ประจิ​น​ ตรวจเน็ตประชารัฐชัยภูมิมั่นใจปลายปีครบทุกหมู่บ้าน

ประจิ​น​ ตรวจเน็ตประชารัฐชัยภูมิมั่นใจปลายปีครบทุกหมู่บ้าน

‘ประจิน’ เป็นประธานงานความสำเร็จโครงการเน็ตประชารัฐ 24,700 หมู่บ้าน และการขยายผลการนำไปใช้ประโยชน์โครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่ยุคดิจิทัล ตามนโยบาย Thailand 4.0 เพื่อไปสู่ “ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน“

ซึ่งขณะนี้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ได้ขยายติดตั้งโครงข่ายเน็ตประชารัฐเฟสที่ 1 เสร็จตามเป้าหมาย 24,700 หมู่บ้าน

และในปี 2561 นี้ รัฐบาลจะขยายโครงข่ายเน็ตประชารัฐเฟสที่ 2 เพิ่มขึ้นอีก 15,732 หมู่บ้าน โดยใช้งบประมาณที่ประหยัดได้จำนวนมากจากการดำเนินการโครงการเฟสแรก

ซึ่งจะทำให้โครงข่ายเน็ตประชารัฐเชื่อมต่อเป็นโครงข่ายเดียวกันทั้งประเทศ โดยตั้งเป้าให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2561 นี้ และเมื่อนำโครงการเน็ตประชารัฐทั้ง 2 เฟส

รวมกับหมู่บ้านที่มีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเข้าถึงอยู่แล้ว 30,635 หมู่บ้าน  และโครงการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในหมู่บ้านพื้นที่ชายขอบอีกจำนวน 3,920 หมู่บ้าน ที่ กสทช. ดำเนินการ

ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2561จะถือได้ว่าประเทศไทยจะมีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงครอบคลุมทุกหมู่บ้านทั่วประเทศทั้ง 74,987 หมูบ้าน

และเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากโครงข่ายเน็ตประชารัฐทั้ง 24,700 หมู่บ้าน รัฐบาลได้เปิดให้ผู้ให้บริการที่ได้รับใบอนุญาตจากสำนักงาน กสทช.

สามารถเชื่อมต่อจากโครงข่ายเน็ตประชารัฐไปยังบ้านเรือนของประชาชน โดยผู้ให้บริการไม่ต้องจ่ายค่าใช้หรือเชื่อมต่อ เพื่อเป็นการลดต้นทุนให้สามารถให้บริการประชาชนได้ในราคาที่เหมาะสม

สำหรับการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลยึดประชาชนทั่วประเทศเป็นศูนย์กลาง และมุ่งตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ โดยมีการบูรณการ ทั้งในระดับนโยบายรัฐบาล ระดับกระทรวง และระดับพื้นที่

รัฐบาลจึงได้มี ”โครงการไทยนิยม ยั่งยืน” เพื่อให้การบริหารประเทศตอบสนองความต้องการของประชาชนคนไทย โดยมีการสร้างความรู้ความเข้าใจให้เกิดกับประชาชนในทุกพื้นที่ถึงโครงการสำคัญ ๆ ของรัฐบาล

รวมถึงการสร้างการรับรู้และการขยายผลการใช้ประโยชน์จากโครงข่ายเน็ตประชารัฐทุกหมู่บ้านในประเทศไทย ขยายโอกาส และเสริมศักยภาพในการสร้างเศรษฐกิจ สร้างรายได้ การศึกษา การสาธารณสุข การเกษตร การค้าขายออนไลน์ และการมีคุณภาพชีวิตที่ดีทั่วถึงและเท่าเทียมกัน

ด้านนางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า โครงข่ายเน็ตประชารัฐเป็นโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมหลักของประเทศ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสให้แก่ประชาชนได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกันทั่วประเทศ

ทั้งนี้เพื่อสร้างประโยชน์จากเน็ตประชารัฐทั้ง ๒๔,๗๐๐ หมู่บ้าน กระทรวงดิจิทัลฯ ได้ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย และสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมบูรณาการการทำงานในการวางกลไกการสร้างการรับรู้เน็ตประชารัฐแก่ประชาชนให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างรู้เท่าทัน คุ้มค่า และมีประสิทธิภาพ ที่ผ่านมากระทรวงฯ ได้จัดกิจกรรมการสร้างการรับรู้ในการใช้ประโยชน์โครงข่ายและส่งเสริมการใช้งานเน็ตประชารั

โดยจัดอบรมวิทยากรแกนนำ คุณครู กศน. จำนวน 5 รุ่น รวม 1,033 คน จัดอบรมให้กับผู้นำชุมชน หมู่บ้านละ 4 คน จำนวน 100,000 คน

ในปี 2561 นี้ กระทรวงยังคงเน้นการสร้างการรับรู้การใช้ประโยชน์จากเน็ตประชารัฐอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการ “ไทยนิคม ยั่งยืน”

ซึ่งกระทรวงฯ ได้รับหน้าที่หลักในการขับเคลื่อนในข้อ 8 “การรู้เท่าทันเทคโนโลยี” โดยมีกลไกการขับเคลื่อนตั้งแต่ระดับนโยบาย ระดับจังหวัด อำเภอ ไปจนถึงระดับตำบล เพื่อให้ประชาชนมีความรู้เท่าทัน และใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้เกิดประโยชน์สูงสุด

โดยสนับสนุนองค์ความรู้ให้กับครู กศน. ระดับจังหวัดจำนวน 20 ทีม ประมาณ 100 คน เพื่อร่วมเป็นทีมงานระดับตำบล มีคู่มือในการถ่ายทอดความรู้ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวนประมาณ 8,400 คนทั่วประเทศ

ขยายความรู้ไปสู่ประชาชนเพื่อให้มีทักษะด้านดิจิทัลตามแผนโครงการฯ เป้าหมายจำนวน 1 ล้านคน  รวมถึงการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ work shop ในเชิงลึก

ให้กับประชาชนผู้สนใจ ผู้ประกอบการ และกลุ่มอาชีพในหมู่บ้านเน็ตประชารัฐที่มีความพร้อม อย่างน้อยจังหวัดละ 1 ครั้ง

สำหรับจังหวัดชัยภูมิได้ติดตั้งโครงข่ายเน็ตประชารัฐ 637 หมู่บ้าน ปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนใช้งานเน็ตประชารัฐประมาณ 2.6 ล้านคน โดย  จังหวัดที่มีปริมาณการเข้าใช้งานมากสุดอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ได้แก่ บุรีรัมย์ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ อุดรธานี ขอนแก่น ร้อยเอ็ด สกลนคร และกาฬสินธุ์ สำหรับช่วงเวลาใช้งานมากที่สุดคือ เวลา 16.00-24.00 น. คิดเป็นร้อยละ 79.6 และใช้งานน้อยต่ำสุดคือช่วงเวลา 24.00-04.00 น. คิดเป็นร้อยละ 5.05

Related Posts