ธรรมาภิบาลเรื่องเร่งด่วน เพื่อขับเคลื่อน​ รัฐบาลดิจิทัล

ธรรมาภิบาลเรื่องเร่งด่วน เพื่อขับเคลื่อน​ รัฐบาลดิจิทัล

รัฐบาลดิจิทัล​ เกิด​ หลังการปรับปรุงและออกกฎหมาย ใหม่ๆ เพื่อการบริหารจัดการ​ข้อมูลของภาครัฐและเอกชนอีก 3 ฉบับ ฉบับแรก คือ ร่างพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารสาธารณะ

ซึ่งจะเป็นการปรับปรุงพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2540 ให้ทันสมัยและครอบคลุมมากขึ้น ส่วนอีกกฎหมายฉบับที่รอมานาน คือ ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่จะบังคับใช้ทั้งรัฐและเอกชน

ส่วนฉบับล่าสุดคือ ร่างพระราชบัญญัติข้อมูลความมั่นคงของรัฐและความลับของทางราชการ ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญปี 2560

สำนักงานพัฒนา​ รัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA ได้ดำเนินการและเตรียมพร้อมในเรื่องนี้  ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัลและการมุ่งสู่ Thailand 4.0  

นอกจากนี้ในยุคดิจิทัลข้อมูลจะเป็นอาวุธสำคัญของทุกสิ่งที่สามารถต่อยอดพัฒนาได้มากทีเดียว  จากการที่ประชาชนคนไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ตกว่า 80% แล้ว  

พร้อมกับนโยบาย National  e-Payment ที่ได้นำ QR Code มาใช้จ่ายเงินแทนการใช้เงินสดมีอัตราการใช้งานเพิ่มขึ้นและแพร่หลาย ซึ่งส่งผลให้จำนวนข้อมูลที่จะวิ่งผ่านระบบดิจิทัลต่างๆ ลื่นไหลขึ้น

แต่ประเด็นที่สำคัญในตอนนี้คือ เราจะจัดการข้อมูลดิจิทัลให้มีประสิทธิภาพ มีความมั่นคงปลอดภัย และที่สำคัญคือจะมีธรรมาภิบาลอย่างไรยิ่งกว่านั้นการเริ่มใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data และการใช้เทคโนโลยี อย่าง Cloud Computing  ในการจัดเก็บข้อมูล

ซึ่งจะทำให้รูปแบบการจัดการข้อมูลเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เราจึงต้องมีกรอบการจัดการธรรมาภิบาลข้อมูลของประเทศได้แล้ว 

คำว่าธรรมาภิบาลของข้อมูล หรือ Data Governance เป็นเรื่องไม่ใหม่แต่สำคัญมากสำหรับภาครัฐของไทย เพราะเราไม่เคยชินกับการใช้ข้อมูลในการดำเนินการที่ผ่านมามากนัก

เพราะการใช้กระดาษเป็นหลักทำให้หลายๆ ขั้นตอนของการจัดการข้อมูลไม่เป็นระบบ พอจะเปลี่ยนเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ กระบวนการที่ทำให้เกิดธรรมาภิบาลเลยต้องมาวางใหม่กันหมด

อีกอย่างคือวัฒนธรรมการใช้ข้อมูล ในการวางแผนยังมีน้อย อาจจะเป็นเพราะมีข้อมูลไม่เพียงพอต่อการวางแผน สิ่งที่มักจะเห็นคือการหารเฉลี่ยเป็นรายจังหวัด/อำเภอ/ตำบล/หมู่บ้าน 

ผลที่ได้รับของการจัดการข้อมูลที่มีธรรมาภิบาล คือ จะมีการแบ่งประเภทข้อมูลที่ชัดเจน เกิดมาตรฐานที่จำเป็น มีนโยบายการใช้งานที่เหมาะสม ตามประเภท

ไปจนถึงการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล สิ่งที่ได้ต่อไป คือเจ้าหน้าที่ภาครัฐจะมีความเข้าใจมากขึ้นในการใช้ข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ หน่วยงานเองก็จะได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานให้เหมาะสมกับยุคดิจิทัล

อาจจำเป็นต้องมีตำแหน่งผู้บริหารข้อมูลในระดับบริหาร หรือ Chief Data Officer ประจำหน่วยงาน แน่นอนกระบวนการทำงานก็จะเปลี่ยนไปด้วย นี่คือสิ่งที่เริ่มทำให้ภาครัฐเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล หรือ Digital Transformation นั่นเอง

บทความโดย​ ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA

Related Posts