‘สถิติ’ เตรียมต่อยอดข้อมูลเน็ตประชารัฐให้มากกว่าที่ดีอีสั่ง

‘สถิติ’ เตรียมต่อยอดข้อมูลเน็ตประชารัฐให้มากกว่าที่ดีอีสั่ง

สถิติ เตรียมประเมินโครงการเน็ตประชารัฐที่กระทรวงดีอีดำเนินการติดตั้งครบแล้วทั้ง 24,700 หมู่บ้านนั้น ไม่ใช่ติดแล้วจะปล่อยปะละเลยให้เป็นนโยบายเขียนด้วยมือลบด้วยเท้าเหมือนในอดีต

เพราะในครั้งนี้กระทรวงดีอีได้มอบหมายให้สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) จัดทำการประเมินผลการใช้งานโครงการเน็ตประชารัฐ เพื่อดูผลว่าหลังจากทำการติดตั้งไปแล้วในแต่ละหมู่บ้านใช้งานอินเทอร์เน็ตเพื่อจุดประสงค์ในด้านใดบ้าง เช่น ใช้เรื่องการศึกษา สาธารณสุข หรือเพื่อการประกอบอาชีพ เป็นต้น

โดยจะเริ่มสำรวจข้อมูลเดือน ก.ค.-ส.ค. เพื่อให้สามารถประมวลผลให้แล้วเสร็จในเดือน ก.ย.นี้ โดยใช้กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 2 ล้านคน ซึ่งสถิติจะใช้เจ้าหน้าที่ประมาณ 10,000 คนในการเก็บข้อมูล ซึ่งหลังจากได้ผลสำรวจแล้วจะส่งให้กระทรวงดีอีนำไปปรับปรุงและพัฒนาให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น

ถือเป็นการประเมินผลสัมฤทธิ์ของโครงการเน็ตประชารัฐเพื่อให้มีข้อมูลในการติดตาม การประเมินผล และวางแผนพัฒนาต่อยอดการใช้งานอินเทอร์เน็ตเพื่อการผลักดันเศรษฐกิจไทยให้เป็นสังคมดิจิทัล สอดคล้องกับนโยบาย Thailand 4.0

นายภุชพงค์ โนดไธสง ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ กล่าวว่า การเก็บข้อมูลดังกล่าวนั้น นอกจากจะได้ข้อมูลในเรื่องการใช้งานของประชาชนแล้ว สถิติยังสามารถนำข้อมูลต่างๆ ไปใช้เป็นข้อมูลในการเข้าถึงเรื่องต่างๆ ของประชากรได้ โดยสถิติยังได้เตรียมใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการเก็บข้อมูลหลังจากที่อินเทอร์เน็ตได้เข้าถึงทุกพื้นที่แล้ว

เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายในการเก็บข้อมูลให้เป็นดิจิทัล ที่สามารถดึงข้อมูลต่างๆ มาใช้ได้อย่างทันท่วงที รวมไปถึงยังจะสามารถนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์เพื่อให้เกิดการพัฒนาในด้านต่างๆ ได้อีกด้วย

“การเก็บข้อมูลในครั้งนี้นอกจากจะช่วยให้กระทรวงดีอีสามารถนำไปประเมินผลการใช้งานของประชาชนแล้ว ยังจะสามารถต่อยอดนำไปพัฒนากับโครงการอื่นๆ อย่างเช่น หากต้องการขยายให้พื้นที่การให้บริการให้ลึกลงไปอีกก็จะสามารถรู้ได้ว่าควรจะติดตั้งอินเทอร์เน็ตแบบไหนอย่างไรถึงจะเหมาะสม เพื่อให้เกิดประโยชน์กับพื้นที่นั้นๆ ให้มากที่สุด”

ซึ่งการที่เราใช้ขนาดตัวอย่างเยอะถึง 2 ล้านตัวอย่าง เพื่อจะนำไปเป็นแนวทางให้ดับหมู่บ้านที่ยังไม่มี หรือหมู่บ้านที่มีอยู่แล้วแต่ยังไม่ทั่วถึง ก็ต้องไปเสริมให้ทั่วถึงเป็นต้น

ทั้งนี้สำนักงานสถิติแห่งชาติยังได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อนำระดับผู้กำกับงานจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะมีการให้ความรู้ในเรื่องต่างๆ เช่น บทบาทหน้าที่ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับท่านอย่างไร

ความรู้ความเข้าใจและการใช้ประโยชน์เน็ตประชารัฐ ความรู้เกี่ยวกับ Big data เป็นต้น และยังได้มีการเสวนาหัวข้อความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเน็ตประชารัฐ ความมั่นคงปลอดภัยและการให้บริการ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ มาร่วมเสวนา

นอกจากนี้ยังจะจัดให้มีการประชุม workshop กลุ่มย่อยเพื่อระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากเน็ตประชารัฐ และชี้แจงการเก็บรวบรวมข้อมูลการประเมินผลสัมฤทธิ์ของโครงการเน็ตประชารัฐโดยระดับผู้กำกับงานจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการจัดประชุมทั้งสิ้น 5 ครั้ง

โดยจัดที่ศูนย์ภาคกลาง 2 ครั้ง คือ จังหวัดปราจีนบุรี และนครนายก ศูนย์ภาคเหนือที่จังหวัดเชียงใหม่ ศูนย์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จังหวัดขอนแก่น และศูนย์ภาคใต้ ที่จังหวัดสงขลา

“การจัดประชุมครั้งนี้จะก่อให้เกิดความร่วมมือในการดำเนินงานด้านการจัดเก็บข้อมูลสถิติ สร้างความเข้าใจทิศทางในการดำเนินงานของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงานสถิติแห่งชาติ รวมทั้งให้มีการสร้างเครือข่ายโดยการประสานงานในการดำเนินการกับหน่วยงานภายในและภายนอกกระทรวงฯ

เพื่อใช้ในการดำเนินการของภาครัฐให้เกิดความร่วมมือและมีการบูรณาการร่วมกัน ซึ่งจากการสอบถามผู้เข้าร่วมประชุมพบว่าได้ผลดี เนื่องจากทำให้หลายคนที่ยังไม่รู้เกี่ยวกับเน็ตประชารัฐได้เข้าใจอย่างแท้จริง และสามารถนำไปขยายผลต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

นายภุชพงค์ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังได้มีการจัดประชุมระดับผู้กำกับงานอำเภอ และระดับเจ้าหน้าที่วิชาการและพนักงานแจงนับแต่ละจังหวัด เพื่อชี้แจงแนวทางการเก็บรวบรวมข้อมูลซึ่งสำนักงานสถิติแห่งชาติจะมีเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เก็บรวบรวมข้อมูลสอบถามประชาชนเกี่ยวกับการรับรู้/รับทราบ การใช้ประโยชน์และความพึงพอใจของประชาชนต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของหมู่บ้าน เป็นลำดับต่อไป

ทั้งนี้โครงการเน็ตประชารัฐนั้นเป็นการพัฒนาโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาได้ทัดเทียมกับประเทศอื่น โดยมีเป้าหมายขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านสื่อสัญญาณสายเคเบิลใยแก้วนำแสง (FTTx) ให้ครอบคลุมหมู่บ้านเป้าหมาย จำนวน 24,700 หมู่บ้าน

และจัดให้มีจุดให้บริการอินเทอร์เน็ตแบบไร้สายโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายกับผู้ใช้บริการอย่างน้อยหมู่บ้านละ 1 จุดให้บริการที่ระดับความเร็วไม่ต่ำกว่า 30 Mbps/10 Mbps (Download/Upload)

Related Posts