NIA บินตรงสหรัฐมุ่งหารือ 4 หน่วยงานส่งเสริมด้านนวัตกรรมภาครัฐและเอกชน รัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา หวังร่วมมือกับบริษัทชั้นนำร่วมพัฒนานวัตกรรมในประเทศไทย เผยในอนาคตจะมีความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ
อาทิ Lux Research บริษัทผู้ให้บริการด้านการวิจัยและให้คำปรึกษาด้านธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ Pennovation หรือศูนย์บ่มเพาะและสร้างสรรค์นวัตกรรม สามารถนำมาใช้เป็นต้นแบบในการพัฒนาระบบนิเวศตอบโจทย์ธุรกิจสมัยใหม่ของคนยุคใหม่ เชื่อมโยงการสนับสนุนอื่น อาทิ การวิจัยในภาคธุรกิจ การเชื่อมโยงธุรกิจในรูปแบบคลัสเตอร์
ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ด้านระบบนวัตกรรม กล่าวว่า เพื่อสนับสนุนนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมให้เกิดขึ้นอย่างจริงจังในประเทศไทย ล่าสุดคณะทำงานด้านการส่งเสริมนวัตกรรมได้เดินทางไปยังนครฟิลาเดลเฟีย รัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา
เพื่อสรรหาความร่วมมือด้านการพัฒนาระบบนวัตกรรมในประเทศไทย ซึ่งสหรัฐอเมริกาถือว่ามีความก้าวหน้าอย่างมาก โดยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 3 ของโลกในเรื่องของการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรม ซึ่ง 4 หน่วยงานสำคัญที่ NIA ได้เข้าพบเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้รูปแบบการดำเนินงานและเชื่อมโยงความร่วมมือประกอบด้วย
Startup PHL ซึ่งเป็น Venture Capital จัดตั้งขึ้นจากความร่วมมือของ The City of Philadelphia, Department of Commerce และ The Philadelphia Industrial Development Corporation (PIDC) เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของฟิลาเดลเฟีย ที่ช่วยสนุบสนุนผู้ประกอบการ Startup ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน
จัดหากองทุนเพื่อการดำเนินธุรกิจ รวมถึงช่วยให้ Startup สามารถเข้าถึงเทคโนโลยี และให้การอบรมด้านการประกอบธุรกิจ ซึ่งจะเป็นหน่วยงานเครือข่ายสำคัญหน่วยงานหนึ่งในอนาคตของ Startup Thailand ในการเข้าถึงด้านดังกล่าวต่อไป
บริษัท Lux Research เป็นบริษัทที่ให้บริการด้านการวิจัยและให้คำปรึกษาด้านธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ มีข้อมูลคุณภาพจากทีมนักวิเคราะห์ที่เชี่ยวชาญ มีองค์ประกอบทั้งนักวิจัยการตลาด นักวิทยาศาสตร์ และวิศวกร ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของบริษัท
รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาชั้นนำในการผลักดันและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในตลาดโลก โดยความร่วมมือในอนาคตจะมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูลและรูปแบบในการจัดระบบและพัฒนานิเวศนวัตกรรมในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ รวมทั้งสนับสนุนการวางแผนพัฒนาด้านดังกล่าวให้เกิดขึ้นอย่างทั่วถึงในประเทศไทย
Pennovation ศูนย์บ่มเพาะและสร้างสรรค์นวัตกรรม ที่เน้นการสร้างปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินการของผู้ประกอบการใหม่ตั้งแต่เริ่มกระบวนการสร้างแรงบันดาลใจจนถึงขั้นปฏิบัติ จัดเป็น Co-Working Space ที่มีเครื่องมืออุปกรณ์และห้องทดลองที่ครบครัน
สามารถสนับสนุนการขึ้นต้นแบบชิ้นงานและการทำวิจัยในเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องได้จนถึงขั้นของการวิจัยตลาดเพื่อออกสู่เชิงพาณิชย์ ซึ่งนับว่าเป็นรูปแบบการจัดการที่สมบูรณ์และมีความทันสมัย
โดยประเทศไทยสามารถใช้เป็นต้นแบบในการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมเพื่อสอดรับกับการสร้างสรรค์ธุรกิจสมัยใหม่ของคนยุคใหม่ได้เป็นอย่างดี
The Science Center เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ที่เป็นศูนย์กลางด้านการวิจัยเชิงนวัตกรรมและการใช้เทคโนโลยีเชิงพาณิชย์ ให้การช่วยเหลือและให้บริการด้านเครื่องมือเทคโนโลยี ห้องปฏิบัติการทดลองวิจัยและให้คำปรึกษาพร้อมจัดหาแหล่งเงินทุนแก่นักนวัตกรรม ผู้ประกอบการ และ Startup
มีความร่วมมือกับศูนย์วิจัย ห้องปฏิบัติการทดลอง และสถาบันการศึกษา มากกว่า 31 แห่ง มีโปรแกรมการพัฒนานักวิจัยและผู้ประกอบการตั้งแต่การบ่มเพาะเรื่อง STEAM สำหรับเยาวชน ไปจนถึงการสร้างความสามารถของผู้ประกอบการ
ซึ่งเรื่องดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ในการแลกเปลี่ยนเพื่อแสวงหาแนวทางในการพัฒนานักนวัตกรรมของไทย รวมถึงการสนับสนุนโปรแกรม STEAM4INNOVATOR ของ NIA ที่ปัจจุบันกำลังใช้โปรแกรมดังกล่าวในการบ่มเพาะเยาวชนให้ก้าวสู่การเป็นสตาร์ทอัพ และผู้ประกอบการด้านธุรกิจนวัตกรรม
ดร.กริชผกา กล่าวทิ้งท้ายว่า สหรัฐอเมริกายังถือเป็นประเทศชั้นนำด้านซิลิคอน วัลเลย์ ซึ่งมีบริษัท และสถาบันการศึกษาด้านเทคโนโลยีชั้นนำ ตลอดจนผู้ประกอบการธุรกิจ นักลงทุน และแรงงานในตลาดงานสายเทคโนโลยีที่มากที่สุดของโลก
ซึ่งไทยสามารถนำมาเป็นต้นแบบในการพัฒนาในด้านดังกล่าวหรืออื่นๆ ที่สอดคล้องได้ นอกจากนี้ หากในอนาคตมีความร่วมมือเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางและจริงจังมากขึ้น คาดว่าจะมีปัจจัยอื่นๆ ที่สามารถเชื่อมโยงการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาได้อีก
อาทิ ด้านการเงิน (Venture Capital) การวิจัยในภาคธุรกิจ การเชื่อมโยงธุรกิจในรูปแบบคลัสเตอร์ การสร้างข้อมูลที่น่าเชื่อถือเพื่อใช้ในการพัฒนาระบบนวัตกรรมซึ่งปัจจัยต่างๆ เหล่านี้สหรัฐอเมริกาถือเป็นผู้นำอันดับ 1 ของโลก