พลาสติกล้นโลกกำลังเป็นปัญหาสำคัญที่รุกล้ำไปถึงท้องทะเล ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาเราจะได้เห็นสัตว์ทะเลน้อยใหญ่ต่างได้รับผลกระทบนี้และตายเพราะพลาสติกเป็นจำนวนมาก จนเกิดการรื้อฟื้นจิตสำนึกของการลดใช้พลาสติกกันในวงกว้าง แม้ในหลายประเทศจะมีนโยบายในเรื่องนี้กันมานานแล้ว แต่ก็ยังมีอีกหลายประเทศที่เพิ่งยกเรื่องนี้มาเป็นประเด็น และเริ่มทำการอย่างจริงจัง
เอสซีจี หนึ่งในบริษัทผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ครบวงจรที่ต้องมีการผลิตพลาสติกเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ ได้เล็งเห็นเรื่องของการนำของเหลือใช้จากพลาสติกมาก่อให้เกิดประโยชน์ จึงได้นำท่อ PE 100 ที่เหลือจากการขึ้นรูปสำหรับทดสอบเม็ดพลาสติกภายในโรงงานมาใช้ประกอบเป็นบ้านปลา
เป็นหนึ่งในแนวทางการใช้ Waste ให้เกิดประโยชน์ตามหลักการ Circular Economy โดยท่อ PE100 ดังกล่าวมีความแข็งแรง ทนทาน อายุการใช้งานยาวนานกว่า 50 ปี และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
บ้านปลาที่ว่านี้ไม่เพียงแต่จะเป็นที่อยู่อาศัยของปลาได้เท่านั้น แต่ยังเป็นเสมือนแหล่งผลิตอาหารทะเลให้มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ทำให้ชาวประมงสามารถหาปลามาได้มากขึ้น จากเมื่อ 7-8 ปีที่แล้วที่ชาวประมงทำมาหากินลำบาก ต้องออกเรือไปไกลประมาณ 5 ไมล์ทะเลเพื่อไปหาปลามาขาย แต่ตอนนี้ออกไปแค่ไม่เกิน 700 เมตรก็มีปลาให้จับกันแล้ว
สอดคล้องกับการดำเนินงานบ้านปลาของเอสซีจีที่วันนี้ได้ทำขึ้นสู่ปีที่ 7 แล้ว รวมทำบ้านปลาได้กว่า 1,400 หลัง เกิดเป็นพื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลกว่า 35 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 34 ชุมชน และ 3 จังหวัด ประกอบด้วยระยอง ชลบุรี และจันทบุรี
และหลังจากนี้นอกจากจะนำพลาสติกเหลือทิ้งของตนเองมาทำบ้านปลาแล้ว ยังจะนำขยะพลาสติกที่ร่วมกันเก็บจากชุมชนในจังหวัดระยอง ซึ่งถือว่าเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีปัญหาเรื่องขยะพลาสติกเป็นจำนวนมาก โดยจะนำพลาสติกเหล่านั้นมาผสมกับพลากสติกที่เคยใช้ในสัดส่วนประมาณ 20-30% เพื่อให้เกิดบ้านปลาชนิดใหม่ที่ผสมขยะพลาสติกด้วย คาดว่าเร็วๆ นี้จะมีการนำเสนอออกมา
“ตอนนี้ทำการทดลองว่าพลาสติกชนิดไหนใช้ได้ เราต้องมั่นใจว่ามีความแข็งแรงเพียงพอก่อนใช้จริง เราจะติดตามวัดผลอย่างต่อเนื่อง โดยการวางบ้านปลานั้นจะมีการศึกษาแต่ละพื้นที่ว่าจะวางบ้านปลาอย่างไร โดยได้ร่วมกับสำนักทรัพยากรชายฝั่งและคณะประมง ม.เกษตร ในการศึกษาว่าขะวางแบบไหน วางอย่างไร ตามหลักวิชาการ
เพราะในแต่ละพื้นที่จะมีลักษณะชายฝั่งที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งเครือข่ายกลุ่มประมงพื้นบ้านช่วยกันรักษาและดูแลให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์สำหรับเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำวัยอ่อนและวัยเจริญพันธุ์”
นายชลณัฐ ญาณารณพ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี กล่าวว่า ที่ผ่านมาเอสซีจีได้ร่วมกับภาครัฐและชุมชนบริหารจัดการน้ำในจังหวัดระยองตั้งแต่ต้นน้ำ ด้วยวิธีการสร้างฝายชะลอน้ำในพื้นที่เขายายดา จนถึงปลายน้ำซึ่งเป็นโครงการบ้านปลา
