เยือน “วังน้ำเขียว” ชมแปลงเกษตรอินทรีย์ท่ามกลางโอโซน

เยือน “วังน้ำเขียว” ชมแปลงเกษตรอินทรีย์ท่ามกลางโอโซน

ถ้าเอ่ยถึงอำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา นักท่องเที่ยวมักจะคุ้นเคยกับสถานที่ที่มีโอโซนติดอันดับ 1 ใน 7 ของโลก อากาศดี แต่รู้หรือไม่ว่าวังน้ำเขียวเป็นแหล่งปลูกผักและผลไม้ที่สำคัญแห่งหนึ่ง ที่มีการปลูกและดูแลอย่างถูกต้องตามหลักเกษตรอินทรีย์

โดยเกษตรกรที่นี่ใช้ชีวภัณฑ์ทดแทนสารเคมี เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นสิ่งมีชีวิตที่ใช้ในการควบคุมศัตรูพืช แถมยังเฝ้าระวังแมลงศัตรูพืชด้วยการแจ้งเตือนผ่านทาง LINE กลุ่ม ที่จะสามารถแจ้งสมาชิกให้ป้องกันได้ทัน เพราะที่นี่ผลิตผักอินทรีย์จะเน้นการป้องกันมากกว่ากำจัด

ชีวภัณฑ์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ใช้ในการควบคุมศัตรูพืช ได้แก่ ตัวห้ำ ตัวเบียน และเชื้อจุลินทรีย์ ซึ่งหลักๆ ที่นิยมใช้มี 3 ชนิด คือ เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า เป็นเชื้อราทำลายเชื้อโรคพืช ส่วนเชื้อราบิวเวอร์เรีย และเชื้อราเมตตาไรเซียน เป็นเชื้อราทำลายแมลงศัตรูพืช

โดยกรมส่งเสริมการเกษตรมีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมและเจ้าหน้าที่ด้านอารักขาพืชประจำอยู่ในพื้นที่ ทั้งจากสำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรอำเภอ และศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช นครราชสีมา ทำหน้าที่เข้าไปถ่ายทอดความรู้การผลิตและใช้ชีวภัณฑ์อย่างถูกต้องเหมาะสม

นายประสงค์ ประไพตระกูล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า วังน้ำเขียวมีธรรมชาติที่สมบูรณ์ นักท่องเที่ยวต่างก็อยากมาสัมผัสบรรยากาศและชื่นชมธรรมชาติ ส่วนที่ตามมาคือเรื่องความต้องการอาหาร ผัก ผลไม้ ดังนั้น การผลิตพืชผลทางการเกษตรที่นี่จึงจำเป็นต้องเน้นความปลอดภัย

วังน้ำเขียว

ซึ่งสิ่งที่กรมส่งเสริมการเกษตรเข้ามาดำเนินการในพื้นที่นี้คือการส่งเสริมให้เกษตรกรมีการปฏิบัติทางการเกษตรดีที่เหมาะสม ตามมาตรฐาน GAP รวมทั้งการทำเกษตรอินทรีย์ โดยเฉพาะเรื่องการจัดการศัตรูพืชที่กรมส่งเสริมการเกษตรเน้นให้เกษตรชีวภัณฑ์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ใช้ในการควบคุมศัตรูพืช ซึ่งนอกจากจะได้ผลดีแล้วยังช่วยลดต้นทุนการผลิต สร้างความปลอดภัยทั้งต่อตัวเกษตรกรและผู้บริโภค อีกทั้งยังช่วยรักษาสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้น

โดยในเรื่องของการปลูกผักนั้นได้ใช้แปลงติดตามสถานการณ์ศัตรูพืช หรือแปลงพยากรณ์ศัตรูพืช เป็นหนึ่งในวิธีการอารักขาพืชหรือการบริหารจัดการศัตรูพืช ที่กรมส่งเสริมการเกษตร นำมาใช้เป็นเครื่องมือในการสำรวจติดตาม และเฝ้าระวังศัตรูพืช

