รมช.กระทรวงอุตฯ ลงพื้นที่เยี่ยมชมศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 ระดับจังหวัด (Mini ITC) ใน 3 จังหวัดภาคเหนือ ประกอบด้วย จังหวัดน่าน จังหวัดพะเยา และจังหวัดเชียงราย เพื่อให้ความช่วยเหลือ บ่มเพาะ และต่อยอดธุรกิจ SMEs ผ่านการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่ผู้ผลิตระดับชุมชนและผู้ประกอบการ
ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานในการรองรับการบริการด้านนวัตกรรม การแปรรูป การออกแบบ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ ดัน SMEs ไทยในธุรกิจยุค 4.0 สู่มาตรฐานสากล พร้อมแข่งขันได้ในตลาดโลก
นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เราได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 ภายใต้ โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปและอุตสาหกรรมอาหารครบวงจร เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานในการรองรับการบริการ
โดยพุ่งเป้าไปที่การส่งเสริมนวัตกรรม การแปรรูป การออกแบบ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ ตลอดจนบรรจุภัณฑ์ ให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs และวิสาหกิจชุมชนในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
อีกทั้งยังยกระดับการบริการของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสู่การเป็น “ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 ระดับจังหวัด (Mini ITC)” เพื่อให้ความช่วยเหลือ บ่มเพาะ และต่อยอดธุรกิจ SMEs ไทย สู่ยุค 4.0 ผ่านการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่ผู้ผลิตระบบชุมชนและผู้ประกอบการ SMEs
โดยเป็นการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ที่มากขึ้น สอดคล้องกับความต้องการของตลาดทั้งในด้านรูปลักษณ์ บรรจุภัณฑ์ รวมถึงสินค้าอาหารปลอดภัยตามมาตรฐานสากล
ทั้งนี้ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ‘ITC’ จะถูกเปิดให้ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ ประกอบด้วย ศูนย์ ITC ส่วนกลาง ๑ แห่ง, ศูนย์ ITC ระดับภูมิภาค 12 แห่ง และศูนย์ Mini ITC 64 แห่ง
ซึ่งขณะนี้ได้เปิดให้บริการศูนย์ Mini ITC อย่างเป็นทางการแล้วจากเครือข่ายกระทรวงที่มีอยู่เดิม ซึ่งการทำงานของศูนย์ Mini ITC จะเน้นการให้บริการเบื้องต้น FRONT DESK รับความต้องการจากผู้ประกอบการให้บริการด้านการออกแบบชิ้นงาน แล้วส่งต่อให้ส่วนการผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรน เพื่อการออกแบบที่ตรงความต้องการต่อไป
แต่หากศูนย์ไหนมีนักออกแบบภายในศูนย์เอง ก็จะออกแบบให้บริการได้ทันที แต่หากผลิตภัณฑ์มีรายละเอียดที่ซับซ้อนก็ยังสามารถส่งต่อเข้าส่วนกลางเป็นลำดับขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นกัน
โดยศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ‘ITC’มีการให้บริการ 4 ด้าน ดังนี้
- ITC Match: เป็นศูนย์กลางการจับคู่ธุรกิจ เชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจ
- ITC Innovation: บริการสาธิต อบรม บ่มเพาะ เพื่อให้เกิดนวัตกรรม เปิดมุมมองการปรับเปลี่ยนธุรกิจ
- ITC Share: รวมบริการเครื่องมือ เครื่องจักร เพื่อสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่ม
- ITC Fund: บริการปรึกษาแนะนำสินเชื่อที่เหมาะสมกับธุรกิจ พร้อมทั้งเชื่อมโยงส่งต่อความต้องการไปยังศูนย์ ITC ระดับภูมิภาค (FRONT OFFICE) ที่ตั้งอยู่ในศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรม และศูนย์ ITC ส่วนกลาง (HEAD OFFICE)
ด้านนางอารีย์ เพ็ชรรัตน์ ผู้ประกอบการ บริษัท ถั่วลิสง จำกัด ผู้เข้ารับบริการส่งเสริมจากศูนย์ Mini ITC เปิดเผยว่า เราเข้ารับบริการศูนย์แห่งนี้เพื่อขยายตลาดผลิตภัณฑ์ผลไม้อบแห้ง โดยได้รับการสนับสนนุนที่รวดเร็ว นับตั้งแต่การเข้าพูดคุยเจรจา พร้อมเสร็จสู่ต้นแบบผลิตภัณฑ์ ด้วยระยะเวลาเพียง 2 สัปดาห์เท่านั้น
อีกทั้งยังมีความสะดวกในการเข้าประสานความร่วมมือ เนื่องจากมีศูนย์ให้ติดต่อได้ภายในจังหวัดเอง และไม่ใช่เพียงให้คำปรึกษา แต่ยังช่วยออกแบบพร้อมผลิตบรรจุภัณฑ์ต้นแบบ หรือตามที่ผู้ประกอบการนั้นๆต้องการ โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายอีกด้วย นับเป็นการช่วยลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการในการขยายตลาดสินค้าที่เพิ่มขึ้นได้อย่างสะดวก
แต่กระนั้นศูนย์แห่งนี้ ปัจจุบันยังขาดงบประมาณในการดำเนินงานต่อเนื่อง ซึ่งยังมีผู้ประกอบการอีกหลายรายที่ต้องการรับการช่วยเหลือ โดยกลุ่มสินค้าเกษตรแปรรูปของจังหวัดน่านเรามีการรวมกลุ่มกันอยู่ราว 50 ราย ซึ่งสามารถเข้ารับบริการได้อยู่เพียง 20 กว่ารายเท่านั้น โดยมีเพียง 4-5 รายที่ทำสำเร็จออกมาแล้ว
ดังนั้นความต่อเนื่องของโครงการที่มีประโยชน์เช่นนี้ อยากให้หน่วยงานรัฐให้การสนับสนนุอย่างต่อเนื่อง และขยายไปสู่การสร้างณุปแบบการตลาดเพื่อให้ผู้ประกอบการได้เข้าสู่ตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ได้ง่ายขึ้นด้วย
ทั้งนี้ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 ระดับจังหวัด (Mini ITC) ได้ดำเนินงานเพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน
เพื่อรองรับการบริการด้านเทคโนโลยี นวัตกรรมการผลิตการออกแบบ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ ให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs และวิสาหกิจชุมชนในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป
ด้วยนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ กิจกรรมการสร้างความรับรู้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่เรื่องการสร้างมูลค่าเพิ่มอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและการใช้บริการในศูนย์ ITC ระดับจังหวัด และการให้คำปรึกษาแนะนำ
ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์และการดำเนินธุรกิจในเบื้องต้น ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการ SMEs และ
กลุ่มวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ให้เข้ามาใช้บริการอย่างต่อเนื่องเป็นจำนวนมาก จากข้อมูลเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2561
มีผู้ประกอบการได้รับการบริการทั่วประเทศแล้ว 27,619 ราย
ส่วนใหญ่เข้ามาใช้บริการขอศึกษาดูงานและ การฝึกอบรม ประมาณ 11,121 ราย การบริการในเรื่องการออกแบบผลิตภัณฑ์ 465 ราย การสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบ 240 ราย การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ 208 ราย การให้บริการเครื่องจักรกลาง 275 ราย
และการแปรรูปการเกษตรและอาหาร 174 ราย และรอรับบริการสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบและออกแบบผลิตภัณฑ์ 111 ราย และในส่วนการให้บริการ ณ ศูนย์ Mini ITC มีจำนวน 11,730 ราย