จีเอ็ม จับมือออโตเดสก์ในการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ขั้นสูง AI-based generative design และความก้าวหน้าในการพิมพ์สามมิติ เพื่อการออกแบบยานยนต์แห่งอนาคตที่มีน้ำหนักเบา และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยลง ซึ่งในส่วนนี้ก็มีแบรนด์เชฟโรเลตด้วย
โดยที่ผ่านมาจีเอ็มเริ่มการใช้กระบวนการผลิตแบบ Additive Manufacturing และใช้การพิมพ์แบบสามมิติในการสร้างชิ้นส่วนโดยตรงจากข้อมูลดิจิตัลได้สำเร็จ สามารถสร้างชิ้นงานต้นแบบด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติได้มากกว่า 250,000 ชิ้น ในรอบ 10 ที่ผ่านมา และลดน้ำหนักรถยนต์ใหม่ได้มากกว่า 159 กิโลกรัม ต่อรถยนต์ 1 คัน
ทั้งนี้การลดมวลน้ำหนักของชิ้นส่วนต่างๆ ที่ผลิตจากวัสดุซึ่งไม่มีผลต่อสมรรถนะ ร่วมกับการรวบรวมชิ้นส่วน ถือเป็นประโยชน์สำหรับผู้ใช้รถยนต์ เพราะรถยนต์จะมีพื้นที่ใช้สอยภายในมากขึ้น มีฟีเจอร์ต่างๆ มากขึ้น และมีประสิทธิภาพในการใช้งานเพิ่มขึ้น
ประโยชน์ต่างๆที่ได้จากเทคโนโลยีขั้นสูงนี้นอกจากจะช่วยเปิดทางให้เกิดฟีเจอร์ใหม่สำหรับลูกค้าแล้ว ยังเปรียบเสมือนกระดาษวาดรูปที่นักออกแบบรถยนต์สามารถวาดสิ่งใหม่และคิดค้นรูปลักษณ์ใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนได้อีกด้วย
นายเคน เคลเซอร์ รองประธานกรรมการ ฝ่าย Global Vehicle Components and Subsystems บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม) กล่าวว่า จีเอ็ม เป็นหนึ่งในผู้ผลิตยานยนต์รายแรกของโลกที่นำเทคโนโลยีซอฟต์แวร์ใหม่จากบริษัท ออโตเดสก์ ซึ่งเป็นบริษัทรับออกแบบและพัฒนาซอฟต์แวร์จากเบย์ แอเรีย ซานฟรานซิสโก
โดยเทคโนโลยี AI-based generative design ดังกล่าวใช้ระบบคลาวด์คอมพิวติ้ง (Cloud Computing) และอัลกอริทึมในปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งสามารถจัดเรียงและสับเปลี่ยนแบบชิ้นส่วนต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ได้ตัวเลือกแบบที่มีประสิทธิภาพสูง และมักจะเป็นรูปทรงเรขาคณิตแบบออแกนิค
แบบที่ได้จะขึ้นอยู่กับเป้าหมายและการตั้งค่าของพารามิเตอร์ของผู้ใช้ ซึ่งผู้ใช้จะต้องป้อนข้อมูลต่างๆ เช่น น้ำหนัก ความทนทาน ประเภทวัสดุ วิธีการผลิต และอื่นๆ จากนั้นผู้ใช้จะสามารถเลือกชิ้นส่วนที่เหมาะสมดีที่สุดเพื่อพิมพ์สามมิติ
“เทคโนโลยีขั้นสูงนี้ทำให้เราสามารถออกแบบและพัฒนาชิ้นส่วนยานยนต์ในอนาคตของเราให้มีน้ำหนักเบาลงและมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเมื่อนำเทคโนโลยีการออกแบบมารวมกับความก้าวหน้าในการผลิต เช่น การพิมพ์สามมิติ ขั้นตอนการออกแบบและพัฒนายานยนต์ของเราจึงเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง”
“เราสามารถสร้างชิ้นงานโดยการออกแบบร่วมกับคอมพิวเตอร์ในแบบที่เราไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะทำได้ ซึ่งจีเอ็มกำลังนำอุตสาหกรรมยานยนต์ในปัจจุบันเข้าสู่ยุคของยานยนต์น้ำหนักเบา เทคโนโลยีการออกแบบใหม่นี้ช่วยลดมวลน้ำหนักรถยนต์ลงอย่างเห็นได้ชัด และเพิ่มโอกาสในการรวมชิ้นส่วนซึ่งไม่สามารถทำได้ผ่านการออกแบบและวิธีในรูปแบบเดิม”
