใช้เทคโนโลยี IoT ทำให้ไม้เท้าสำหรับผู้สูงอายุสามารถเดินในพื้นที่ต่างระดับและติดตามผู้สูงอายุ ได้จำนวน 10 ชิ้น และนำไปทดลองใช้ในชุมชนแพร่งภูธร กรุงเทพฯ และจัดตั้งเป็นธุรกิจเพื่อสังคม ผลิตและจำหน่ายไม้เท้าพยุงปรับระดับและอุปกรณ์ดูแลผู้สูงอายุในราคาย่อมเยาต่อไป
รายละเอียดโครงการ ติดตามได้ที่ https://www.dtac.co.th/plikthai/p/able-walker
2.เครื่องช่วยสอนพิมพ์อักษรเบรลล์ขั้นพื้นฐาน – เด็กพิการทางสายตาทุกคนก็มีความฝัน เหมือนกับเด็กปกติทั่วไป แต่ไม่ใช่ทุกคนจะอ่านออกเขียนได้ แต่จากข้อมูลของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการระบุว่า กว่าครึ่งของผู้พิการทางสายตาในประเทศไทยได้รับการศึกษาระดับประถมศึกษาเท่านั้น และมีเพียง 1% ที่ได้รับการศึกษาในระดับปริญญาตรี
ทำให้มีทางเลือกในการประกอบอาชีพไม่มากนัก และจำต้องทนกับความยากจน ด้วยเหตุนี้ ผู้นำเสนอโครงการ โดยนางสุภาธิณี กรสิงห์ จากสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล อีสาน จึงต้องการระดมทุนไปผลิตเครื่องช่วยสอนพิมพ์อักษรเบรลล์ขั้นพื้นฐานเหมือนสื่อการสอนอื่นๆ เพื่อนำไปทดลองใช้และปรับปรุงรูปแบบ จนสามารถผลิตเครื่องช่วยสอนพิมพ์อักษรเบรลล์เพื่อนำไปมอบให้กับโรงเรียนสำหรับเด็กพิการทางสายตาทั่วประเทศ
รายละเอียดโครงการ ติดตามได้ที่ https://www.dtac.co.th/plikthai/p/braille-code
3.ซูเปอร์ตะบันน้ำ 4.0 – เมื่อมหาอุทกภัยเกิดขึ้นเพราะพื้นที่ต้นน้ำเสื่อมโทรม อันเนื่องมาจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่ใช้น้ำน้อย และนั่นจึงไม่ใช่เรื่องของคนต้นน้ำเพียงลำพัง ด้วยนวัตกรรมง่ายๆ ที่เกิดจากภูมิปัญญาและการทดลองของชาวบ้านใน ต.โป่ง อ.ด่านซ้าย จ.เลย
ทำให้ได้เครื่องตะบันน้ำราคาเพียง 5,000 บาท ที่สามารถช่วยให้ชาวบ้านมีน้ำสำหรับการเกษตร สร้างรายได้ให้ครัวเรือน และไม่ต้องกลับไปปลูกพืชเศรษฐกิจตามกระแสนิยมที่เป็นต้นเหตุป่าต้นน้ำเสื่อมโทรม ด้วยเหตุนี้ ผู้นำเสนอโครงการ โดยนายจีระศักดิ์ ตรีเดช จากสมาคมเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาเทือกเขาเพชรบูรณ์ จึงต้องการระดมทุนไปเพื่อผลิตและติดตั้งเครื่องตะบันน้ำจำนวน 50 ครัวเรือน ในพื้นที่ ต.โป่ง อ.ด่านซ้าย จ.เลย
พร้อมอบรมตัวแทนจากครัวเรือนที่ได้รับเครื่องตะบันน้ำเรื่องการดูแลรักษาเครื่อง สร้างเป็นวิสาหกิจชุมชนต่อไป
รายละเอียดโครงการ ติดตามได้ที่ https://www.dtac.co.th/plikthai/p/water-sink
4.โปลิศน้อย เพื่อนหุ่นยนต์เพื่อผู้หญิง – จากข้อมูลของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ระบุว่า 1 ใน 3 ของผู้หญิงและ 1 ใน 4 ของชายไทย ยังตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทางเพศและร่างกาย แต่พวกเธอเหล่านั้นไม่กล้าแจ้งความ นอกจากนี้ ยังพบว่า สถิติฆ่ากันตายในครอบครัว ในประเทศไทย กว่า 200 ครั้งต่อปี และผู้หญิงที่ถูกคนรักใช้ความรุนแรง 16%
