มหากาพย์ 1800MHz ตอนผู้มีอำนาจเบ่งพลังงานบางอย่าง

มหากาพย์ 1800MHz ตอนผู้มีอำนาจเบ่งพลังงานบางอย่าง

สัมปทานคลื่นความถี่ 850MHz และ 1800MHz ที่จะหมดอายุลง กลายเป็นชนวนสำคัญที่สร้างความร้าวฉานให้เรกูเรเตอร์และโอเปอร์เรเตอร์อย่างดีแทค เนื่องจากชัดเจนว่ามีการเลือกปฏิบัติระหว่างสัมปทานเก่าที่หมดอายุลงในอดีตของค่ายสีส้มและสีเขียว

ซึ่งใช้มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราว แต่กับค่ายสีฟ้าอย่างดีแทค กลับต้องพบความอัปยศเมื่อร้องขอมาตรการคุ้มครองชั่วคราวให้ผู้ใช้งานเช่นเดียวกับในอดีตจากเรกูเรเตอร์รายเดียวกัน

ความเดิมตอนที่แล้ว ซึ่งอาจจะมีผลต่อเนื่องทำให้เรกูเรเตอร์พาลหัวเสีย นั่นคือการประกาศกร้าวของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือในประเทศไทย ที่พร้อมใจไม่ร่วมลงประมูลคลื่นความถี่ 900MHz และ 1800MHz จนทำให้เรกูเรเตอร์ของไทย ต้องเสียหน้า ล้มเลิกการประมูลไปอย่างที่ทุกคนรู้กัน

ด้วยข้อกฏหมายหยุมหยิมที่ดูจะร้ายสาระ และในส่วนของราคาที่แสนแพง ไม่สอดคล้องกับทิศทางการตลาดที่ ภาษาเอกชนเรียกว่า ‘จุดคุ้มทุน’ แถมท้ายด้วยเรื่องของการโยนภาระการป้องกันคลื่นแทรกซ้อนของรถไฟฟ้าที่กำลังจะเกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นมาแล้วให้กับผู้ที่ประมูลได้เป็นต้น

ซึ่งหากจะว่าไปแล้วก็ไม่ต่างจากการปกป้องโจรที่ขโมยคลื่นมาใช้งาน โดยใช้เงินจากผู้ที่ประมูลได้อย่างถูกกฏหมายนั่นเอง

แน่นอนว่าเมื่อไม่มีการประมูล ผู้ที่เสียหายเมื่อเกิดการเลิกใช้คลื่น ก็คือผู้ที่ยังใช้บริการอยู่ ซึ่งในที่นี้ก็คือ ตาสี ตาสา ที่ไม่ได้ทันโลกเทคโนโลยีเท่าไหร่ ที่ยังคงใช้เทคโนโลยีเดิมๆในการสื่อสารอยู่เท่านั้น

หวยเลยมาลงว่าค่ายสีฟ้า จงใจไม่เข้าร่วมการประมูลเพื่อจะได้ใช้คลื่นฟรี 1 ปีจากมาตรการเยียวยา อย่างที่ นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กล่าวอ้าง

จวบจนเมื่อ กสทช. ผิดหวังหลังจากที่เม้งเสียงหนักแน่นว่าจะทำให้ผู้ให้บริการ ‘คลื่นไม่พอ’ เพื่อให้กลับมาเข้าประมูลให้จงได้ แต่กระนั้นน้ำลายก็ยังแตกฝอยไปได้ไม่ไกลพอที่จะดึงให้มีผู้ร่วมประมูล ทำให้ต้องย่อยคลื่นความถี่ลงจากใบละ 15MHz เหลือใบละ 5MHz เท่านั้น แต่ราคาตั้งต้นยังคงเท่าเดิมแล้วหาร 3 จนเหลือเพียง 12,486 ล้านบาท เคาะเพิ่มครั้งละ 25 ล้านบาท

แน่นอนว่าเมื่อยอมเสียหมาจากปากที่เคยเห่าโดยไม่เชื่อการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะที่จัดมาแล้วก่อนหน้า แต่ต้องมายอมหั่นให้เล็กลงเมื่อไม่มีคนร่วมประมูล งานนี้ก็ต้องหาทางเบ่งพลังให้มีผู้เข้าร่วมประมูลไม่น้อยกว่า 2 รายตามกฏที่ตนเองตั้งขึ้นมา (N-1) ให้ได้ เพื่อที่การจัดงานครั้งใหม่ในวันที่ 18 และ 19 สิงหาคม 2561 จะมีผู้เข้าร่วมประมูล

ซึ่งก็ตามคาด เอไอเอสและดีแทค ยอมเข้าร่วมประมูลด้วยเหตุผลบางอย่าง แต่ก็ร่วมเพียงการประมูลคลื่น 1800MHz เท่านั้น ทำให้การประมูลคลื่น 900MHz ก็ยังคงล่มอยู่ดี และเมื่อหันมาดูที่การประมูลคลื่น 1800MHz ที่มีการเคาะราคาเพียง 1 ครั้งก็มีผู้ชนะแล้ว และก็หยุดประมูลเมื่อทั้งคู่ได้คลื่นคนละ 1 ใบ

