สวก.ผนึกแม่โจ้และมิตรผล นำก๊าซพิษเพิ่มผลผลิตสไปรูลินา

สวก.ผนึกแม่โจ้และมิตรผล นำก๊าซพิษเพิ่มผลผลิตสไปรูลินา

ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นมลพิษที่ก่อให้เกิดปัญหาโลกร้อนที่นับว่าเป็นปัญหาสำคัญอย่างมากหากไม่มีการควบคุมที่ดี แต่ก็ใช่ว่าก๊าซชนิดนี้จะสร้างปัญหาเพียงอย่างเดียว เพราะเราสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการลดต้นทุนการผลิตสาหร่ายสไปรูลิน่า พืชที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย

และสามารถต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้อย่างคาดไม่ถึง ซึ่งการใช้ก๊าซชนิดนี้สามารถเพิ่มผลผลิตได้มากกว่า 1 เท่าตัวเมื่อเทียบกับการใช้วิธีเลี้ยงแบบเดิม นับเป็นอีก 1 ความสำเร็จที่ สวก.ได้จับมือกับ ม.แม่โจ้และมิตรผลในการนำงานวิจัยบนหิ้งออกมาสร้างประโยชน์ได้จริง

“สาหร่ายสไปรูลินา (Spirulina platensis) เป็นสาหร่ายขนาดเล็กมีคุณค่าทางโภชนาการสูง เป็นแหล่งโปรตีน มีอะมิโนโปรตีนที่จำเป็นซึ่งร่างกายไม่สามารถผลิตได้เอง เช่น ไอโซลิวซีน ลูซีน ไลซีน เมไธโอนีน เทรโอนีน ในปริมาณที่สูงกว่าเนื้อสัตว์ มีวิตามินจำพวกเบตาคาโรทีนสูงกว่าในผักถึง 25 เท่า

ประกอบด้วยธาตุเหล็กในปริมาณมากกว่าตับ 28 เท่า และเป็นแหล่งรวมของวิตามินบี 12 จึงได้รับความนิยมใช้เป็นวัตถุดิบหลักสำหรับผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โดยภาครัฐส่งเสริมให้มีการเพาะเลี้ยงในเชิงพณิชย์เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด”

“ระบบฟาร์มเลี้ยงสาหร่ายสไปรูลินาอัจฉริยะ” เป็นโครงการที่สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. ได้ให้ทุนสนับสนุนกับคณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในการพัฒนาออกแบบระบบทางวิศวกรรมเพื่อส่งเสริมการผลิตสาหร่ายสไปรูลินาแบบครบวงจรตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

ก๊าซ
นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร

ก่อนจะต่อยอดมาสู่โครงการวิจัย “การพัฒนาเทคโนโลยีดักจับและควบคุมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอุตสาหกรรมผลิตเอทานอล เพื่อใช้เพาะเลี้ยงสาหร่ายสไปรูลินาด้วยระบบฟาร์มสาหร่ายอัจฉริยะ” ที่ได้ร่วมมือกับมิตรผลเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ก้าวไปอีกขั้น

นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร กล่าวว่า การพัฒนาสู่สมาร์ทฟาร์มครั้งนี้ใช้ระบบการเลี้ยงแบบเดิมแต่ผสมนวัตกรรมใหม่ เป็นการนำก๊าซคาร์บอนกลับมาใช้ ลดก๊าซคาร์บอนไดอกไซด์ที่จะถูกปล่อยสู่บรรยากาศ สามารถลดก๊าซเรือนกระจกต้นเหตุของปัญหาโลกร้อน

และที่สำคัญคือช่วยลดต้นทุนการเลี้ยงสาหร่าย เนื่องจากปัจจัยที่จะทำให้สาหร่ายเติบโตต้องการสารอาหาร ถ้าไม่พอเขาจะสังเคราะห์แสงเพิ่มเติม ซึ่งการใช้คาร์บอนไดออกไซด์เข้ามาช่วยจะทำให้เติบโตเร็วขึ้นประมาณ 30% และไม่ต้องเติมสารอาหารที่เป็นต้นทุนหลักถึง 60%”

โดยหากเทียบการเลี้ยงในบ่อปกติ 36 ตารางเมตร ปริมาตร 9 คิว เลี้ยงในระยะ 14 วัน จะได้ผลผลิต 6 กิโลกรัม (เปียก) หรือได้ 4 กิโลกรัม (แห้ง) ที่ขายได้กิโลกรัมละ 3,000 บาท แต่หลังจากที่ใช้ในระบบนี้จะได้ผลผลิต 12 กิโลกรัม (เปียก) ได้ 8 กิโลกรัม (แห้ง) ช่วยสร้างรายได้มากกว่าเดิมถึง 8,000 พันบาท โดยมีต้นทุนที่เลี้ยง 330 บาทต่อตารางเมตร

ก๊าซ

“โครงการนี้จะเป็นโครงการที่ต่อยอดงานวิจัยสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ นับเป็นการยกระดับกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมสาหร่ายสไปรูลินาให้มีมาตรฐานระดับสากลของกระบวนการผลิตอาหาร ระบบอาหารอินทรีย์ และระบบอาหารปลอดภัย ซึ่งสามารถพัฒนาต่อยอดไปสู่ระบบตรวจสอบย้อนกลับได้

