สสช.พร้อมสร้าง Official Statistics ก่อนต่อยอดสูู่ BIG DATA

สสช.พร้อมสร้าง Official Statistics ก่อนต่อยอดสูู่ BIG DATA

การดำเนินงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติที่ผ่านมา แม้จะมีการเก็บข้อมูลในหลายรูปแบบและสามารถนำข้อมูลต่างๆ มาใช้งานได้จริง แต่ยังไม่ได้เป็นข้อมูลเชิงลึกที่จะสามารถนำมาคิดวิเคราะห์สำหรับการพัฒนาประเทศได้

และดูเหมือนจะยังเดินหน้าไปได้ไม่เท่าไรนักหากยังคงทำงานรูปแบบเดิม เนื่องจากยังคงติดขัดปัญหาหลากหลายประการ แต่สำหรับปีงบประมาณ 2562 นี้ ดูเหมือนว่าสำนักงานสถิติฯ จะเริ่มรุกด้านการจัดเก็บข้อมูลให้สามารถลงรายละเอียดได้เพิ่มมากขึ้น

Official Statistics หรือสถิติทางการ เป็นเป้าหมายแรกที่สถิติจะเริ่มดำเนินการและใช้เป็นเครื่องมือในการก้าวเข้าสู่การบริหารจัดการข้อมูลที่สามารถนำมาต่อยอดและประมวลผลได้ สามารถใช้ข้อมูลเพื่อใช้ในการตัดสินใจและกำหนดนโยบายได้อย่างถูกต้อง

รวมถึงใช้ในการขับเคลื่อนประเทศในยุค 4.0 ก่อนที่จะนำไปสู่การใช้งานของข้อมูลในระดับ BIG DATA ที่จะช่วยให้การบริหารจัดการในทุกๆ ด้านของประเทศเป็นไปได้ง่ายขึ้น

นายภุชพงค์ โนดไธสง ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) กล่าวว่า สสช. พร้อมที่จะพัฒนา Official Statistics เพื่อใช้ข้อมูลเป็นเครื่องมือหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ และจะเป็นทั้งเครื่องมือเพื่อเป็นตัวชี้วัดและติดตาม เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันพัฒนาและแก้ไขปัญหาบนพื้นฐานของข้อมูล

Official Statistics

โดยพร้อมที่จะยกระดับองค์กรให้เป็นศูนย์กลางข้อมูลสถิติและสารสนเทศเพื่อการตัดสินใจของประเทศ ภายใน 1 ปี มุ่งผลิตข้อมูลสำคัญสำหรับทำตัวชี้วัดของประเทศ และผลักดันการสร้างมาตรฐานของข้อมูลเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลสถิติได้ แก้ปัญหาการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างภาครัฐที่ปัจจุบันทำได้ยากเพราะไม่ได้จัดเก็บบนมาตรฐานเดียวกัน

สิ่งที่จะทำเป็นลำดับแรกคือ การปรับปรุงพระราชบัญญัติสถิติ พ.ศ. 2550 เพื่อส่งเสริมการจัดเก็บข้อมูลที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะสามารถ ร่าง พ.ร.บ. ฉบับแก้ไขแล้วเสร็จประมาณเดือน ก.พ.2562 หลังจากนั้นจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2562 เพื่อเห็นชอบในหลักการ ก่อนที่จะนำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อไป

“กฏหมายฉบับนี้ทำให้การขับเคลื่อนทางด้านข้อมูลมีปัญหา ไม่มีความชัดเจน และทำให้หลายงานไม่สามารถดำเนินการได้ อย่างเช่น การขอข้อมูลจากหน่วยงานอื่นจะไม่สามารถได้อย่างละเอียด ขาดความร่วมมือในการเก็บข้อมูล ทำให้การเก็บข้อมูลไม่สมบูรณ์ รวมถึงการตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ทำได้ยาก

Official Statistics

อย่างเช่น การขอข้อมูลประชากรจะได้แค่บ้านเลขที่ ไอดีบ้าน แต่จะไม่ได้รายละเอียดอื่นๆ ดังนั้นต้องทำการแก้ไขปัญหาในส่วนของกฏหมายที่จะต้องออกเพื่อบังคับในการให้ข้อมูลมีความละเอียดมากขึ้น”

ส่วนงานต่อไปนั้นจะทำการเป็น “ศูนย์ข้อมูลสถิติจังหวัด” โดยพัฒนาข้อมูลตั้งแต่ “พื้นที่” สู่ “ประเทศ” เริ่มพัฒนาข้อมูลตั้งแต่ระดับพื้นที่ ซึ่งเดิมจัดเก็บอยู่แล้วแต่อยู่ในรูปของสมุดสถิติจังหวัด ที่จัดเก็บและให้บริการในรูปแบบที่สามารถนำไปประมวลผลต่อได้

โดยให้ใช้กลไกการพัฒนาข้อมูลในระดับพื้นที่ผ่านการทำงานแบบเครือข่ายสถิติที่ได้สร้างขึ้นใหม่ที่เรียกว่า “สถิติอำเภอ” เพื่อทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงคุณมาดีในการประสานงานข้อมูลในพื้นที่และผนวกรวมกับเครือข่ายเดิมคือ คณะกรรมการสถิติจังหวัดที่มีท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน

สมุดสถิติจะมีข้อมูลพื้นฐาน 21 สาขา เป็นข้อมูลพื้นฐานระดับจังหวัด ซึ่งจะมีข้อมูลหลากหลายซึ่งสำนักงานสถิติฯ ทำมาแล้วกว่า 20 ปี และมีการออกรายงานเป็นประจำทุกปี และแต่ละปีข้อมูลจะต่อเนื่องกัน

ซึ่งจะผลักดันให้เกิดการพัฒนาข้อมูลที่ตอบโจทย์ความต้องการของแต่ละจังหวัดและแต่ละพื้นที่มากขึ้น ตั้งเป้าปีหน้าแต่ละจังหวัดต้องมีอย่างน้อย 1 ฐานข้อมูลที่สมบูรณ์ จากนั้นจะนำมาต่อแล้วเชื่อมกับฐานข้อมูลกลางของจังหวัด และเชื่อมมาถึงส่วนกลาง ก็จะกลายเป็นเนชันแนลดาต้าได้

“การเก็บข้อมูลจะเข้าสู่รูปแบบ “e-Survey” ลดการส่งพนักงานสนามออกจัดเก็บข้อมูล นำเทคโนโลยีมาใช้ในการสำรวจข้อมูลมากขึ้น ผ่านเครือข่ายคุณมาดีที่สร้างไว้แล้วครบทุกหมู่บ้าน เพื่อคอยกระตุ้นและให้ความรู้เหมือนเป็นพี่เลี้ยงให้กับคนในชุมชนเพื่อให้ข้อมูลผ่าน e-Survey

Official Statistics

โดยในปี 2562 จะเป็นการนำร่องเลือกจังหวัดนครราชสีมาและนครสวรรค์ที่เป็นจังหวัดใหญ่สำหรับทำการเก็บข้อมูลในรูปแบบนี้ก่อน ส่วนใน 2563 เราจะทำทั้งประเทศหรือ 22 ล้านครัวเรือน โดยจะส่งจดหมายไปให้ตอบกลับมา ตั้งเป้าไว้ 50% ส่วนที่ไม่ตอบกลับจะให้คุณมาดีจะต้องไปดำเนินการต่อ”

นายภุชพงค์ กล่าวว่า การบริหารจัดการข้อมูลผ่านรหัสมาตรฐานและ Data Catalogue เป็นสิ่งที่จะทำไปพร้อมกัน ซึ่งปัจจุบันเมืองไทยมีระบบสถิติแบบกระจายงาน คือหน่วยงานภาครัฐต่างก็จัดทำข้อมูลสถิติตามการใช้ประโยชน์และภารกิจของตนเอง ในขณะที่รัฐบาลต้องการใช้ประโยชน์จากข้อมูลผ่านการบูรณาการข้อมูลร่วมกัน

ซึ่งทำได้ยากเนื่องจากแต่ละหน่วยงานต่างกำหนดรหัสในการจัดทำข้อมูลที่แตกต่างกัน รหัสมาตรฐานจึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาข้อมูลให้สามารถบูรณาการและใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ เพราะแค่รหัสเพศชาย ก็มีตั้งแต่ “0” “1” “M” ซึ่งขณะนี้สำนักงานสถิติฯ ได้ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวไประดับหนึ่งแล้วและเตรียมรอเสนอ ครม. เพื่อประกาศใช้ต่อไป

เช่นเดียวกับ Data Catalogue หรือ Data Directory จะเป็นฐานข้อมูลที่รวบรวมรายการข้อมูลสถิติที่สำคัญและบ่งชี้ว่าอยู่ในการดูแลของหน่วยงานใด เพราะปัจจุบันข้อมูลต่างก็กระจายไปอยู่ตามที่ต่างๆ ซึ่งหากสำเร็จแล้วจะช่วยให้ผู้ใช้รู้สึกว่าข้อมูลไม่ได้หายากอีกต่อไป

นอกจากนี้ สสช. ยังมีโครงการอื่นที่สำคัญ เช่น การใช้ Big data เพื่อพัฒนาข้อมูล Official Statistics การพัฒนาการให้บริการแบบ SMART Services การพัฒนาระบบภูมิสารสนเทศสถิติ (NSO-GIS) โครงการระบบการจัดเก็บข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานระดับพื้นที่เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนในลุ่มน้ำทั่วประเทศ

และโครงการสำมะโนประชากรและเคหะที่จะถึงในปี 2563 นี้ ซึ่งล้วนแล้วแต่จะต้องเร่งผลักดันเพื่อ Upgrade หรือหาวิธีการใหม่ๆ ภายใต้ยุคดิจิทัลนี้เพื่อผลักดันสู่การปฏิวัติข้อมูลภาครัฐต่อไป

“ปี2562 สสช. ได้รับงบประมาณทั้งสิ้น มากกว่า 900 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินเดือนของบุคลากร ประมาณ 600 ล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณจากการส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจข้อมูล ประมาณ 300 ล้านบาท งบประมาณการลงทุน

อาทิ การพัฒนาการสำรวจแบบอิเล็กทรอนิกส์ ประมาณ 20 ล้านบาท ซึ่งการพัฒนาการจัดเก็บข้อมูลแบบอิเล็กทรอนิกส์จะช่วยลดงบประมาณจากการส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลได้ในอนาคต”

Related Posts