ทั้งนี้จีเอ็มจะนำนวัตกรรมดังกล่าวมาใช้ในการออกแบบผลิตภัณฑ์แห่งอนาคต วิศวกรจีเอ็มและออโตเดสก์ใช้เทคโนโลยีใหม่นี้ในการผลิตชิ้นส่วนของโครงสร้างเบาะที่นั่ง ซึ่งมีน้ำหนักเบาลง 40% และแข็งแรงขึ้น 20% เมื่อเทียบกับชิ้นส่วนเดิม นอกจากนี้เทคโนโลยีดังกล่าวยังรวบรวมส่วนประกอบที่แตกต่างกัน 8 ส่วน แล้วพิมพ์ออกมาเป็นชิ้นส่วนแบบสามมิติ 1 แบบอีกด้วย
จีเอ็มคือผู้ริเริ่มการใช้กระบวนการผลิตแบบ Additive Manufacturing และกว่า 30 ปีที่จีเอ็มใช้การพิมพ์แบบสามมิติในการสร้างชิ้นส่วนโดยตรงจากข้อมูลดิจิตัลได้สำเร็จด้วยการเพิ่มชั้นของวัสดุ จีเอ็มเป็นที่แรกที่มีเครื่องพิมพ์สามมิติ ซึ่งปัจจุบันมีเครื่องพิมพ์สามมิติที่ครอบคลุมมากกว่า 50 เครื่องและสามารถสร้างชิ้นงานต้นแบบด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติได้มากกว่า 250,000 ชิ้น ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา
โดยตั้งแต่ปี 2559 จีเอ็มได้เปิดตัวรถยนต์ใหม่ถึง 14 รุ่น ด้วยน้ำหนักมวลรวมที่ลดลงมากกว่า 2,268 กิโลกรัม หรือลดลงมากกว่า 159 กิโลกรัม ต่อรถยนต์ 1 คัน ซึ่งน้ำหนักที่ลดลงนั้นเกิดจากความก้าวหน้าทางวัสดุและเทคโนโลยี และมากกว่าครึ่งหนึ่งของรุ่นรถที่เปิดตัวไปแล้วมีน้ำหนักลดลงถึง 136 กิโลกรัม
นายเคน กล่าวว่า จีเอ็มและออโตเดสก์เป็นพันธมิตรทางนวัตกรรมร่วมกันมาหลายปี และเตรียมทำโครงการร่วมกันเกี่ยวกับแนวคิดการนำ AI มาใช้ออกแบบโครงสร้างเชิงวิศวกรรม (Generative Design) กระบวนการผลิตแบบ Additive Manufacturing อย่างเช่น การขึ้นรูปชิ้นงานด้วยการเติมเนื้อวัสดุเข้าไป และหลักการวัสดุศาสตร์
โดยผู้บริหารและวิศวกรจากทั้งสองบริษัทจะร่วมประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ภูมิปัญญา และความชำนาญ นอกจากนี้ จีเอ็มยังสามารถเข้าถึงซอฟต์แวร์ของออโตเดสก์ได้อย่างเต็มรูปแบบและสามารถติดต่อพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคของออโตเดสก์ได้
ด้านนายสก็อตต์ รีส รองประธานกรรมการอาวุโส ฝ่ายผลิตภัณฑ์เพื่อการผลิตและการก่อสร้าง จากบริษัท ออโตเดสก์ กล่าวว่า แนวคิดการนำ AI มาช่วยใช้ออกแบบโครงสร้างเชิงวิศวกรรมนับว่าเป็นอนาคตของวงการการผลิต และจีเอ็มถือเป็นผู้นำในการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ในลดน้ำหนักรถยนต์ในอนาคตของจีเอ็ม
ทั้งนี้การนำ AI มาใช้ในการออกแบบเป็นการเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานทางวิศวกรรมอย่างสิ้นเชิง เพราะเราต้องคำนึงถึงขั้นตอนทางการผลิตตั้งแต่เริ่มต้นการออกแบบ และด้วยเทคโนโลยีนี้ วิศวกรจีเอ็มจะสามารถตรวจสอบตัวเลือกในการออกแบบที่พร้อมผลิตและมีประสิทธิภาพสูงกว่าร้อยแบบ ได้เร็วกว่าการตรวจสอบการออกแบบทีละแบบเหมือนที่ผ่านมา