แม้จะยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะเดินหน้าบริษัทลูกอย่างไร แต่สำหรับวิสัยทัศน์ที่ CAT ประกาศในวันที่ครบรอบ 15 ปีนั้น จะยังคงเน้นการก้าวสู่ Smart Connectivity ด้วยการเร่งขยายโครงข่าย LoRa ทั่วประเทศ เพื่อนำเสนอบริการดิจิทัล
พร้อมจับมือกับพันธมิตรที่หลากหลายเพื่อสร้างดิจิทัลโซลูชัน IoT Smart City หนุนพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้ขยายไปกว้างมากขึ้น พร้อมเสริมด้วยเทคโนโลยีประมวลผลข้อมูลจัดทำ Sandboxing เพื่อสนับสนุน Big Data ภาครัฐ
สำหรับเรื่องที่ยังค้างคาสำหรับการจัดตั้งบริษัทลูกนั้น CAT และ TOT เห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าจะตั้งบริษัทร่วมกันขึ้นมาภายใต้ชื่อ NT แต่ด้วยวิธีการที่จะไปสู่การตั้งบริษัทร่วมกันนั้นยังไม่ได้ข้อสรุป
เนื่องจากมีความคิดต่างกัน จึงต้องมีการประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองเพื่อให้วิธีการไปเหมือนกัน โดยจะดูข้อดีข้อเสียของแต่ละความคิด เพื่อให้เห็นพ้องต้องกันก่อนที่จะเดินไป โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่จะได้รับของทั้ง 2 องค์กร และประโยชน์ของประเทศชาติ
โดยปัญหาสำคัญยังอยูู่ในเรื่องของข้อพิพาทระหว่างกัน คดีความระหว่างกัน สิทธิภาระหน้าที่จะเป็นอย่างไร สิทธิในคลื่นจะเป็นอย่างไร ซึ่งอาจจะต้องมีคณะทำงานย่อยขึ้นมา จึงอาจจะต้องมีทั้งกฤษฏีกาและกสทช.เข้าเกี่ยวข้อง เพื่อให้การจัดตั้งบริษัทในอนาคตไม่มีปัญหาฟ้องร้อง
นอกจากนี้เมื่อตั้งบริษัท NT ขึ้นมาแล้ว ยังจะต้องมาดูในหน่วยงานย่อยด้วยว่าจะให้หน่วยงานไหนเป็นรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานไหนเป็นพาร์ทเนอร์ร่วมกับเอกชน เนื่องจากยังจะต้องให้บริการทั้งภาครัฐและต้องแข่งขันกับธุรกิจคู่แข่ง
พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT กล่าวว่า CAT จัดตั้งองค์กรมาครบรอบ 15 ปีแล้วในวันนี้ โดยเป้าหมายข้างหน้านั้นจะมุ่งภารกิจการเร่งพัฒนาธุรกิจดิจิทัลต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมาเพื่อก้าวสู่เทรนด์ IoT และ Big Data
ภายใต้แนวคิด “Going Digital with Smart Connectivity” เน้นใช้ประโยชน์สูงสุดจากความหลากหลายและประสิทธิภาพโครงข่ายสื่อสารของ CAT ทั้งโครงข่ายไร้สาย ไฟเบอร์ออฟติก ระบบเคเบิลใต้น้ำ ระบบสื่อสารผ่านดาวเทียม
และล่าสุดระบบ LoRaWAN (Long-Ranged Wide Area Network) โครงข่ายไร้สายประหยัดพลังงานเพื่อรองรับเทคโนโลยี IoT ที่การขยายโครงข่ายมีความคืบหน้าตามเป้าหมายโดยเริ่มติดตั้งเมื่อปี 2560 ปัจจุบันได้ขยายการติดตั้งในจังหวัดต่างๆ และจะครอบคลุมทั่วประเทศในปีหน้า
“LoRa เป็นโครงข่ายไร้สายพลังงานต่ำสำหรับ IoT สามารถเชื่อมต่อกับโครงข่ายอื่นๆอย่างมีประสิทธิภาพ มีความยืดหยุ่นหลากหลายและมีเสถียรภาพสูงสำหรับบริการเชื่อมต่อแพลตฟอร์มบริการดิจิทัลต่างๆ
ด้าน IoT ไปจนถึงการจัดเก็บข้อมูล Big Data ได้อย่างครบวงจร สามารถต่อยอดไปสู่ Smart Connectivity ได้อีกด้วย ซึ่งจะทำให้ CAT เป็นโครงข่ายพื้นฐานด้านดิจิทัลให้กับภาครัฐ พร้อมกับเป็นการสร้างรายได้จากธุรกิจใหม่ๆ ให้กับองค์กรในระยะยาว”
หน่วยงานภาครัฐจะสามารถใช้โครงข่ายที่ CAT ให้บริการในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ รวมไปถึงบริการโซลูชันต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการข้อมูลภาครัฐ เพื่อเชื่อมโยงกันบนฐานข้อมูลขนาดใหญ่เพิ่มประสิทธิภาพการขับเคลื่อน Smart Government โดยไม่ต้องลงทุนเองให้ซ้ำซ้อน
