องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. หน่วยงานหลักในการส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของประเทศไทย ได้จัดกิจกรรม เวทีรวมพล…คนท่องเที่ยวโดยชุมชน CBT Forum by DASTA ตอน “Story Telling : รวมพล…ค้นความหมาย”
เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนแนวทางและประสบการณ์การดำเนินงานการท่องเที่ยวโดยชุมชนในประเทศไทย โดยในปี พ.ศ. ๒๕๖๑ อพท. มุ่งเน้น “Story Telling หรือ เรื่องราวของชุมชน” ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการยกระดับและเพิ่มมูลค่าทรัพยากรท้องถิ่น ผ่านกระบวนการชูคุณค่าอัตลักษณ์ของชุมชน
การออกแบบประสบการณ์การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ และการออกแบบการสื่อสารภาพลักษณ์ของชุมชน อันจะเชื่อมโยงประโยชน์จากการท่องเที่ยวไปยังชุมชนท้องถิ่นให้การท่องเที่ยวของประเทศไทยสามารถกระจายประโยชน์สู่ชุมชนอย่างแท้จริง
โดยพันเอก ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการ อพท. ได้กล่าวถึงแนวคิดการจัดงานครั้งนี้ว่า “การท่องเที่ยวโดยชุมชน เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่สำคัญในการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งและพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ซึ่ง อพท. มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการพัฒนาการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน
ซึ่งจำเป็นจะต้องก่อให้เกิดประโยชน์กับชุมชนท้องถิ่น ดังนั้น รูปแบบของการพัฒนาการท่องเที่ยวรูปแบบหนึ่งคือ การยกระดับและเพิ่มมูลค่าทรัพยากรท้องถิ่น ผ่านกระบวนการชูคุณค่าอัตลักษณ์ของชุมชนผ่านการถ่ายทอดเรื่องราวของชุมชนที่จะช่วยสร้างประสบการณ์และความประทับใจให้นักท่องเที่ยวได้รู้จักชุมชนอย่างลึกซึ้ง”

งานในครั้งนี้มีผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาวิชามาร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแบ่งปันแนวทางในการ “ค้นหาเรื่องราวของชุมชน” ผ่านนิทรรศการ และกิจกรรมเสวนาเกี่ยวกับ “เรื่องราวของชุมชน หรือ Story Telling” ในหัวข้อต่างๆ
เริ่มต้นด้วยเรื่องของ “กระบวนการค้นความหมาย…เรื่องเล่าชุมชน” โดยได้รับเกียรติจากนายสุเทพ เกื้อสังข์ รองผู้อำนวยการ อพท. นักพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน , ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จุฑามาศ วิศาลสิงห์ ประธานบริหารสมาคม Pacific Asia Travel Association (PATA Thailand Chapter) นักออกแบบประสบการณ์การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์,
รองศาสตราจารย์ อาวิน อินทรังษี รองคณบดีฝ่ายกิจกรรมพิเศษ คณะมัณฑนศิลป์ มามหาวิทยาลัยศิลปากร นักออกแบบการสื่อสารภาพลักษณ์ชุมชน และ ดร.แก้วตา ม่วงเกษม ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบริหารและสนับสนุนวิชาการ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล นักพัฒนาการนักสื่อความหมายชุมชน ร่วมเสวนาแบ่งปันประสบการณ์ครั้งยิ่งใหญ่