เพื่อสามารถพยากรณ์หรือคาดการณ์แนวโน้มที่จะเกิดการระบาดของศัตรูพืช และเตือนภัยแก่เกษตรกรได้ทันท่วงที นำไปสู่การเลือกวิธีการจัดการศัตรูพืชอย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น รวมไปถึงลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรได้ด้วย และแปลงพยากรณ์ศัตรูพืชนี่เอง ที่ช่วยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผักอินทรีย์วังน้ำเขียวจัดการโรคแมลงได้ผลดีเกินคาด

วังน้ำเขียว

ปัจจุบันพื้นที่อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา เป็นแหล่งปลูกผักและผลไม้ที่สำคัญแห่งหนึ่ง อย่างเช่น วิสาหกิจชุมชนผักอินทรีย์แปลงใหญ่นิคมเศรษฐกิจพอเพียง บ้านคลองบงพัฒนา อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ที่มีการใช้แปลงพยากรณ์ศัตรูพืช ในการป้องกันศัตรูพืชและแจ้งเตือนภัยสถานการณ์ศัตรูพืชให้กับสมาชิกกลุ่มได้ทราบ จึงได้บริหารจัดการได้ทันท่วงที

“การใช้ประโยชน์จากแปลงพยากรณ์ในการจัดการศัตรูพืชได้ผลถึง 80% อีก 20% ขึ้นกับสภาพอากาศที่เราควบคุมไม่ได้ กรมส่งเสริมการเกษตรจึงแนะนำให้เกษตรกรทำแปลงพยากรณ์ทุกฤดูกาลผลิต โดยพืชผักกำหนดขนาดพื้นที่ประมาณ 1 งาน เกษตรกรต้องสำรวจและสุ่มนับจำนวนแมลงอย่างน้อย 10 จุด

เพื่อดูว่าแมลงที่พบมีทั้งตัวดี (ศัตรูธรรมชาติ) หรือแมลงไม่ดี (ศัตรูพืช) มีอะไรบ้าง ถ้าพบศัตรูพืชมากกว่าจะต้องแจ้งเตือนการระบาดศัตรูพืชโดยใช้ธงสัญลักษณ์ติดอยู่ที่ป้ายแปลง มีทั้งหมด 3 สี คือ ธงสีเขียว หมายถึง สถานการณ์ศัตรูพืชปกติ ธงสีเหลือง หมายถึง เฝ้าระวัง ธงสีแดง หมายถึง พบศัตรูพืชระบาด จากนั้นต้องแจ้งเตือนให้สมาชิกรับทราบโดยทั่วกัน เพื่อหาวิธีป้องกันต่อไป”

วังน้ำเขียว

ว่าที่ร้อยโท ธีรภัทร ศรีคงอยู่ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สำนักงานเกษตรอำเภอวังน้ำเขียว กล่าวว่า สำนักงานเกษตรอำเภอวังน้ำเขียวได้เข้ามาส่งเสริมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผักอินทรีย์แปลงใหญ่นิคมเศรษฐกิจพอเพียง บ้านคลองบงพัฒนา

ตั้งแต่การให้ความรู้การทำเกษตรปลอดภัยด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวภัณฑ์กับโรคหรือศัตรูพืชให้ถูกต้องและเหมาะสม จัดทำแปลงพยากรณ์ศัตรูพืช เพื่อใช้วางแผนการบริหารจัดการศัตรูพืช เพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิต เมื่อพบเจอแมลงศัตรูพืชหรือโรคแมลง ก็จะได้แจ้งเตือนให้สมาชิกทราบ สามารถใช้ชีวภัณฑ์ได้ตรงกับชนิดของแมลงและโรคนั้นๆ ทำให้เกษตรกรจัดการศัตรูพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยพบว่าเกษตรกรที่นี่เชื่อมั่นว่าแปลงพยากรณ์ทำแล้วได้ผล จึงขยายการทำเกษตรอินทรีย์ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา จากเริ่มต้นสมาชิก 10 คน ก็ขยายมาเรื่อยจนตอนนี้มีสมาชิก 34 คน ในการเพาะปลูกผักระบบอินทรีย์ นำมาซึ่งความปลอดภัยของผู้บริโภคและรายได้ของเกษตรกรที่เพิ่มขึ้น