สามารถมั่นใจได้ในเรื่องของความปลอดภัยที่ได้มาตรฐานในการพัฒนาบริการดิจิทัลด้านสมาร์ตโซลูชันต่างๆ บนแพลทฟอร์มและโครงข่ายของ CAT ได้ โดยเฉพาะบริการโซลูชันด้าน IoT บนโครงข่าย LoRa IoT by CAT ที่จะเป็นพื้นฐานสำคัญในการขยายตัวของสมาร์ตซิตี้
พ.อ.สรรพชัย กล่าวว่า ปัจจุบัน CAT มีพันธมิตรกลุ่มนักพัฒนาทุกภาคส่วนที่มีความเชี่ยวชาญ อาทิ ภาคเอกชนกลุ่มผู้ออกแบบผลิตอุปกรณ์ ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ ภาคการศึกษา 28 มหาวิทยาลัย และกลุ่มเมคเกอร์ต่างๆ ให้ความสนใจร่วมกับ CAT ในการพัฒนานวัตกรรมอัจฉริยะบน LoRa-IoT
ตอบโจทย์เพิ่มคุณภาพชีวิต สำหรับประชาชนและการบริหารจัดการเมืองตามแนวทางที่ประสบความสำเร็จจาก “ภูเก็ตสมาร์ตซิตี้” เมืองอัจฉริยะต้นแบบภายใต้กระทรวงดีอีที่ CAT ได้ดำเนินการสำเร็จเป็นรูปธรรม
โดยขณะนี้มีบริการที่ใช้งานจริงและอยู่ระหว่างการพัฒนา อาทิ Smart Tracking ติดตามยานพาหนะและบุคคล, Smart Lighting โซลูชั่นระบบไฟและแสงสว่างอัจฉริยะ, Smart Parking ระบบที่จอดรถอัจฉริยะ, Smart Waste ระบบจัดการขยะอัจฉริยะ และ Smart Meter ระบบมิเตอร์อัจฉริยะ เป็นต้น
ปัจจุบัน CAT ได้ขยายโครงข่าย LoRa ต่อเนื่องอีก 18 จังหวัดและตั้งเป้าภายในปี 2562 จะครอบคลุมทั่วประเทศและมั่นใจว่าจะสามารถนำเสนอสมาร์ตโซลูชั่นต่างๆ เพื่อให้บริการแก่หน่วยงานภาครัฐได้มากขึ้น
นอกจากนี้ CAT ยังมีบริการคลาวด์ “IRIS” และดาต้าเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่มาตรฐานสากล รวมไปถึงยังได้พัฒนา “Big Data Sandbox” จำลองกระบวนการกลั่นกรองและวิเคราะห์ข้อมูล (Analaytics) เพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ด้านบริหารในมิติต่าง ๆ
มีบริการดูแลความปลอดภัยระบบไอทีผ่าน “ศูนย์ Security Operation Center(SOC)” ส่วนธุรกิจหลักในกลุ่มโทรศัพท์ระหว่างประเทศ อินเทอร์เน็ต และโทรศัพท์เคลื่อนที่ว่ายังอยู่ในภาวะชะลอตัวเนื่องจากตลาดมีแข่งขันสูง
“การที่ภาครัฐเริ่มตื่นตัวพัฒนาบริการด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น ถือเป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการผลักดันธุรกิจดิจิทัลและธุรกิจใหม่ของ CAT ที่จะเติบโตสอดคล้องไปกับการขยายตัวของสมาร์ตซิตี้และเศรษฐกิจดิจิทัล โดยระยะแรกการใช้งาน IoT ในไทยจะเริ่มต้นที่หน่วยงานภาครัฐเป็นหลัก
เมื่อพัฒนาบริการภาครัฐด้วยดิจิทัลเทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้นขยายสู่ภาพใหญ่ของดิจิทัลไทยแลนด์จะส่งผลให้การใช้เทคโนโลยี IoT กับปริมาณข้อมูล Big Data เติบโตเพิ่มขึ้นมหาศาลและความต้องการบริการต่างๆด้าน Big Data จะเพิ่มสูงขึ้น เช่นเดียวกับ การจัดเก็บ การประมวลผลวิเคราะห์ข้อมูล และการรักษาความปลอดภัยข้อมูลก็จะเริ่มมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นด้วย”
อีกหนึ่งโอกาสในการทำธุรกิจของ CAT คือการดำเนินโครงการ Digital Park Thailand อ.ศรีราชา ในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเป็นนิคมอุตสาหกรรมดิจิทัลของภาคตะวันออกรองรับการลงทุนอุตสาหกรรมดิจิทัลขนาดใหญ่ทั้งไทยและต่างชาติ
และมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการเป็น ASEAN Digital Hub ให้กับประเทศไทย โดยที่ผ่านมา CAT ได้ร่วมมือกับ Google ในการยกระดับคุณภาพการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของคนในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง ด้วยบริการฟรีไวไฟความเร็วสูง “Google Station” เป็นประเทศที่ 4 ของโลก ถัดจากอินเดีย อินโดนีเซีย และ เม็กซิโก