ตามด้วยการร่วมพูดคุยจาก 6 ตัวแทนชุมชน ได้แก่ ชุมชนคลองใหญ่ จ.ตราด, ชุมชนตะเคียนเตี้ย จ.ชลบุรี, ชุมชนหนองอ้อ จ.สุโขทัย, ชุมชนภูหลวง จ.เลย, ชุมชนม่วงตึ๊ด จ.น่าน และชุมชนดงเย็น จ.สุพรรณบุรี ขึ้นเสวนาร่วมกันในหัวข้อ “เวทีแบ่งปันเรื่องราวและประสบการณ์…ชุมชนคนเล่าเรื่อง” ด้วยบรรยากาศอันแสนอบอุ่น
และที่พลาดไม่ได้ คือการรวมพลนักเล่าเรื่องอีกหลากหลายวงการ มาร่วมถ่ายทอดเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวโดยชุมชนบนเวทีอย่างสนุกสนาน ในหัวข้อ “ต่อยอดยกระดับและเพิ่มมูลค่าชุมชน…ผ่านเรื่องเล่า” ได้แก่ คุณแดเนียล เฟรเชอร์ พิธีกรรายการนำเที่ยววิถีชุมชน นักเล่าเรื่องในมุมมองนักท่องเที่ยวต่างชาติกับชุมชนท่องเที่ยว,
คุณน็อต วรฤทธิ์ เฟื่องอารมย์ พิธีกร, นักแสดง และเจ้าของธุรกิจท่องเที่ยว นักเล่าเรื่องธุรกิจท่องเที่ยวกับชุมชน, คุณธนาวุฒิ ศุภางคะรัตน์ เจ้าของบริษัท SiamRise Travel ธุรกิจท่องเที่ยวหัวใจชุมชน นักเล่าเรื่องธุรกิจท่องเที่ยวกับชุมชน รวมทั้งคุณพัฒน์มาศ วงศ์พัฒนศิริ ผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชน อพท. นักพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนด้วย
การจัดงานได้รับกระแสตอบรับที่ดีเกินคาดจากหน่วยงานและองค์กรในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการทั้งภาครัฐและภาคเอกชน, ชุมชนต่างๆ, นิสิต นักศึกษาจากสถาบันการศึกษาต่างๆ และประชาชนทั่วไป ซึ่งมีผู้เข้าร่วมงานอย่างคับคั่งกว่า 300 คน
โดยภายในงาน อพท. ยังได้ยกตัวอย่างชุมชนที่คงไว้ด้วยเอกลักษณ์ดั้งเดิมมาจัดแสดงไว้ ส่งต่ออัตลักษณ์ วิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณี ให้ผู้มาร่วมงานได้ซึมซับและสัมผัสความเป็นชุมชนได้อย่างใกล้ชิด
ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 โซนด้วยกัน ประกอบด้วย
“โซนชุมชนคนเล่าเรื่อง” ยกระดับและเพิ่มมูลค่าทรัพยากรท้องถิ่นผ่านเรื่องเล่าของชุมชน โดย “นักสื่อความหมาย” ผู้ที่จะมาบอกเล่าประวัติความเป็นมา วิถีชีวิต วัฒนธรรม ของแต่ละชุมชนที่น่าสนใจ ได้แก่ ชุมชนคลองใหญ่ จ.ตราด, ชุมชนตะเคียนเตี้ย จ.ชลบุรี, ชุมชนหนองอ้อ จ.สุโขทัย, ชุมชนภูหลวง จ.เลย, ชุมชนม่วงตึ๊ด จ.น่าน และชุมชนดงเย็น จ.สุพรรณบุรี
“โซนสื่อสารภาพลักษณ์ชุมชน” การออกแบบภาพลักษณ์ของชุมชนดงเย็น จ.สุพรรณบุรี และชุมชนจีนโบราณชากแง้ว จ.ชลบุรี ให้สามารถถ่ายทอดเอกลักษณ์ เรื่องราวของชุมชนผ่านการออกแบบ เช่น ของฝากของที่ระลึก โลโก้ ป้ายสื่อความหมาย ซึ่งจะช่วยยกระดับชุมชนให้พร้อมต่อยอดสู่การตลาด
และ “โซนกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์” ที่หาดูได้ยากและควรค่าแก่การอนุรักษ์ ซึ่งผู้มาร่วมงานสามารถลงมือร่วมทำกิจกรรมต่างๆ ได้จริงได้แก่ การเรียนรู้การวาดลายสังคโลกบนผืนผ้า บ้านปรีดาภิรมย์ จ.สุโขทัย, การปั้นและเขียนลายสังคโลก โมทนาเซรามิก จ.สุโขทัย,
การทำพระพิมพ์ดินเผาบ้านลักษมณศิลป์ จ.สุโขทัย, การเรียนรู้การปั้นงานเซรามิกสุโขทัย จ.สุโขทัย, การเรียนรู้การทอผ้าจกไทยพวนสุนทรีผ้าไทย จ.สุโขทัย, การทำโคมมะเต้า บ้านม่วงตึ๊ด จ.น่าน, การทำตุงก้าคิง จ.น่าน, การทำจักสานบ้านต้าม จ.น่าน และการปักผ้าหน้าหมอน โฮงเจ้าฟองคำ จ.น่าน
การจัดงานเวทีรวมพล…คนท่องเที่ยวโดยชุมชน CBT Forum by DASTA ประจำปี 2561 ในครั้งนี้นับเป็นความสำเร็จในการร่วมกันขับเคลื่อนการท่องเที่ยวไทยให้ไปสู่ความยั่งยืนต่อไป