ยกระดับฐานะของชุมชน กลุ่มวิสาหกิจที่เพาะเลี้ยงสาหร่ายให้มีรายได้สูงขึ้น มีการควบคุมคุณภาพสินค้าอาหารที่ดี และสามารถต่อยอดในการนำเทคโนโลยีดักจับและควบคุมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอุตสาหกรรมผลิตเอทานอลสำหรับฟาร์มสาหร่ายสไปรูลินาอัจฉริยะไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้อีกด้วย”

รศ.ดร.สมเกียรติ จตุรงค์ล้ำเลิศ คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ หัวหน้าโครงการระบบฟาร์มเลี้ยงสาหร่ายสไปรูลินาอัจฉริยะ กล่าวว่า หลังจากที่โครงการได้ทำการพัฒนาฟาร์มเลี้ยงที่ประกอบด้วยระบบเปิดและระบบปิดที่ได้มาตรฐานตามข้อกำหนดของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) ต้นทุนผลิตต่ำ

สามารถต่อยอดไปสู่การผลิตในเชิงพาณิชย์ได้แล้ว ก็ได้เข้ามาร่วมมือกับมิตรผลทำการพัฒนาพัฒนาเทคโนโลยีดักจับและควบคุมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอุตสาหกรรมผลิตเอทานอลเพื่อการเลี้ยงสาหร่าย ตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา

โดยระบบควบคุมภายในฟาร์มสาหร่ายอัจฉริยะดังกล่าว ประกอบด้วย ระบบควบคุมอุณหภูมิและความชื้น (Temp/Rh control) ซึ่งสามารถควบคุมอุณหภูมิและความชื้นภายในบ่อเลี้ยงสาหร่ายได้

โดยการติดตั้งพัดลมระบายอากาศ ระบบควบคุมความเป็นกรดด่างและการจ่ายคาร์บอนไดออกไซด์ (pH control & CO2) สามารถเป็นแหล่งอาหารเสริมคาร์บอน และใช้ควบคุมความเป็นกรดด่างของบ่อเลี้ยงสาหร่ายให้เหมาะสมตลอดเวลา

ก๊าซ

ระบบหมุนเวียนน้ำด้วยระบบแสงอาทิตย์ (Solar cell for paddle wheel) เป็นระบบทางเลือกเพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไฟฟ้าของมอเตอร์ขับใบพัดหมุนเวียนน้ำ ระบบควบคุมการสังเคราะห์แสงจากหลอดแอลอีดี (LED control for PAR) เป็นระบบควบคุมคุณภาพและความเพียงพอในการสังเคราะห์แสงแดดจากธรรมชาติ

ซึ่งมีระบบตรวจวัดและตั้งค่าการเปิดแสงจากหลอดแอลอีดีซึ่งได้ตั้งสภาวะที่เหมาะสมกับการสังเคราะห์แสงของสาหร่ายไว้แล้ว ระบบเก็บเกี่ยวสาหร่ายขนาดเล็กในปริมาณมาก (Microalgae harvesting) จะช่วยลดต้นทุนแรงงานกับเวลาที่ใช้ในการผลิตเชิงพาณิชย์

“นอกเหนือไปจากการพัฒนาผลผลิตแล้วจะมีการประเมินผลทางเศรษฐศาสตร์ในระดับอุตสาหกรรมและประเมินผลในด้านการช่วยลดภาวะโลกร้อน นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จในการบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา โดยเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนตามแนวคิดนโยบายประชารัฐ”

ด้านนายทรงศักดิ์ ฤกษ์หริ่ง ผู้จัดการฝ่าย Bio Chemical บริษัท มิตรผล ไบโอฟูเอล จำกัด กล่าวว่า สวก.และมิตรผลได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัย พัฒนาและต่อยอดเทคโนโลยีการวิจัยการเกษตร เพื่อการทำเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน โดยจะร่วมกันพัฒนาให้ได้เทคโนโลยี นวัตกรรม ที่สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อภาคการเกษตร

โดยความร่วมมือนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาการดำเนินงานของทุกธุรกิจบนแนวคิดการจัดการแบบยั่งยืนของกลุ่มมิตรผล จากแนวคิด ‘From Waste to Value’ สู่การต่อยอดคุณค่า หรือ ‘Value Creation’ ด้วยการนำส่วนที่เหลือจากทุกกระบวนการผลิตมาทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด

“มิตรผลพร้อมสนับสนุนต่อยอดโครงการที่มีประโยชนและให้เกษตรกรนำไปใช้ได้ โดยโครงการนี้เป็นสร้างมูลค่าเพิ่มให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากกระบวนผลิตในอุตสาหกรรมเอทานอล ที่ปกติจะถูกดูดซับวนกลับเข้าสู่ระบบการปลูกอ้อยอีกครั้ง แต่กลุ่มมิตรผลเรามีแนวคิดที่จะนำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

จึงได้พัฒนาเทคโนโลยีดักจับและควบคุมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอุตสาหกรรมผลิตเอทานอล เพื่อนำมาใช้ในการเพาะเลี้ยงสาหร่ายสไปรูลินาด้วยระบบฟาร์มสาหร่ายอัจฉริยะที่จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ก่อนจะนำไปถ่ายทอดเป็นองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรต่อไป”

Related Posts