เซนไฮเซอร์ แนะ 5 สิ่งต้องมี เลือกหูฟังอย่างไรให้โดนโดน

เซนไฮเซอร์ แนะ 5 สิ่งต้องมี เลือกหูฟังอย่างไรให้โดนโดน

เสียงเป็นเรื่องราวของไลฟ์สไตล์อย่างหนึ่งที่สะท้อนตัวตนของผู้ฟัง การเลือกหูฟังเพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของแต่ละคนก็เป็นศาสตร์อย่างหนึ่งที่เราต้องพิจารณา วันนี้ TheReporter.Asia มีโอกาสได้เจอ เซนไฮเซอร์ ในงานเปิดตัวหูฟังรุ่น Momemtum True Wireless จึงได้ขอคำแนะนำการเลือกหูฟังที่เหมาะสมว่าจะต้องอย่างไรบ้าง

ทั้งนี้จากการพูดคุย เราก็ได้รับคำชี้แนะจากผู้เชี่ยวชาญ เซนไฮเซอร์ มา 5 ข้อที่สำคัญในการตัดสินใจเลือกซื้อหูฟัง ลองมาดูกันว่าจะมีอะไรบ้างที่เราต้องคำนึงถึงในการเลือกหูฟังที่โดนโดนกันนะครับ

1.ได้เสียงที่ชอบ

แน่นอนว่า สไตล์ของเสียง เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน การเลือกสไตล์ของเสียงที่ตรงความต้องการมากที่สุด เป็นหัวใจของการเลือกซื้อหูฟัง บางแบรนด์อาจจะไม่มีช่วงเสียงที่ต้องการ บางคนอาจจะรู้สึกว่าเบสไม่หนักแน่นพอ ขณะที่บางคนฟังหูรุ่นเดียวกันกับบอกว่าเบสดี หนักแน่น

ความชื่นชอบสไตล์เสียงของแต่ละคนไม่เหมือนกัน การทดลองก่อนซื้อ เป็นสิ่งที่ดีที่สุดของการตัดสินใจ ทั้งนี้ก็มีข้อสังเกตว่า ในระดับของเสียงที่เลือกนั้น ควรดูคุณภาพโดยรวมของเสียงเป็นอันดับแรก แล้วไล่ดูการออกเสียงที่ครบถ้วนทุกช่วงเสียง ตลอดจนมีสไตล์ของเสียงที่ชื่นชอบ ฟังแล้วได้อรรถรสของเพลงที่ดีเยี่ยม

ค่อยๆฟัง ค่อยๆเลือก จนเราได้หูฟังที่มีเสียงที่เราชอบ ตอบโจทย์สไตล์ของเพลงที่เราชื่นชอบได้อย่างดี และที่สำคัญทำให้เรามีอารมณ์ร่วมไปกับสุนทรียภาพของดนตรีได้อย่างสนุกสนานนั่นเอง

2.ชนิดของหูฟัง

หุฟังที่นิยมในตลาดมีอยู่ 3 รูปแบบ ทั้งแบบ Over Ear ซึ่งเป็นแบบครอบทั้งหู กรณีที่หูใหญ่อาจจะไม่เหมาะ เนื่องจากครอบนานๆแล้วจะมีอาการเจ็บที่หูได้ หูฟังชนิดนี้นิยมสำหรับการตัดเสียงรบกวนภายนอก หรือแม้กระทั่งการปลีกวิเวกในยามเดินทางก็สามารถทำได้

ขณะที่แบบ Earbuds หรือแบบคล้องหูเป็นที่นิยมทั่วไป ส่วนของลำโพงมีการสอดเข้าไปที่หูเล็กน้อย อาศัยการเกี่ยวที่ใบหูช่วยพยุงการใช้งาน ซึ่งในกรณีที่ต้องการฟังระหว่างออกกำลังกายอาจจะไม่เหมาะนักเนื่องจากจะหล่นได้ง่ายที่สุด

และสุดท้ายแบบ In-Ear ซึ่งมีการสอดตัวลำโพงอัดเข้าไปในหู โดยจะมียางกันลื่นช่วยให้หูไม่เจ็บมากนัก หูฟังจะแนบแน่นอยู่ภายในรูหู ซึ่งทำให้เสียงภายนอกไม่สามารถเล็ดลอดเข้าไปได้ แต่บางคนที่ไม่ถนัดแล้ว อาจจะไม่ชอบ หรือมีอาการปวดหูได้

แต่กระนั้นการเลือกชนิดของหูฟังก็อาจจะต้องเลือกตามการใช้งานจริง ซึ่งจะทำให้เราสามารถใช้งานได้ตามวาระที่ต้องการได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ลองดูกันนะครับว่าถูกจริตกับหูฟังชนิดใด

3. Utilities ประโยชน์

นอกจากชนิดของหูฟังแล้ว ฟังก์ชั่นการใช้งานของหูฟัง ก็ยังแยกตามประเภทกิจกรรมอีกด้วย โดยคร่าวๆสามารถแบ่งออกได้เป็น หูฟังที่ใช้ฟังเพลงแบบทั่วไป สามารถใช้ได้ทุกงานไม่ต้องการความทนทานเป็นพิเศษ มีให้เลือกทั้งแบบไร้สายและมีสายในการเชื่อมต่อ