รวมถึงมีแนวโน้มเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าคนทั่วไป 2 เท่า ด้วยเหตุนี้ ผู้เสนอโครงการนำโดย พันตำรวจตรีหญิงเพียบพร้อม เมฆิยานนท์ จากสถาบันส่งเสริมงานสอบสวน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงต้องการระดมทุนเพื่อนำเงินไปพัฒนาระบบการให้คำตอบผ่านระบบปัญญาประดิษฐ์ ช่วยให้ข้อมูลความรู้แก่ผู้หญิงที่ถูกทารุณกรรมโดยคนในครอบครัว และทดลองใช้จริง เพื่อศึกษารูปแบบความต้องการ ปัญหาของกลุ่มเป้าหมายต่อไป
รายละเอียดโครงการ ติดตามได้ที่ https://www.dtac.co.th/plikthai/p/ai-chat-bot
5.ภารกิจหาบ้านให้คนไร้บ้าน – เปลี่ยนที่รกร้างเป็นสวนเกษตรที่สร้างรายได้ และความมั่นคงให้กับชีวิตของ “คนจนเมือง” ลดความเหลื่อมล้ำในสังคมด้วยวิถีแนวคิดแบบเศรษฐศาสตร์ชุมชน 290 ครัวเรือนในชุมชนพูนทรัพย์ต้องมีเงินออมครัวเรือนละ 37,000 บาทภายในปี 2574 เพื่อค้ำประกันเงินกู้ที่จะนำไปซื้อที่ดินที่พวกเขาอาศัยอยู่ในปัจจุบัน แต่ปัญหาคือพวกเขาไม่มีเงินเพียงพอที่จะออม
ด้วยเหตุนี้ ผู้นำเสนอโครงการโดย นางลมุลจิต วิเชียรศรี กลุ่มสวนเกษตรชุมชน ผักไร้สารบ้านพูนทรัพย์ ต้องการระดมทุนเพื่อนำเงินไปสร้างโรงเพาะเห็ดจำนวน 2 โรงในสวนเกษตรของชุมชน นำผลผลิตไปจำหน่าย และพัฒนาเป็นวิสาหกิจชุมชนต่อไป เพื่อสร้างรายได้และเงินออมให้แก่สมาชิกในชุมชน เป็นหลักประกันการกู้เงินเพื่อซื้อที่จากการเคหะ
รายละเอียดโครงการ ติดตามได้ที่ https://www.dtac.co.th/plikthai/p/mushroom-house
6.แปรงฟันให้เด็ก – กว่า 60% ของเด็กใต้ประสบปัญหาฟันผุ เนื่องจากแปรงฟันไม่ถูกวิธี ส่งผลต่อความสามารถในการเรียนรู้ของเด็กที่ต่ำลง การสื่อสารที่เข้าถึงได้ง่ายและสอดคล้องกับบริบทที่มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มพ่อแม่จะช่วยลดอัตราการเกิดฟันผุในเด็กได้ด้วยเหตุนี้ ผู้นำเสนอโครงการ
โดย ผศ.ทพญ.จรัญญา หุ่นศรีสกุล คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จึงต้องการระดมทุน เพื่อนำเงินไปผลิตสื่อเรื่องการดูแลรักษาฟันในเด็กเล็ก โดยเป็นสื่อแบบ online content ส่งทางแอปพลิเคชัน LINE และสื่อสังคมอื่นๆ ตลอดจนโปสเตอร์สำหรับสถานีอนามัยต่างๆ ในพื้นที่ จ.สงขลา และ จ.ปัตตานี
รายละเอียดโครงการ ติดตามได้ที่ https://www.dtac.co.th/plikthai/p/milk-tooth
7.โคมไฟแสงอาทิตย์ – ในปี 2561 ยังมีคนไทยอีกราว 1% ที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ (ข้อมูลจากกระทรวงพลังงาน) นอกจากนี้ ยังคาดการณ์ว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า อีกราว 10% ของครัวเรือนใน จ.แม่ฮ่องสอน จะยังคงไม่เข้าถึงแหล่งพลังงานไฟฟ้า และนั่นทำให้คุณภาพชีวิตของพวกเขาต่ำลง การเข้าถึงพลังงาน
โดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้าในระดับที่เหมาะสม จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ ด้วยเหตุนี้ ผู้นำเสนอโครงการโดยนางสาวกรรณิการ์ ศรีธัญญลักษณา จากมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อมจึงต้องการที่จะระดมทุน เพื่อนำเงินไปจัดซื้อโคมไฟพลังงานแสงอาทิตย์แล้วนำไปมอบให้แก่หมู่บ้านใน จ.แม่ฮ่องสอน
รายละเอียดโครงการ ติดตามได้ที่ https://www.dtac.co.th/plikthai/p/lamp
8.Inskru พื้นที่แบ่งปันเคล็ดลับการสอนออนไลน์ – ประเทศไทยมีเด็กด้อยโอกาสจาก “ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา” เฉลี่ยจังหวัดละ 70,000 คน มูลค่าความเสียหายกว่า 12,000 ล้านต่อปี ผู้นำเสนอโครงการ โดยนายสรวิศ ไพบูลย์รัตนากร มูลนิธิ Teach for Thailand เชื่อว่า ครูที่มีไอเดียดี กระจายอยู่ทั่วประเทศ ไอเดียที่ดีในมุมหนึ่งของประเทศ สามารถส่งต่อไปให้ครูอีกมุมหนึ่งของประเทศที่มีบริบทเดียวกันสร้างห้องเรียนที่มีคุณภาพมากขึ้นได้
Inskru จึงเกิดขึ้น เพื่อนำเงินไปสร้างออนไลน์แพลทฟอร์มสำหรับครูเพื่อแลกเปลี่ยนหลักสูตร แผนการสอน และกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ และจัด focus group ในกลุ่มครูเพื่อศึกษาความต้องการ ปัญหา ฯลฯ ยกระดับการเรียนการสอนโดยครูรุ่นใหม่ ลดอัตราการขาดเรียนของเด็ก
รายละเอียดโครงการ ติดตามได้ที่ https://www.dtac.co.th/plikthai/p/open-curriculum
9.เปลี่ยนเศษอาหารให้เป็นกระดาษคุณภาพสูง – อาหารที่ผลิตได้ในโลก กลายเป็นเศษอาหารเหลือทิ้งถึง 1 ใน 3 และนั่นทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ทำลายชั้นบรรยากาศของโลก จะดีกว่าไหม ถ้าเราสามารถลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ขยะเหลือทิ้ง และคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนได้ ด้วยการเปลี่ยน “ขยะ” ให้เป็น “กระดาษ”
ผู้นำเสนอโครงการ โดยนายพีรวัฒน์ ขันเงิน โรงเรียนมีชัยพัฒนาต้องการระดมทุนเพื่อนำเงินไปศึกษาหารูปแบบสร้างสินค้าจากกระดาษที่โรงเรียนผลิตจากเปลือกผักผลไม้ และพัฒนาให้เป็นธุรกิจสร้างรายได้ให้แก่โรงเรียน จ.บุรีรัมย์ ส่งเสริมคุณภาพชีวิตและรายได้ของนักเรียน และผู้ปกครองในโรงเรียนพื้นที่ชนบท
รายละเอียดโครงการ ติดตามได้ที่ https://www.dtac.co.th/plikthai/p/how-to-make-paper
10.พิพิธภัณฑ์ของเล่นพื้นบ้านออนไลน์ – รู้หรือไม่! ของเล่นพื้นบ้านไทยกำลังจะสูญหายไปจากประเทศไทย…อีกครั้ง นอกจากนี้ ของเล่นพื้นบ้านไม่เพียงมีคุณค่าในเชิงวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงคุณค่าทางด้านพัฒนาการเด็กอีกด้วย ด้วยเหตุนี้ ผู้นำเสนอโครงการ
โดยนายวีรวัฒน์ กังวานนวกุล จากพิพิธภัณฑ์เล่นได้ ต้องการระดมทุนเพื่อนำเงินไปจัดทำ online content เกี่ยวกับการออกแบบและผลิตของเล่นพื้นบ้าน ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ในเด็ก จ.เชียงราย
รายละเอียดโครงการ ติดตามได้ที่ https://www.dtac.co.th/plikthai/p/toy