ประจิณ นำครม.สัญจรเน็ตประชารัฐลุยน่าน เผยติดตั้งไปแล้ว 141 หมู่บ้าน รวมถึงได้จัดอบรมให้กับผู้นำและประชาชนในพื้นที่ เพื่อสร้างการรับรู้และส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากโครงข่ายเน็ตประชารัฐจำนวน 566 คน ปัจจุบันมีสถิติการใช้งานตามจุดติดตั้งเน็ตประชารัฐของจังหวัดน่านเฉลี่ย/จุด/เดือนประมาณ 120 ครั้ง
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ปัจจุบันโครงการเน็ตประชารัฐ รัฐบาลโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ขยายติดตั้งอินเทอร์เน็ตผ่านเคเบิลใยแก้วนำครอบคลุม 24,700 หมู่บ้านทั่วประเทศ
โดยมีระยะทางโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงยาวถึง 109,467 กิโลเมตร สามารถเพิ่มการเข้าถึงเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้กับประชาชนถึง 443,756 จุด
“น่านเป็นจังหวัดในกลุ่มยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคเหนือตอนบน ซึ่งมีแผนพัฒนาการท่องเที่ยวให้มีคุณภาพเป็นฐานผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์โดยลดการใช้สารเคมี และใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ฟื้นฟูธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้คืบความอุดมสมบูรณ์
รวมถึงการส่งเสริมสร้างรายได้ในรูปแบบของกลุ่มอาชีพและกลุ่มวิสาหกิจชุมชน รองรับการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเอง ได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีมีคุณภาพ”
โดยพื้นที่จังหวัดน่านได้ติดตั้งตามโครงการฯ จำนวน 141 หมู่บ้าน รวมถึงได้จัดอบรมให้กับผู้นำและประชาชนในพื้นที่ เพื่อสร้างการรับรู้และส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากโครงข่ายเน็ตประชารัฐจำนวน 566 คน ทั้งนี้ ปัจจุบันมีสถิติการใช้งานตามจุดติดตั้งเน็ตประชารัฐของจังหวัดน่านเฉลี่ย/จุด/เดือนประมาณ 120 ครั้ง
สำหรับตำบลบ่อสวกได้ติดตั้งโครงข่ายเน็ตประชารัฐไปแล้วจำนวน 4 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ 11 นาปงพัฒนา/หมู่ 5 ซาวหลวง/ หมู่ 7 นามน และหมู่ 8 หนองโต
ปัจจุบัน ชุมชนบ่อสวกนับเป็นต้นแบบของชุมชนในจังหวัดน่าน ที่ประสบความสำเร็จมีการพัฒนาไปสู่ฐานผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์โดยลดการใช้สารเคมี และรวมถึงมีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการสร้างพัฒนาและสร้างมูลค่าให้กับสินค้าในชุมชน โดยชุมชนและคนในชุมชนมีความร่วมมือสอดประสาน มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น
และมีการพัฒนาส่งเสริมการประกอบอาชีพ ต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์สู่โอทอป นวัตวิถี และพร้อมที่จะขับเคลื่อนไปข้างหน้าร่วมกัน เพื่อนำชุมชนไปสู่ความยั่งยืนในอนาคตโดยมีภาครัฐให้การสนับสนุน
น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ รองปลัดกระทวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า การติดตั้งขยายโครงข่ายเน็ตประชารัฐของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ดำเนินการแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1. การติดตั้งขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (FTTx) จำนวน 24,700 หมู่บ้าน ที่ระดับความเร็วไม่ต่ำกว่า 30 Mbps/10 Mbps (Download/Upload)
โดยรัฐบาลมีโนบายที่จะเปิดให้ผู้ให้บริการที่ได้รับใบอนุญาตจากสำนักงาน กสทช. สามารถเชื่อมต่อจากโครงข่ายเน็ตประชารัฐไปยังบ้านเรือนของประชาชน (Open Access Network)
และ 2.การติดตั้งให้บริการอินเทอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูง โดยไม่คิดค่าใช้บริการกับประชาชนและชุมชนอย่างน้อยหมู่บ้านละ 1 จุด
ที่ระดับความเร็วไม่ต่ำกว่า 30 Mbps/10 Mbps (Download/Upload)
โดยมีระยะรับสัญญาณบริการอินเทอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูง ขึ้นกับอุปกรณ์ที่ใช้งาน อาทิ โทรศัพท์มือถือ-แท็บเล็ต ใช้ได้ไกลจากจุดติดตั้ง wifi ประมาณ 20-30 เมตร และโน๊ตบุค ใช้ได้ไกลจากจุดติดตั้ง wifi ประมาณ 50-80 เมตร ซึ่งปัจจุบันมีประชาชนลงทะเบียนสมัครใช้งานเน็ตประชารัฐ จำนวนกว่า 4,500,000 ราย
นอกจากนี้ เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้งานจากโครงข่ายเน็ตประชารัฐได้อย่างมีคุณภาพ กระทรวงดีอี ได้จัดตั้งศูนย์บริหารจัดการโครงข่ายเน็ตประชารัฐ Real-time ซึ่งเป็นระบบการบำรุงรักษาเครือข่ายและอุปกรณ์ให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานตลอดเวลา
ซึ่งระบบจะตรวจสอบสถานการณ์ทำงานของโครงข่ายและอุปกรณ์ พร้อมแสดงข้อมูลแบบเวลาจริง (real-time) และประมวลผลการใช้งานแบบอัตโนมัติ (Auto Refresh) ทุก 10 นาที ซึ่งเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ จะแก้ไขปัญหาหรือส่งต่อเพื่อดำเนินการแก้ทันที
ทั้งนี้ ภายในศูนย์ฯ จะมี Call Center หมายเลข 1111 กด 88 รับแจ้งเหตุขัดข้อง ให้ข้อมูลตอบข้อซักถาม และแนะนำปรึกษาการใช้งานเบื้องต้นตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงเจ้าหน้าที่เทคนิคที่จะเฝ้าระวัง ให้คำแนะปรึกษาปัญหาจากการใช้งานอินเทอร์เน็ต และแก้ไขปัญหาเหตุขัดข้องให้สามารถใช้งานได้ตามปกติโดยเร็ว