เดิมที่ขายผักมาตรฐานเกษตรปลอดภัย GAP เฉลี่ยอยู่ที่ 35-40 บาทต่อกก. แต่พอขยับมาเป็นมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ราคารับซื้อตามมาตรฐานที่สูงขึ้นเป็น 70 บาทต่อกก. ผลผลิตมีคุณภาพ มีตลาดรองรับที่แน่นอน ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของสมาชิกกลุ่มดีขึ้นตามลำดับ

วังน้ำเขียว

ด้านนางจิรัชญา วงศ์ทิม ประธานวิสาหกิจชุมชนผักอินทรีย์แปลงใหญ่นิคมเศรษฐกิจพอเพียง บ้านคลองบงพัฒนา อ.วังน้ำเขียว เล่าว่า สมาชิกของกลุ่มได้ประโยชน์จากแปลงพยากรณ์ศัตรูพืชอย่างมาก เวลาเจอแมลงศัตรูพืชก็สามารถแจ้งสมาชิกให้ป้องกันได้ทัน

โดยทางกลุ่มจะมี LINE กลุ่มสำหรับแจ้งเตือนให้สมาชิกทราบสถานการณ์ศัตรูพืชระบาดทันที กลุ่มจะเน้นผลิตผักสลัด ผักพื้นบ้าน ส่งให้กับบริษัทเอกชนเป็นหลัก เน้นการตลาดนำการผลิต คือรับออเดอร์จากตลาดมาก่อนแล้วจึงมาวางแผนการผลิตกับสมาชิก

โดยแบ่งการผลิตตามความเหมาะสมของสมาชิกแต่ละรายเนื่องจากทักษะการปลูกพืชแต่ละชนิดไม่เหมือนกัน เพื่อให้ผลผลิตมีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาด ที่สำคัญสมาชิกจะช่วยกันติดตามแปลงพยากรณ์เพื่อเฝ้าสังเกตการระบาดของศัตรูพืชอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้นอกจากจะใช้ชีวภัณฑ์ในการป้องกันแล้ว กลุ่มจะลดปัญหาศัตรูพืชระบาดโดยหลีกเลี่ยงปลูกพืชชนิดนั้นๆ ในช่วงที่พบการระบาดมาก เช่น ฤดูร้อนแมลงระบาดมากก็จะไม่ปลูกถั่ว หรือผักกวางตุ้ง เป็นต้น

“เราทำผักอินทรีย์ ต้องใช้ชีวภัณฑ์ในการป้องกันศัตรูพืชและโรคพืช 100% ซึ่งทางกลุ่มได้การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์จากกรมวิชาการเกษตร ทำให้ผลผลิตเป็นที่ต้องการของตลาด จนผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการ

ซึ่งขณะนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกรมส่งเสริมการเกษตรให้ทำโรงเรือนจำนวน 50 โรงเรือน จึงเชื่อมั่นว่าจะสามารถขยายการผลิตผักอินทรีย์รองรับความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ที่สำคัญจะพัฒนาการผลิตเมล็ดพันธุ์ผักสลัดใช้เอง เนื่องจากตอนนี้ต้องซื้อในกก.ละ 20,000 บาท ถ้าเราผลิตเองจะลดต้นทุนส่วนนี้ได้อีกมาก หากสำเร็จก็จะขยายไปสู่เมล็ดพันธุ์ผักชนิดอื่นที่มีราคาสูง”

เช่นเดียวกับเกษตรกรผู้ปลูกพุทรานมสด ต.วังหมี อ.วังน้ำเขียว ได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากการทำการเคมีหันมาใช้ชีวภัณฑ์ในการควบคุมโรคและแมลงศัตรูพืช ต้นทุนลดลง ผลผลิตมีความปลอดภัยสามารถจำหน่ายได้ราคาที่สูงขึ้น

ที่สำคัญคือสุขภาพดีขึ้นกว่าตอนใช้เคมีเกิดการขยายผลไปยังกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียง โดยได้มีการตั้งเป้าว่าผลผลิตที่ออกจากพื้นที่นี้ต้องปลอดสารเคมี ซึ่งดำเนินการมาได้ประมาณ 3 ปีแล้ว มีเกษตรกรได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP และมีบางรายได้ยกระดับไปสู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์

