dtac-T ตัวต่อรองใหม่ที่จะช่วยให้การประมูลคลื่น 1800 ง่ายขึ้น

dtac-T ตัวต่อรองใหม่ที่จะช่วยให้การประมูลคลื่น 1800 ง่ายขึ้น

หลังจากได้ทำการลงนามในสัญญาเช่าเครื่องและอุปกรณ์โทรคมนาคม และสัญญาการใช้บริการข้ามโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในประเทศระบบ 2300 MHz อย่างเป็นทางการเรียบร้อย ขณะนี้ดีแทคพร้อมแล้วที่จะทดลองเปิดให้บริการ 4G LTE-TDD คลื่น 2300 MHz

ภายใต้ชื่อ dtac-T แล้วจำนวน 10 แห่งใจกลางกรุงเทพ เพื่อเปิดทดสอบสัญญาณเตรียมความพร้อม ก่อนที่จะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์แก่ลูกค้าทั่วไป

การประกาศความพร้อมในครั้งนี้ได้ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ให้เกียรติเป็นประธานในการเปิดทดสอบการใช้งานเป็นครั้งแรกในไทย และ ดร.พิเชษฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้เกียรติร่วมในฐานะกำกับดูแลหน่วยงานรัฐวิสาหกิจซึ่งรวมถึงทีโอที

หลังจากการเปิดใช้บริการจะทำให้ดีแทคสามารถพาลูกค้าโลดแล่นบนแบนด์วิดท์ที่กว้างที่สุดถึง 60 MHz ซึ่งคลื่นความถี่ 2300 MHz และเทคโนโลยี Time Division Duplex (TDD) จะถูกนำมาใช้งาน โดย TDD สามารถจัดการแบนด์วิดท์สำหรับการอัพลิงค์และดาวน์ลิงค์บนแบนด์วิดท์เดียวได้พร้อมกันตลอดเวลา

นอกจากนี้ TDD และ Massive MIMO ยังเป็นเทคโนโลยีที่ปฏิวัติเพิ่มการรับและส่งดาต้าในแต่ละเสาสัญญาณได้มากกว่าเดิม นับเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ก้าวสู่ “5G-ready” โดยคลื่นใหม่ที่จะนำมาให้บริการจะมีความจุที่มากที่สุด และมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดในภูมิภาคนี้

แต่การได้คลื่นความถี่ใหม่นี้ไม่เพียงจะทำให้ดีแทคสามารถให้บริการที่ดีขึ้นได้เท่านั้น แต่ยังสามารถเป็นแต้มต่อในการต่อรองการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ที่มีจำนวนทั้งหมด 45 MHZ ซึ่งล่าสุด กสทช.ได้ฟันธงกำหนดขนาดคลื่นความถี่ที่จะประมูลออกเป็น 3 ชุดๆ ละ 15 MHz ต่อ 1 ใบอนุญาต

มีการจำกัดเพดานการถือครองคลื่นที่ 40% ของขนาดคลื่นความถี่ที่นำมาประมูล โดยกำหนดราคาเริ่มต้นของการประมูลไว้ที่ 37,457 ล้านบาท ในขณะที่ดีแทคต้องการให้กำหนดใบอนุญาตเป็น 9 ชุดคลื่นความถี่ ชุดละ 2×5 MHz เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมการประมูลแต่ละรายสามารถเลือกประมูลคลื่นความถี่ตามความต้องการของตนได้

นายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า สำหรับการประมูล 1800 นั้นดีแทคยังคงต้องพิจารณาก่อน เนื่องจากยังต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน โดยจะยังยืนยันเหมือนเดิมว่าไม่ควรกำหนดราคาขั้นต่ำของการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ในการประมูล

ดังนั้นขณะนี้จะมุ่งเรื่องการลงทุน 2300 เพื่อเร่งการติดตั้งให้ได้เร็วที่สุด เพื่อให้ลูกค้าจะสามารถใช้งานได้อย่างสะดวกสบาย ลื่นไหลไม่ติดขัด และจะกลายเป็นจุดแข็งที่จะทำให้มีความแข็งแกร่งในตลาด เพราะการมีดาต้าเน็ตเวิร์กที่ดี ก็ไม่จำเป็นต้องตั้งเป้าหมายถึงเรื่องตัวเลขหรือผลประกอบการ แต่เชื่อมั่นว่าน่าจะทำให้ตำแหน่งทางการตลาดดีขึ้นอย่างแน่นอน

การประกาศออกมาในลักษณะนี้น่าจะทำให้ กสทช.ต้องกลับไปทบทวนกับข้อกำหนดของการประมูลใหม่ ทั้งราคาและการแบ่งชุดคลื่น เพราะหากการประมูลในครั้งนี้ราคาที่ตั้งไม่มีผู้ใดสามารถจ่ายได้ ก็อาจจะทำให้การประมูลต้องล่มไปแบบไม่เป็นท่า

เพราะที่ผ่านมาทั้งเอไอเอสและทรูเองก็แสดงให้เห็นแล้วว่า แม้แต่การชำระค่างวดของการประมูลยังต้องขอผ่อนผัน ดังนั้นการจะต้องจ่ายเงินเพิ่มจึงเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณากันให้มากหน่อย และทั้ง 2 รายที่กล่าวมานั้นต่างก็มีคลื่นใช้อย่างเพียงพอแล้ว