ขณะที่หูฟังแบบที่ต้องการความทนทานต่อเหงื่อ มีให้เลือกทั้งแบบไร้สายและมีสายเช่นกัน สำหรับการออกกำลังกาย เนื่องจากเมื่อเราออกกำลังกาย อาจจะมีเหงื่อเข้าไปทำลายเยื่อลำโพง ทำให้หูฟังได้รับความเสียหายได้ง่าย ซึ่งก็อาจจะไม่เหมาะนักหากเราจะเลือกหูฟังแบบที่ไม่ได้ป้องกันเหงื่อมาสวมใส่ขณะออกกำลังกาย

สุดท้ายจะเป็นหูฟังสำหรับการใช้งานร่วม ในการรับสายโทรเข้า-โทรออก ดังนั้นระบบของเสียงจะต้องรองรับตามคุณภาพที่ต้องการด้วย ทั้งการตัดเสียงรบกวน การเพิ่มความคมชัดให้ไมโครโฟน นอกจากนี้ยังมีฟีเจอร์ต่างๆที่หลากหลาย ทั้งระยะเวลาการใช้งานสำหรับหูฟังแบบไร้สายอีกด้วย

นอกจากนี้อาจจะต้องคำนึงถึงน้ำหนักของหูฟัง ซึ่งเมื่อใช้ไปนานๆแล้วจะก่อให้เกิดอาการล้าของหูได้ การกระจายตัวของเสียงที่รองรับ หรือแม้กระทั่งรูปแบบของการชาร์จไฟ เหล่านี้ล้วนมีผลต่อการใช้งาน การเลือกซื้อหูฟังที่ตอบโจทย์รอบด้านจึงเป็นการเลือกที่คุ้มค่ามากที่สุด

4 การกำหนดช่วงราคา

เนื่องจากความหลากหลายทั้งในส่วนของยี่ห้อ คุณภาพ ดีไซน์ หรือแม้กระทั่งชนิดที่แตกต่างกัน ทำให้หูฟังมีราคาที่แตกต่างกันอย่างเหลือเชื่อ การกำหนดช่วงราคาของหูฟังที่ต้องการ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการหาหูฟังที่โดนใจได้ไม่ยาก เพราะหากไม่มีการกำหนดช่วงราคาที่ต้องการแล้ว อาจจะหมดโอกาสในการได้หูฟังที่โดนใจก็เป็นได้

5.เบิร์นหูฟังให้ได้คุณภาพไม่น้อยกว่า 100 ชั่วโมง

สุดท้ายเมื่อเราซื้อหูฟังมาแล้ว เราอาจจะยังไม่ได้คุณภาพเหมือนที่ยืนฟังในโชว์รูม เรื่องนี้เป็นเรื่องเล็กน้อยที่อาจจะส่งผลต่อจิตใจของผู้ซื้อได้ แต่ในทางเทคนิคแล้วคุณภาพของหูฟังจะยังไม่เข้าที่ก่อนการใช้งานเป็นเรื่องปกติ

เนื่องจากส่วนประกอบของหูฟังนั้นเป็นเยื่อบางๆ ในกรณีที่ใหม่มากๆ อาจจะมีการสั่นไหวของเยื่อบุยังไม่เข้าที่ การเปิดหูฟังเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 100 ชั่วโมง จะทำให้การวอร์มอัพของหูฟังมีความสมบูรณ์มากขึ้น

ซึ่งผู้เชี่ยวชาญจาก เซนไฮเซอร์ แนะนำว่า การเบิร์นนั้น ก็ไม่จำเป็นต้องเปิดเพลงใส่หูฟังทิ้งไว้เฉยๆเป็นเวลา 100 ชั่วโมง แต่ให้เราใช้งานปกติ ใช้เพลงที่เราฟังบ่อยๆในสไตล์เพลงของเรา ไม่ต้องถึงขนาดต้องเลือกความถี่เสียงที่แตกต่างเพื่อเบิร์นให้หูฟังให้มีประสิทธิภาพ

ซึ่งการเบิร์นโดยการใช้งานปกติจะช่วยให้เรา ค่อยๆละเมียดรับรู้การเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีอรรถรสมากขึ้น แน่นอนว่าหูฟังของเราเอง การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจากเราเอง ความภูมิใจเล็กๆของการเปลี่ยนแปลงทางด้านเสียงที่ดีขึ้น ก็เป็นความสุขอย่างหนึ่งที่เราจะได้รับ นอกเหนือจากการฟังเพลงก็เป็นได้

เพียงเท่านี้ เราก็จะได้หูฟังที่เหมาะสมกับการใช้งาน เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของเราเอง แล้วเราก็จะได้รับความบันเทิงที่เราต้องการ ตอบโจทย์ทั้งคุณภาพ และความคุ้มค่ากับการที่เราต้องจ่ายค่าหูฟัง ตามที่เราต้องการนั่นเอง

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง

เซนไฮเซอร์

Related Posts