นางปาลิดา นารีนุช เกษตรกร ต.วังหมี อ.วังน้ำเขียว ผู้ใช้ชีวภัณฑ์ในการควบคุมศัตรูพืชในแปลงพุทรานมสด กล้วย และพืชผักต่างๆ เล่าให้ฟังว่า ตอนแรกทำพืชไร่เชิงเดี่ยวตามครอบครัวและใช้สารเคมีอย่างเดียว พอมาปี 2550 เริ่มปรับเปลี่ยนจากพืชเชิงเดี่ยวมาปลูกพุทรานมสดแทน แต่ก็ยังใช้สารเคมีอย่างเดิม

ต่อมาเริ่มมีอาการแพ้สารเคมี สุขภาพเริ่มย่ำแย่จึงคิดหาวิธีอื่นทดแทน จึงได้เข้าไปรับการอบรมการใช้ชีวภัณฑ์ทดแทนสารเคมีจากสำนักงานเกษตรอำเภอ ซึ่งระยะแรกเป็นระยะปรับเปลี่ยนก็จะใช้ชีวภัณฑ์ควบคู่กับสารเคมี เมื่อใช้ไปสักพักก็เห็นข้อแตกต่างว่าสารเคมีชนิดหนึ่งจะใช้กับศัตรูพืชเฉพาะตัวนั้น และต้องแยกกันฉีด เป็นการเพิ่มต้นทุน ขณะที่เชื้อราบิวเวอร์เรียตัวเดียวจบควบคุมศัตรูพืชได้ทุกชนิด

การปลูกพุทรานมสดมีศัตรูพืชแต่ละช่วงฤดูไม่เหมือนกัน อย่างช่วงฝนตกชุกจะมีปัญหาโรคแอนแทรคโนส แต่ก่อนใช้สารเคมีเอาไม่อยู่เชื้อโรคยังขยายตัวได้ แต่พอมาใช้ไตรโคเดอร์ม่าช่วยได้เห็นผลชัดเจน ฉะนั้นตอบโจทย์เราได้อย่างดี ต้นทุนไม่สูงเพราะเราทำใช้เองได้ โดยมีเจ้าหน้าที่จาก ศทอ.นครราชสีมา มาให้ความรู้และแนะนำวิธีการผลิตชีวภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานอยู่ตลอดเวลา ส่งผลดีต่อผลผลิตที่ได้มีคุณภาพมากขึ้นด้วย

“ตอนที่ใช้สารเคมีเนื้อพุทราจะน่วมมีน้ำเยอะ พอมาใช้ชีวภัณฑ์ทำให้เนื้อแน่น รสชาติหวานอร่อย รูปทรงดี สามารถจำหน่ายได้ในราคาที่สูงขึ้น จากเดิมอยู่ที่ราคากิโลกรัมละ 40 บาท ตอนนี้ขายอยู่ที่ 60 บาท ทำให้คุณภาพชีวิตเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น จึงเชื่อมั่นในการใช้ชีวภัณฑ์ควบคุมศัตรูพืชว่าได้ผลดีจริง จนต้องผลิตไว้ใช้เองทุกสัปดาห์ตลอดทั้งปี”

กรมส่งเสริมการเกษตรได้เริ่มขยายการผลิตพืชผักอินทรีย์ไปแล้วในระดับหนึ่ง และกำลังขยายให้กว้างขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับตัวเกษตรกรเองที่เริ่มใช้เทคโนโลยีอย่างแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนมาใช้งานเพื่อสร้างความสะดวกและรวดเร็ว

ซึ่งแม้จะดูเหมือนเป็นเพียงการใช้เทคโนโลยีทางด้านดิจิทัลเพียงเล็กน้อย แต่เชื่อว่าหากเริ่มใช้งานพื้นฐานเป็นแล้ว การต่อยอดไปสู่ดิจิทัลในด้านอื่นอย่างเช่นการค้าขายบนโลกออนไลน์คงใช้เวลาไม่นาน ติดปัญหาเพียงอย่างเดียวคือ ตอนนี้ที่ผลิตอยู่ก็ไม่เพียงพอต่อออเดอร์แล้ว

Related Posts