สำหรับ dtac-T ดีแทคได้วางแผนการให้บริการคลื่น 2300 MHz ด้วยงบลงทุน (CAPEX) ปี พ.ศ. 2561 ประมาณ 15,000 – 18,000 ล้านบาท ในการขยายสถานีฐานและเสาสัญญาณ

โดยดีแทควางแผนที่จะขยายบริการบนคลื่น 2300 MHz พร้อมเปิดให้บริการภายในไตรมาส 2 ของปีนี้ และไม่ต่ำกว่า 37 จังหวัดในปีนี้ โดยพื้นที่แรกที่จะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์จะเน้นไปที่บริเวณที่มีการใช้งานดาต้าสูง

เพื่อตอบรับกับการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของการใช้งานข้อมูลในประเทศไทย ที่มีอัตราเฉลี่ยมากกว่า 8 GB ต่อผู้ใช้งานต่อเดือน และสมาร์ทโฟนจำนวนมากกว่า 70% ที่รองรับ 4G ในขณะนี้สามารถใช้งาน 4G LTE-TDD ได้

โดย 10 เสาแรกในไทยที่ทีโอทีและดีแทคร่วมเปิดทดสอบการใช้บริการในพื้นที่ใจกลางเมืองสำคัญของกทม ก่อนที่จะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์แก่ลูกค้าได้แก่ สาทร แหล่งธุรกิจ, พระราม 3 ย่านเมืองใหม่, สีลม ถนนธุรกิจใจกลางเมืองของกรุงเทพมหานคร

แหล่งรวมธนาคาร โรงแรม สำนักงานชั้นนำขนาดใหญ่ และศูนย์การค้า, ราชประสงค์ ศูนย์กลางแหล่งช้อปปิงที่ยิ่งใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, สุขุมวิท ย่านที่พัก ศูนย์การค้าชั้นนำ แหล่งธุรกิจ และจุดหมายของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และ เจริญกรุง แหล่งท่องเที่ยวชุมชนเก่าใจกลางกรุงเทพมหานคร

สำหรับในส่วนของทีโอทีนั้น ดร.มนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างทีโอทีและดีแทคในการใช้งานคลื่นความถี่ 2300 MHz นี้นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่นำเทคโนโลยีล่าสุดของโลก 4G LTE-TDD มาให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงทั้งบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ และอินเทอร์เน็ตไร้สายประจำที่ (Fixed Wireless broadband)

เพื่อขยายบริการให้ครอบคลุมชุมชนหรือครัวเรือนต่างๆ ในพื้นที่ห่างไกลทั่วประเทศ ช่วยลดความเหลื่อมล้ำของคนไทยในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

ที่สำคัญความร่วมมือครั้งประวัติศาสตร์นี้จะเป็นการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานการสื่อสารโทรคมนาคมของประเทศไทยให้ก้าวทันกับนานาประเทศตามนโยบายรัฐบาลที่จะนำพาประเทศก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0

การเปิดให้บริการคลื่น 2300 MHz จะเป็นการเสริมศักยภาพบริการของ ทีโอที ทั้งบริการโมบายบนคลื่น 2100 MHz และบริการบรอดแบนด์ของ ทีโอที ซึ่งจะรองรับความต้องการใช้งานของภาครัฐ ของธุรกิจเอกชน ธุรกิจ SME และประชาชนได้มากขึ้น

ทีโอที พร้อมเปิดให้บริการได้ภายในไตรมาสที่ 2 ซึ่งคาดว่าจะทำให้ตลาดโมบายและอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของ ทีโอที เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่มีจุดแข็งที่ได้เปรียบทั้งในเรื่องของแบนด์วิดท์และความครอบคลุมของพื้นที่ให้บริการ

โดยจะสามารถสร้างยอดลูกค้าเพิ่ม Market Share ให้กับทีโอที และเมื่อหักกลบค่าใช้บริการระหว่างกันดีแทคสามารถให้ค่าตอบแทนแก่ทีโอทีเป็นจำนวน 4,510 ล้านบาทต่อปีจนถึง ปี พ.ศ. 2568

“ทีโอทีจะนำ LTE-TDD มาทำเป็นฟิกซ์ไวร์เลสแทนการเดินสาย เพราะใช้เวลาติดตั้งสั้นและการลงทุนต่ำกว่า ทำให้สามารถขยายไปในที่คนน้อยและห่างไกลได้ สามารถนำไปต่อยอดการยกระดับการโทรคมนาคมในพื้นที่ประชากรเบาบาง ซึ่งการเดินออปติกจะไม่คุ้มแต่หากใช้ฟิกซ์ไวร์เลสลงทุนน้อยกว่า”

“โดยทีโอทีจะทำการเช่าอุปกรณ์และไม่ได้ลงทุนเอง ทำให้จากเดิมที่เราจะลงทุนฟิกซ์ไวร์เลส 500 ล้าน ต้องเปลี่ยนแผนใหม่ เพราะต้องคุยกับดีแทคก่อนว่าเขาจะไปไหน ถ้าแนวเดียวกันก็จะเช่าใช้ได้โดยไม่ต้องลงทุนเองทั้งหมด หรือหากต้องลงทุนก็จะลดลงกว่าเดิม”

Related Posts