หัวใจสำคัญที่ทำให้โครงการประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีตลอดระยะเวลากว่า 6 ปีที่ผ่านมา ไม่ใช่เพียงแค่การวางบ้านปลาหรือการสร้างฝายเท่านั้น แต่เป็นความเข้มแข็งของชุมชนประมงพื้นบ้านที่ช่วยกันสร้างบ้านปลาและดูแลพื้นที่อนุรักษ์อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ยังรวมไปถึงพลังของจิตอาสาก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จ โดยนับตั้งแต่เริ่มต้นโครงการจนถึงปัจจุบันมีจิตอาสาเข้าร่วมกิจกรรมสร้างบ้านปลาแล้วกว่า 10,000 คน ภายใต้กิจกรรม “รักษ์น้ำ จากภูผา สู่มหานที… จิตอาสาสร้างบ้านปลาเอสซีจี” ซึ่งล่าสุดได้ดำเนินกิจกรรมไป ณ สวนสาธารณะแหลมเจริญ จ.ระยอง
โดยกิจกรรมในปีนี้มุ่งสืบสาน รักษา ต่อยอด การบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนตามพระราชปณิธานจาก “จากภูผา สู่มหานที” เพื่อเป็นแนวทางการดูแลจัดการน้ำให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ สู่ปลายน้ำผ่านการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน
ในปีนี้ เอสซีจี ได้ระดมพลังจิตอาสาจากทั่วประเทศกว่า 900 คน มาร่วมประกอบบ้านปลาจำนวน 50 หลัง เพื่อเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนและวัยเจริญพันธุ์ใต้ท้องทะเล เพิ่มจำนวนสัตว์น้ำและฟื้นคืนความสมบูรณ์ให้ทรัพยากรชายฝั่งทะเล พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตและส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนชาวประมงพื้นบ้านอย่างยั่งยืน
“นับตั้งแต่จัดวางบ้านปลาเป็นครั้งแรกในปี 2555 เอสซีจีได้ทำงานร่วมกับภาครัฐ กลุ่มประมงพื้นบ้านและนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเลเพื่อศึกษาและติดตามผลอย่างใกล้ชิด โดยการสำรวจในเดือนธันวาคมปี 2560 พบว่าบริเวณชายฝั่งทะเลที่มีการจัดวางบ้านปลามีความอุดมสมบูรณ์ขึ้น
ก่อให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลกว่า 172 ชนิด ประกอบด้วยกลุ่มสัตว์น้ำเศรษฐกิจ กลุ่มปลาสวยงาม กลุ่มสัตว์น้ำวัยอ่อน กลุ่มสัตว์เกาะติด และกลุ่มแพลงก์ตอน”
นายชลณัฐ กล่าวว่า ในการจัดวางบ้านปลารุ่นใหม่นี้เอสซีจีได้พัฒนาการวางบ้านปลาแบบใหม่ คือวางครั้งเดียวเป็นกลุ่ม 10 หลัง โดยผูกเข้าด้วยกันตั้งแต่อยู่บนบก และใช้แพจากทุ่นพลาสติกเพื่อขนส่งบ้านปลาทั้งหมดไปในบริเวณที่ต้องการวางบ้านปลา
ระบบนี้ช่วยลดทั้งค่าใช้จ่ายและเวลาที่ใช้ในการวางบ้านปลา รวมถึงหลีกเลี่ยงความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการวางบ้านปลาแบบเดิม ซึ่งเอสซีจีตั้งเป้าหมายที่จะขยายพื้นที่ให้ครอบคลุมกลุ่มประมงพื้นบ้านในบริเวณชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกภายในปี 2563 โดยในปีหน้าจะจัดทำบ้านปลาเพิ่มขึ้นอีกจำนวน 400 หลัง
ด้านนายไมตรี รอดพ้น ประธานวิสาหกิจชุมชนชมรมประมงเรือเล็กพื้นบ้าน อ.เมือง และอ.บ้านฉาง สามัคคี กล่าวว่า การเข้าร่วมโครงการบ้านปลา นอกจากจะทำให้เรามีส่วนช่วยสร้างความสมบูรณ์ให้ระบบนิเวศของท้องทะเลแล้ว ยังทำให้เกิดความสามัคคีกันในกลุ่มชาวประมง
เกิดเป็นเครือข่ายชุมชนที่เข้มแข็ง พวกเรามุ่งมั่นที่จะถ่ายทอดภูมิปัญญาและวิถีในการทำประมงเชิงอนุรักษ์นี้ต่อไปจากรุ่นสู่รุ่น เพื่อรักษาอาชีพประมงพื้นบ้านให้อยู่คู่ประเทศไทยสืบไป