กสิกรไทย เป็นธนาคารพาณิชย์แห่งแรกของประเทศไทยที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นองค์กรที่ไม่ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยได้ร่วมลงนามซื้อขายคาร์บอนเครดิตของกลุ่มมิตรผลเป็นจำนวน 100,000 ตัน และได้กำหนดเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินงานของธนาคารลงร้อยละ 20 ภายในปี 2563 เทียบกับปีฐาน 2555
ซึ่งในเบื้องต้นธนาคารสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ร้อยละ 8 จากปีฐาน 2555 และจะพยายามดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุผลตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
ทั้งนี้แม้ในเมืองไทยจะยังไม่มีการกำหนดเรื่องคาร์บอนเครดิตให้กับธุรกิจต่างๆ ต้องปฏิบัติตาม แต่การตื่นตัวตามเทรนด์ต่างประเทศที่อ้างเรื่องสิ่งแวดล้อมก็กลายเป็นประเด็นที่น่าสนใจ เพราะสามารถสร้างภาพลักษณ์ที่ดีขึ้นได้สำหรับองค์กรต่างๆ ที่เข้ามาร่วมในกิจกรรมนี้
เช่นเดียวกับธนาคารกสิกรไทยที่แม้จะไม่สามารถวัดได้ว่าธุรกิจของธนาคารได้สร้างมลพิษมากน้อยแค่ไหน แต่การเข้ามาร่วมซื้อในครั้งนี้ก็ทำให้ภาพลักษณ์ของธนาคารดีขึ้นอีกในสายตานักลงทุนระดับโลก
นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารกสิกรไทยให้ความสำคัญต่อการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และมีแนวทางการดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิดการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนที่ครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
นอกจากการทำกิจกรรมชดเชยคาร์บอนเป็นศูนย์ด้วยการสนับสนุนคาร์บอนเครดิตจาก บริษัท มิตรผล ไบโอ-เพาเวอร์ จำกัด (ด่านช้าง) บล็อค (2) ซึ่งถือว่าเป็นความร่วมมือกันเพื่อผลักดันไปสู่สังคมเศรษฐกิจ คาร์บอนต่ำ (Low Carbon Economy) และการเติบโตอย่างยั่งยืนแล้ว
ธนาคารยังพร้อมที่จะเป็นกลไกทางการเงินเพื่อพลักดันให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมตระหนักถึงผลกระทบของปัญหาภาวะโลกร้อนด้วยเช่นกัน
“การส่งเสริมให้ประชาชนใช้บริการทางการเงินต่างๆ ผ่านทางแอปพลิเคชัน K PLUS เป็นส่วนหนึ่งที่ธนาคารเล็งเห็นว่าจะช่วยบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อนได้ เพราะช่วยลดการเดินทาง ลดการใช้กระดาษ ที่จะก่อให้เกิดมลพิษจากกิจกรรมเหล่านั้น รวมไปถึงยังมีการสนับสนุนทางการเงินเพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน
และสนับสนุนผู้ประกอบการเพื่อดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งทุกโครงการที่ธนาคารสนับสนุนสินเชื่อจะต้องผ่านการพิจารณาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนอย่างรอบคอบ ตามกระบวนการประเมินความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ของธนาคาร”
ทั้งนี้การซื้อคาร์บอนเครดิตของธนาคารกสิกรไทยเกิดขึ้นในพิธีลงนามการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ประจำปี พ.ศ. 2561 ที่องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ร่วมกับกลุ่มมิตรผลจัดขึ้น
เพื่อกระตุ้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน ภายใต้โครงการ “ลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย” (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER)
โดยนอกจากธนาคารกสิกรไทยแล้วยังมีองค์กรอื่นๆ ที่ร่วมกันทำกิจกรรมชดเชยคาร์บอนเครดิตอย่าง บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน), โรงแรมศิวาเทล กรุงเทพฯ, บริษัท สแครทซ์ เฟิร์สท์ จำกัด (Wonderfruit), ธนาคารแห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านกลยุทธ์ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
นางประเสริฐสุข จามรมาน ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. กล่าวว่า อบก.ในฐานะองค์กรที่สนับสนุนและส่งเสริมการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกแก่ภาคส่วนต่างๆ ได้พัฒนาโครงการ “ลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย” (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER)
ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วน มีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศโดยความสมัครใจ โดยสามารถนำปริมาณการลด/ดูดซับก๊าซเรือนกระจกที่ได้รับการรับรอง ที่เรียกว่า “คาร์บอนเครดิต” ซึ่งภายใต้โครงการ T-VER นี้เรียกว่า “TVERs” ไปขายในตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจภายในประเทศได้
โดย อบก. ได้กำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนในการพัฒนาโครงการ ระเบียบวิธีการในการลดก๊าซเรือนกระจก (Methodology) การขึ้นทะเบียนและการรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจก เพื่อสนับสนุนให้ทุกภาคส่วน
โดยเฉพาะผู้พัฒนาโครงการรายเล็ก มีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศโดยความสมัครใจ ขณะที่ไม่ต้องผ่านขั้นตอนที่ซับซ้อนและมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าโครงการลดก๊าซเรือนกระจกตามกลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism: CDM) ภายใต้พิธีสารเกียวโต
“ข้อมูลล่าสุดเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตจากโครงการ T-VER รวมทั้งสิ้นกว่า 200,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า จาก 5 ประเภทโครงการ ได้แก่ ชีวภาพ ชีวมวล พลังงานน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์ และการนำความร้อนเหลือทิ้งกลับมาใช้
ซึ่งนอกจากจะเป็นการใช้วัตถุดิบด้านพลังงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด ยังเป็นการสร้างรายได้เพิ่มให้กับผู้พัฒนาโครงการ อีกทั้งยังกระตุ้นให้เกิดขยายตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจภายในประเทศ โดยปัจจุบันมีมูลค่าการซื้อขายกว่า 6.2 ล้านบาท”
ด้านนายกฤษฎา มนเทียรวิเชียรฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มมิตรผล ผู้ขายคาร์บอนเครดิตรายใหญ่ของประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันมิตรผลมีปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรองรวม 489,217 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
จากการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ของโรงไฟฟ้ามิตรผล ไบโอเพาเวอร์ อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี และยังคงเดินหน้าขยายการดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมามิตรผลได้มุ่งการพัฒนาต่อยอดคุณค่าจากอ้อยเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในทุกกระบวนการผลิตด้วยแนวคิด Value Creation
เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด นำไปสู่การต่อยอดสู่ธุรกิจอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ไฟฟ้า เอทานอล วัสดุทดแทนไม้ และ Bio-Based ซึ่งการดำเนินธุรกิจทั้งหมดนั้นล้วนให้ความสำคัญกับการดำเนินงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเสมอมา กลุ่มมิตรผลจึงมุ่งมั่นสู่การสร้างสังคมคาร์บอนต่ำอย่างต่อเนื่อง
ผลการดำเนินงานโครงการ T-VER ของกลุ่มมิตรผลที่ผ่านมา มีผู้ซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อทำกิจกรรมชดเชยคาร์บอนและแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม จำนวน 26 องค์กร ประกอบด้วย หน่วยงานภาคเอกชน จำนวน 15 องค์กร ภาครัฐ จำนวน 9 องค์กร และรัฐวิสาหกิจ จำนวน 2 องค์กร
โดยมีการขายคาร์บอนเครดิตไปแล้วกว่า 190,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือคิดเป็นประมาณ 90% ของตลาดคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยตามมาตรฐาน T-VER