เผือกร้อน ‘2300 MHz’ บทสรุปก่อนแก้ปัญหา บีทีเอส ยังโยนบาปให้ dtac

เผือกร้อน ‘2300 MHz’ บทสรุปก่อนแก้ปัญหา บีทีเอส ยังโยนบาปให้ dtac

เปิดให้บริการคลื่น 2300 MHz มาได้ไม่ทันไร ‘ดีแทค’ ก็โดนเผือกร้อนจาก บีทีเอส ด้วยข้อหาสัญญาณคลื่นความถี่ไปรบกวนคลื่นการใช้งานกับรถไฟฟ้าบีทีเอส ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. บอกว่าปัจจุบันคลื่นที่ใช้งานกับรถไฟฟ้าบีทีเอส คือคลื่น 2400 MHz ขึ้นไป

ส่วนทีโอทีและดีแทคใช้งานในย่านความถี่ 2310-2370 MHZ ซึ่งจะเห็นว่าการใช้งานของบีทีเอสกับคลื่นของทีโอทีมีระยะห่างกันอยู่ 30 MHz ซึ่งในทางเทคนิคเมื่อดูจากระยะห่างแล้วไม่น่าจะมีปัญหาการรบกวนสัญญาณระหว่างกัน เพราะในการใช้งานคลื่นความถี่ของระบบโทรคมนาคมด้วยกันสามารถมีความถี่ของคลื่นห่างกันแค่ 2.5 MHz

แต่สำหรับรถไฟฟ้าบีทีเอสนั้นกลับมีการรบกวนสัญญาณกัน กสทช.จึงแนะนำให้บีทีเอสย้ายช่องความถี่สื่อสารไปใช้คลื่นความถี่ช่อง 2480-2495 MHz โดยระหว่างการย้ายทีโอทีจะปิดการใช้งานคลื่น 2300 MHz ตามแนวรถไฟฟ้าไว้ชั่วคราวจนกว่าบีทีเอสจะเปลี่ยนอุปกรณ์เสร็จ

งานนี้จึงต้องมีการร่วมกันหาแนวทางแก้ไขร่วมกัน ณ สำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ทั้งกสทช. บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค และ บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จํากัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส

แต่ในการหารือนี้บีทีเอสก็ยังคงไม่ยอมรับว่าเป็นความผิดพลาดของตนเอง ตั้งแต่ที่ไม่ได้สร้างระบบป้องกันการโดนรบกวนตั้งแต่แรก ทั้งที่กสทช.เคยทำการแนะนำไปแล้ว

แม้แต่ล่าสุดที่นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บีทีเอส บอกว่า บีทีเอส มีแผนในการเปลี่ยนอุปกรณ์รับ-ส่งระบบอาณัติสัญญาณ จากโมโตโรล่า เป็น ม็อกซ่า และการติดตั้งฟิลเตอร์อยู่แล้ว โดยกำหนดการเดิมคาดว่าจะเสร็จภายในเดือน ต.ค.นี้

แต่เมื่อต้นเดือนนับตั้งแต่ดีแทคเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 6 มิ.ย. บีทีเอสก็ได้สั่งซื้อฟิลเตอร์มาแล้ว แต่ก็ไม่คิดว่าผลกระทบจะเกิดขึ้นเร็ว เพราะไม่เคยมีประเทศไหนได้รับผลกระทบมาก่อน แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้บีทีเอสก็ต้องเร่งทำให้เสร็จภายใน กลางดึก วันที่ 29มิ.ย.2561

ยังคงโยนบาปให้คนเข้าใจผิดว่าดีแทคเป็นตัวต้นเหตุ เพราะคลื่นที่ให้บริการมารบกวน ทั้งที่ก่อนหน้านี้ดีแทคและทีโอทีก็ประโคมข่าวการลงนามสัญญาให้บริการ 4G LTE-TDD คลื่น 2300 MHz ตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน และดีแทคยังประกาศความพร้อมในการเปิดสัญญาณทดสอบ dtac-T บนคลื่น 2300 MHz 10 แห่ง พื้นที่ใจกลางกทม.

โดยมีระดับรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีทีเป็นสักขีพยานเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ส่วนที่ประกาศความร่วมมือการใช้คลื่นตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ทำไมบีทีเอสจะไม่รู้

แม้ล่าสุดจะมาบอกว่าจะติดตั้งอุปกรณ์รับ-ส่งระบบอาณัติสัญญาณ ติดตั้งฟิลเตอร์และย้ายช่องความถี่ให้เสร็จภายในกลางดึกวันที่ 29มิ.ย.2561 และเชื่อว่าเช้าวันที่ 30 มิ.ย.2561 การให้บริการจะเป็นปกติ

โดยบีทีเอสตระหนักว่าประชาชนได้รับความเดือดร้อน และจะพยายามแก้ไขปัญหาให้ดีที่สุด ส่วนมาตรการเยียวยาลูกค้านั้น ขณะนี้ทางบีทีเอสอยู่ระหว่างหารือว่าจะช่วยเหลือและเยียวยาประชาชนที่ใช้งานอย่างไรบ้าง แต่การออกมาพูดในเวลานี้ความเชื่อมั่นของประชาชนผู้ใช้บริการมันลดลงจนน่าใจหายไปแล้ว

ทางด้านฝั่งของผู้ได้รับผลกระทบอย่างจริงจังในเรื่องนี้อย่างทีโอที ก็ดูเหมือนจะมีความรับผิดชอบมากกว่า เพราะนายรังสรรค์ จันทร์นฤกูล รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ หน่วยธุรกิจสื่อสารไร้สาย ทีโอที กล่าวว่า ที่ผ่านมาทีโอทีได้ปิดสถานีฐานไปแล้วราว 20 สถานีฐาน

และการปิดเพิ่มเติมจะต้องดูหน้างานอีกที ซึ่งการย้ายช่องสัญญาณและเปลี่ยนอุปกรณ์น่าจะทำให้การสื่อสารระบบอาณัติสัญญาณทำได้ดีขึ้น แถมยังออกแนวเห็นใจด้วยว่า

“เรื่องนี้ไม่มีใครผิดหรือถูก เราต้องแก้ปัญหาร่วมกัน ทางบีทีเอสเขาไม่คิดว่าดีแทคจะเปิดให้บริการเร็ว เพราะเขาเองก็มีแผนในการติดตั้งระบบดังกล่าวอยู่แล้ว ที่คาดว่าจะเสร็จภายในเดือน ต.ค.นี้ ส่วนทีโอทีเราก็ทดลองระบบมาเป็นปีแล้ว ว่ามันไม่กระทบ เรื่องนี้ทีโอทีกับดีแทคเข้าใจว่าเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านระบบก็ต้องมีผลกระทบบ้าง” เรียกได้ว่าแมนเข้าไปอีก

ทางด้านดีแทคซึ่งในปีนี้เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัดเหลือเกินก็คงจะต้องดูว่า การเยียวยาดีแทคในฐานะคู่สัญญาที่ใช้คลื่น 2300 MHz กับทีโอทีนั้น ต้องให้กสทช.ดูอีกทีว่าจะทำอย่างไร เพราะหากต้องปิดนานก็ต้องมาคุยกันอีกที ทั้งนี้ ทีโอทีและดีแทคคำนึงถึงประชาชนมากที่สุด และช่วงนี้เป็นช่วงเริ่มต้นหากปิด 2 วันไม่น่าจะกระทบกับลูกค้าดีแทค เพราะดีแทคมีคลื่นอื่นรองรับอยู่แล้ว

และในส่วนของดีแทคเองก็ทำอะไรมากไม่ได้ คงต้องยอมรับชะตากรรมที่เกิดขึ้น โดยด้านนายนฤพล รัตนสมาหาร ผู้จัดการฝ่ายธุรกิจสัมพันธ์ ดีแทค กล่าวว่า ดีแทคมีหน้าที่ทำตามที่ทีโอทีเสนอมา ส่วนลูกค้าที่ใช้งานขณะนี้ยังมีไม่มาก จึงคาดว่าจะไม่ได้รับผลกระทบ

งานนี้ดูจากการให้รายละเอียดของข่าวแล้วก็พอจะรู้ได้ว่า ใครเตรียมตัวมาดี และใครที่สุกเอาเผากิน บริหารเพื่อให้ได้ผลกำไรไปวันๆ โดยไม่คิดที่จะพัฒนาไปในรูปแบบที่ควรจะเป็น แถมยังโยนเผือกร้อนให้คนอื่นต้องมาร่วมรับผิดชอบอีก

แต่อาจจะเป็นเรื่องดีที่จะทำให้การบริหารรถไฟฟ้าสายสีอื่นมีความรอบคอบมากขึ้น เข้าใจเทคโนโลยีและกล้าที่จะลงทุนเพื่อลดความเสี่ยงมากขึ้น จะได้ไม่ซ้ำรอยให้คนตั้ง # ขึ้นมาให้ยกเลิกสัมปทาน

Related Posts