Virtual Student ID Card การก้าวสู่โลกดิจิทัลเต็มตัวของเด็กหอการค้า

Virtual Student ID Card การก้าวสู่โลกดิจิทัลเต็มตัวของเด็กหอการค้า

เปิดตัวว่าเป็นมหาวิทยาลัย Hybrid University มาระยะหนึ่ง ล่าสุดมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้เตรียมก้าวไปอีกขั้น ด้วยการจับมือกับธนาคารกสิกรไทยในการพัฒนาชีวิตดิจิทัลให้กับนักศึกษามากขึ้น

ไม่ใช่เพียงทำการพัฒนาแอปพลิเคชัน K PLUS ให้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ทางด้านการชำระเงินเท่านั้น แต่ยังได้ร่วมกันพัฒนา Virtual Student ID Card ให้นักศึกษาได้ทำธุรกรรมต่างๆ กับทางมหาวิทยาลัยผ่านแอปพลิเคชัน เพิ่มความสะดวกสบายและก้าวเข้าสู่โลกดิจิทัลอย่างแท้จริง

การร่วมมือกันในครั้งนี้ กสิกรไทยจะเข้ามาช่วยพัฒนาระบบให้มหาวิทยาลัยเปลี่ยนเป็นสังคมไร้เงินสด (Cashless Society) เช่น การชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดภายในศูนย์อาหาร และร้านค้าในบริเวณรอบมหาวิทยาลัยแทนการใช้เงินสด

ไฮไลต์ที่สำคัญคือการทำบัตรประจำตัวนักศึกษาแบบ “Smart Student ID Card” ทั้งรูปแบบ Physical Student ID Card ที่เป็นทั้งบัตรเดบิตและบัตรผ่านเข้าออกอาคาร และบัตรดิจิทัลแบบ Virtual Student ID Card ที่ช่วยให้นักศึกษาไม่ต้องพกบัตรนักศึกษาอีกต่อไป

โดยข้อมูลในบัตรจะถูกเชื่อมโยงกับแอปพลิเคชันที่ได้รับการพัฒนาให้มีฟังก์ชันหลากหลายและคำนึงถึงผู้ใช้งานเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการลงทะเบียนที่นักศึกษาสามารถลงทะเบียนเรียน และชำระค่าเทอมผ่านแอปพลิเคชันได้ทุกที่ทุกเวลา มีระบบแจ้งเตือนตารางเรียนและตารางสอบ ติดต่อสำนักทะเบียนเพื่อขอออกใบแสดงผลการศึกษา (Transcript) ได้ง่ายขึ้น

อีกทั้งยังสามารถระบุและค้นหาสถานที่สำคัญต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยโดยใช้ Location-Based Technology และยังรับทราบประกาศหรือข่าวประชาสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัยได้อย่างรวดเร็วด้วยฟังก์ชันการแจ้งเตือนข่าวสาร

รองศาสตราจารย์ ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การสนับสนุนด้านเทคโนโลยีจากธนาคารกสิกรไทยในการพัฒนาเครื่องมือและแอปพลิเคชันที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์นักศึกษายุคดิจิทัล จะทำให้มหาวิทยาลัยมุ่งสู่ Digital Hybrid University ได้อย่างสมบูรณ์แบบ

ซึ่งจะทำให้ก้าวไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยที่มีนวัตกรรมทางการศึกษาและการบริหารจัดการที่ก้าวหน้าที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย รองรับนักศึกษาและบุคลากรกว่า 20,000 คน

“การเข้าสู่ Hybrid University เริ่มตั้งแต่ปี 2547 ที่มหาวิทยาลัยนำ iTunes U มาใช้ในการเรียนการสอนเป็นแห่งแรกในประเทศไทย ภายใต้ระบบการเรียนรู้แบบ Hybrid และได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนเป็นระบบ UTCC Digital Hybrid Learning System

ที่เปลี่ยนจากการสอนแบบเน้นการบรรยาย ซึ่งผู้สอนมีบทบาทสำคัญในการถ่ายทอดความรู้แก่ผู้เรียนแต่เพียงผู้เดียว มาเป็นการสอนแบบ Hybrid ที่เน้นการสร้างปฏิสัมพันธ์ในการเรียนระหว่างผู้เรียนกับผู้เรียนด้วยกันหรือผู้เรียนกับผู้สอน”

โดยได้ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่และนวัตกรรมการเรียนการสอนมาสนับสนุนให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง เป็นการผสมผสานระหว่างการสอนในชั้นเรียน (Face-to-Face) กับการสอนแบบ e-Learning

ซึ่งนำส่วนที่ดีที่สุดของการสอนทั้งสองแบบมาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เรียน และให้นักศึกษาได้ใช้ประโยชน์สูงสุดจาก iPad ซึ่งเป็นอุปกรณ์การเรียนที่นักศึกษาทุกคนได้รับเมื่อแรกเข้า ทำให้ลบภาพการเรียนแบบเดิมสู่การเรียนรู้รูปแบบใหม่

รองศาสตราจารย์ ดร.เสาวณีย์ กล่าวว่า นอกจากการเข้ามาพัฒนาระบบของธนาคารกสิกรไทยแล้ว ในปีนี้มหาวิทยาลัยยังเดินหน้าให้ความสำคัญด้านดิจิทัลในทุกๆ ด้าน ทั้งโครงการกะเทาะเปลือกที่เป็นการแข่งขันนวัตกรรมระดับประเทศ โครงการความร่วมมือกับ Alibaba จัดตั้ง UTCC เป็นศูนย์อบรมด้าน e-commerce ในประเทศไทย

รวมถึงการเปิดสาขาวิชาใหม่ ๆ 6 สาขา เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีทักษะด้านดิจิทัลสอดคล้องกับนโยบาย และทิศทางเศรษฐกิจของประเทศ เช่น คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาวิชาดิจิทัลเทคโนโลยี และสาขาวิชานวัตกรรมอาหาร คณะนิเทศศาสตร์ สาขาวิชาการออกแบบและผลิตสื่อดิจิทัล

และสาขานิเทศศาสตร์การตลาดดิจิทัล คณะบริหารธุรกิจ สาขาการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Management) และล่าสุดเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ได้เปิดตัวหลักสูตร “ธุรกิจเกมและอีสปอร์ต” เป็นหลักสูตรแรกในประเทศไทยที่เน้นต่อยอดในเชิงธุรกิจ

ด้านนางสาวขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยมีวิสัยทัศน์ที่ดีมากทางด้านการยกระดับการศึกษาสู่ดิจิทัล ซึ่งการศึกษาเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาสังคมและประเทศชาติ

ดังนั้นการสร้างความพร้อมให้นักศึกษาสามารถเรียนรู้ได้อย่างเต็มศักยภาพจึงมีความสำคัญเช่นกัน ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยสร้างการเรียนรู้และเพิ่มคุณภาพชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ในยุคดิจิทัลอย่างแท้จริง

Related Posts