แสดงให้เห็นชัดเจนว่า การประมูลครั้งนี้ ไม่ได้เต็มใจเข้าร่วมกันสักเท่าไหร่ เพียงแค่มีพลังงานบางอย่างที่ทำให้ต้องเสียเงินกันคนละ 12,511 ล้านบาท ก็เท่านั้นเอง

แต่งานนี้ยังไม่จบ เพราะการประมูลแบบมีพลังงานใต้ดิน ไม่ได้ช่วยเยียวยาให้ผู้ที่ยังใช้งานมือถือบนคลื่นความถี่ 850MHz และ 1800MHz ของดีแทคที่กำลังจะหมดสัมปทานลงจนซิมดับแต่อย่างใด ความพยายามครั้งใหม่ที่ต้องต่อกรกับเรกูเรเตอร์ขาโหด ย่อมต้องการพลังงานบางอย่างเพื่อกดดันให้สัมฤทธิ์ผล

1800 MHz

ดีแทค ออกแถลงการณ์ ข้อเท็จจริง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการ

จนวันนี้เราได้เห็น ดีแทค ออกแถลงการณ์ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ การร้องขอมาตรการเยี่ยวยาผู้ที่ยังใช้งานคลื่นความถี่ดังกล่าว ซึ่งซิมจะดับลงและไม่สามารถใช้งานได้ในวันที่ 15 กันยายน 2561 นี้ หากไม่ได้รับความคุ้มครองตามที่ กสทช. พ่นน้ำลายจริง โดยในแถลงการณ์มีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้

ข้อเท็จจริง เกี่ยวกับ มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือ การขอมาตรการเยียวยา

1. ความเข้าใจผิด : ไม่เยียวยา ก็ไม่มีใครเดือดร้อน

ข้อเท็จจริง : เมื่อหมดสัมปทาน หากดับโครงข่ายทันที ผู้ใช้งานที่เหลือในระบบ จะไม่สามารถโทรออก รับสาย รับ-ส่งข้อความ และใช้งานเน็ตอื่นๆ ได้ เพราะซิมดับ โดยผู้ใช้งานเหล่านี้เป็นไปได้ว่า ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ และมีความล่าช้าในการย้ายโครงข่ายเพราะเป็นผู้สูงอายุ กฎหมาย กสทช เรื่องมาตรการเยียวยาผู้ใช้บริการจึงกำหนดให้ กสทช และผู้ให้บริการ ต้องเยียวยาผู้ใช้บริการต่อไปชั่วคราว จะดับโครงข่ายไม่ได้

ในปี 2556 สัมปทานทรูและเอไอเอส 1800 MHz ก็หมดลง แต่ทั้งสองค่ายก็ยังคงให้บริการต่อไปตามกฎหมาย กสทช เรื่องมาตรการเยียวยาผู้ใช้บริการ โดยให้บริการถึงสองปีหลังจากสัมปทานหมดลง

ลูกค้าดีแทค ควรได้รับการเยียวยาตามกฎหมาย กสทช เช่นเดียวกับ ลูกค้าอีกสองค่าย โดยควรสามารถใช้บริการได้ไปพลางก่อนในช่วงเปลี่ยนผ่าน
ไม่ใช่ต้องซิมดับ

2. ความเข้าใจผิด : ดีแทคขอเยียวยาเพื่อหาประโยชน์ในการใช้คลื่น “ฟรี”

ข้อเท็จจริง : ไม่เป็นความจริง เมื่อ 6 มิถุนายนที่ผ่านมา ดีแทคได้ยื่นแผนคุ้มครองลูกค้าที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งยังคงใช้งานมือถือบนคลื่น 850 MHz และ 1800 MHz โดยระบุชัดในแผนว่า ดีแทคจะจัดส่งรายได้ทั้งหมดจากการให้บริการ หลังจากหักค่าใช้จ่าย ให้แก่ กสทช. เพื่อนำส่งให้เป็นรายได้รัฐต่อไปตามที่กฎหมาย กสทช กำหนด

จึงไม่เป็นการใช้คลื่นความถี่เพื่อการค้าหากำไรอะไรเลย แต่เป็นการให้บริการต่อไปแทนรัฐเพื่อคุ้มครองผู้ใช้งานที่ยังคงใช้งานอยู่บนคลื่นความถี่ที่หมดสัมปทานเท่านั้น

3. ความเข้าใจผิด :ดีแทคประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz แค่ 5 MHz เพราะหวังใช้คลื่นที่เหลือด้วยการรับการเยียวยา

ข้อเท็จจริง : แม้บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด จะสามารถประมูลได้คลื่นจำนวน 5 MHz หรือ ได้มาทั้ง 20 MHz หรือไม่ได้คลื่นความถี่มาเลยนั้น ลูกค้าของดีแทคที่ยังใช้งานอยู่บนคลื่นความถี่ในระบบสัมปทานก็ยังจะประสบปัญหาการใช้บริการอยู่ดีและจะซิมด้บ

เนื่องจากเป็นการใช้คลื่นคนละระบบ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ใช้งานกลุ่มนี้ต้องได้รับการคุ้มครองตามมาตรการเยียวยา ซึ่งลูกค้าของเอไอเอสและทรูมูฟได้รับการเยียวยาตามกฎหมาย กสทช ในปี 2556 หลังสัมปทานหมด ลูกค้าดีแทคไม่ควรได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างกัน

Related Posts