ในช่วงเวลาที่ผ่านมา โรงกลั่นน้ำมัน แทบจะทุกโรงได้มีการนำ IoT เข้าไปใช้ฝังตามจุดต่างๆ เพื่อเป็นตัวเซ็นเซอร์ที่จะทำให้รับรู้ได้ว่าจุดใดกำลังมีปัญหา แต่สำหรับในปัจจุบันนี้โรงกลั่นน้ำมันต่างๆ ได้ก้าวไปสู่ “ธุรกิจโรงกลั่นอัจฉริยะ” (Intelligent Refinery)
ที่ได้มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างผลตอบแทนทางการเงิน และที่สำคัญยังใช้ในการจัดการปัญหาภัยคุกคามทางไซเบอร์ ที่เริ่มมีการพบการโจมตีในธุรกิจนี้กันบ้างแล้ว
ไซเบอร์ซีเคียวริตี้เริ่มมีการตั้งคำถามเรื่องนี้เพราะเริ่มมีการนำดิจิทัลเข้ามามากขึ้น โดยเฉพาะในกรณีถ้ามีคนเข้ามาเปลี่ยนสูตรการผสม หรือเปลี่ยนการควบคุมอาจจะส่งผลกระทบในการจ่ายน้ำมัน หรือทำให้เกิดการระเบิดได้ ซึ่งที่ผ่านมาเคยพบว่ามีการแฮค ในกระบวนการควบคุมการทำงานของโรงกลั่นกันบ้างแล้ว
“ธุรกิจโรงกลั่นอัจฉริยะในเมืองไทยปัจจุบัน อยู่ในช่วงเริ่มกระตือรือร้น น่าจะอีกสัก 2 ปี น่าจะเป็นดิจิทัลเต็มรูปแบบ แต่ยังตามหลังประเทศมาเลเซียอยู่แม้จะเริ่มต้นในระยะเวลาที่ไม่ต่างกันมาก เพราะเขามีแนวคิดที่ยอมรับในเรื่องนี้มากกว่าไทย
โดยปัญหาที่สำคัญของไทยคือการไม่กล้าลงทุนเยอะเพราะอยากรู้ว่าจะได้อะไรจากการลงทุนด้านดิจิทัล และบางทีด้วยพื้นฐานความคิด ทัศนคติที่ยังคงรูปแบบเดิมที่เน้นการทำด้วยคนแบบนิสัยของวิศวกร ยังไม่มั่นใจในเทคโนโลยี ก็จะต่อต้านในช่วงแรก
แต่พอเริ่มใช้ได้ 1 ปี ก็เริ่มเห็นผล และมองเห็นว่าเทคโนโลยีช่วยได้จริง ซึ่งการทำเรื่องไอทีแนวนโยบายของผู้บริหารต้องไปในแนวทางนี้ด้วยและต้องทำการพัฒนาคนไปด้วยกัน โดยเฉพาะจัดการเจนเนเรชันแกป”
อินทิรา เหล่ามีผล กรรมการผู้จัดการกลุ่มธุรกิจพลังงานและทรัพยากร เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย กล่าวว่า อุตสาหกรรมพลังงานจัดเป็นประเภทธุรกิจที่มีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนโฉม (disruption) ในอนาคตมากที่สุด
ดังนั้นการเพิ่มการลงทุนด้านดิจิทัลอย่างมียุทธวิธี จะช่วยพัฒนาประสิทธิภาพและผลการดำเนินงานและช่วยให้โรงกลั่นผ่านพ้นสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ โดยขณะนี้ธุรกิจเหล่านี้ได้เริ่มให้ความสำคัญและกำลังดำเนินการเพื่อใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลให้ได้อย่างเต็มที่
แต่ปัจจุบันพบว่าธุรกิจโรงกลั่นเกือบครึ่งหรือร้อยละ 48 ประเมินว่าได้ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในองค์กรเต็มที่หรือค่อนข้างเต็มที่แล้ว (เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 44 ในการสำรวจปีที่แล้ว) แต่ก็ยังไม่ได้ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลนอกเหนือจากระบบที่พัฒนาแล้วเช่น อนาลิติกส์
สำหรับการเพิ่มเม็ดเงินลงทุนในเทคโนโลยีดิจิทัลของกิจการมากกว่าครึ่งหรือร้อยละ 59 ที่สำรวจในปีนี้ มีสัดส่วนใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา โดยกิจการต่าง ๆ ได้ลงทุนด้านดิจิทัลมากขึ้นหรือมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยเฉพาะผลตอบแทนทางการเงิน เมื่อเทียบกับการลงทุนในระยะ 12 เดือนที่ผ่านมา
นอกจากนี้ 3 ใน 4 หรือร้อยละ 75 ของผู้ตอบแบบสำรวจยังมีแนวโน้มเพิ่มการลงทุนอีกในช่วง 3 – 5 ปีนับจากนี้ ซึ่งมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 60 ของผู้ตอบในปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่ายังมีความต้องการเทคโนโลยีดิจิทัลอีกมาก

ผู้ตอบแบบสำรวจร้อยละ 41 ระบุว่า บริษัทของตนมองเห็นผลตอบแทนทางการเงินที่ได้จากการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้แล้ว ซึ่งรวมถึงกลุ่มที่มีสัดส่วนร้อยละ 30 ที่ยอมรับว่าเทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำให้อัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 7 ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา
นอกจากนี้ร้อยละ 20 ของผู้ตอบยังกล่าวว่าเทคโนโลยีดิจิทัลช่วยเพิ่มมูลค่าของธุรกิจได้ 50 – 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรืออาจมากกว่านั้น ส่วนผู้ตอบหนึ่งในสามหรือ ร้อยละ 33 ระบุว่า มูลค่าที่เพิ่มขึ้นอยู่ในช่วง 5 – 50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
อินทิรา กล่าวว่า เมื่อถามถึงเทคโนโลยีดิจิทัลที่ผลักดันให้อัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นมากที่สุดสำหรับธุรกิจโรงกลั่น ผู้ตอบส่วนใหญ่ระบุว่าเป็นระบบควบคุมกระบวนการปฏิบัติงานที่ทันสมัย และระบบวิเคราะห์อนาลิติกส์ที่ก้าวหน้า ซึ่งเป็นตัวเลือกที่ผู้ตอบร้อยละ 61 และ ร้อยละ 50 ตามลำดับ
ซึ่งเป็นสองเทคโนโลยีที่คาดว่าจะมีการลงทุนในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ในขณะที่เทคโนโลยีอื่นๆที่จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้น เช่น เซนเซอร์เทคโนโลยี IoT เอดจ์คอมพิวติ้ง (edge computing) เทคโนโลยีความจริงผสม (mixed reality) เทคโนโลยีโมบิลิตี้ (mobility) บล็อกเชน/สมาร์ตคอนแทร็กส์ (blockchain / smart contract) จะนำมาใช้เพียงบางส่วนหรือใช้เป็นโครงการนำร่อง จึงมีแนวโน้มว่าจะได้รับการจัดสรรเงินทุนน้อยกว่า เมื่อเทียบกับเทคโนโลยีที่ใช้อยู่แล้ว
“ปัจจุบันนี้ ธุรกิจโรงกลั่นนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น เมื่อเทียบกับศักยภาพที่แท้จริงที่ดิจิทัลสามารถทำได้ ดังนั้นสิ่งที่ควรทำต่อไปคือ การผสานและใช้งานเทคโนโลยีต่างๆอย่างเต็มที่
เพื่อพัฒนากระบวนการต่าง ๆ ในธุรกิจใหม่ และปรับเปลี่ยนการทำงานในโรงงานทั้งหมด ซึ่งรายงานล่าสุดของเอคเซนเชอร์เรื่อง ดัชนีชี้วัดระดับความเสี่ยงของธุรกิจต่อการถูกเปลี่ยนโฉม (Disruptability Index)”
นอกเหนือไปจากการลงทุนด้านดิจิทัลเพื่อให้ได้รับผลตอบแทนที่เป็นตัวเงินแล้ว ขณะนี้เริ่มมีการคุกคามทางไซเบอร์ที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้องค์กรต้องยกระดับความสามารถของระบบรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์
โดยร้อยละ 28 ของผู้ตอบแบบสำรวจระบุว่า เล็งเห็นภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่เพิ่มขึ้นมากกว่าปีที่ผ่านมา ส่วนที่น่ากังวลที่สุดคือการดำเนินงานในองค์กรต่างๆ เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันมากกว่าในอดีต ซึ่งกลายเป็นเป้าสำหรับภัยคุกคามหลายลักษณะ โดย 1 ใน 3 หรือร้อยละ 33 ของผู้ตอบยอมรับว่า ไม่ทราบจำนวนการโจมตีทางไซเบอร์ว่าเกิดขึ้นจริง ๆ แล้วกี่ครั้ง
ร้อยละ 38 ของผู้ตอบยอมรับว่า ความปลอดภัยทางข้อมูลเป็นอุปสรรคต่อการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในองค์กร โดยความเสี่ยงที่ผู้ตอบแบบสำรวจเห็นว่ามีส่วนสัมพันธ์กับความปลอดภัยทางไซเบอร์คือ ผลกระทบต่อการดำเนินงาน ร้อยละ 67 ผลกระทบต่อสุขภาพและความปลอดภัยของคนทำงาน ร้อยละ 39 และการละเมิดข้อมูล ร้อยละ 39
แต่มีผู้บริหารเพียงร้อยละ 28 ที่ระบุให้เครื่องมือด้านดิจิทัลที่เข้ามาเพิ่มสมรรถนะความปลอดภัยทางไซเบอร์ เป็น 1 ใน 3 เรื่องสำคัญที่สุดในการลงทุนด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และร้อยละ 67 ของผู้ตอบกังวลว่าดิจิทัลจะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มอัตรากำไรได้อย่างไรร้อยละ 64 และกังวลว่าการลงทุนด้านดิจิทัลที่ไม่จริงจัง อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการดำเนินงานอย่างไร ร้อยละ 58
อินทิรากล่าว การจะก้าวไปข้างหน้าได้ก็ต้องเริ่มการลงทุนตั้งแต่วันนี้ เพื่อวางพื้นฐานความสามารถในการรักษาความปลอดภัย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญยิ่งต่อการป้องกับระบบการดำเนินงานต่าง ๆ ในอนาคต
เพราะยิ่งเทคโนโลยีดิจิทัลทำให้เกิดการเชื่อมโยงกันมากขึ้น มีความเสี่ยงและเป็นเป้าโจมตีได้ง่ายขึ้น ก็ยิ่งจำเป็นต้องลงทุน อย่างน้อยก็ต้องให้ก้าวหน้ากว่าภัยคุกคามทางไซเบอร์ต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้น