ผนึกกำลัง TESA กรมศิลป์ มศก. และ CAT เผยความร่วมมือในการจัดประชันทักษะทางด้านสมองกลฝังตัวชิงแชมป์ประเทศไทย เพื่อพัฒนาระบบจัดการโบราณสถานแห่งชาติ 4.0 ภายใต้ชื่อการแข่งขัน “TESA Top Gun Rally 2019” ณ เรือนรับรองกระจก พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม
ดร.ศุภชัย วรพจน์พิศุทธิ์ อุปนายกสมาคมสมองกลฝังตัวไทย (TESA) กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะสร้างความเข้มแข็งพื้นฐานในด้านเทคโนโลยีของประเทศวันนี้มุ่งไปที่ IoT
“IoT หรือ Internet of Things หมายถึงการนำความอัจฉริยะไปไว้ในทุกสิ่งทุกอย่าง หัวใจของ Things ต้องใช้สมองกล ความอัจฉริยะจะดีแค่ไหนล้วนสร้างด้วยคนซึ่งต้องเป็นคนที่มีความสามารถทางเทคโนโลยี ประเทศไทยต้องสร้างคนเหล่านี้
โดยปีนี้การประชันทักษะสมองกลครั้งที่ 13 อาศัยความร่วมมือจากภาคการศึกษาคือ ม.ศิลปากร ภาครัฐคือกรมศิลปากร และ CAT ที่มีเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่โดยใช้ LoRaWAN ถ้าไม่มีความร่วมมือไม่มีกิจกรรมนี้ เราจะไม่มีนักศึกษาที่เก่งเติบโตเป็นกำลังสำคัญของประเทศ”
TESA Top Gun Rally นับเป็นเวทีสำหรับการค้นหาสุดยอดฝีมือทางด้านระบบสมองกลฝังตัวของประเทศไทยที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผู้ที่มีโอกาสได้เป็นตัวแทนของแต่ละสถาบันการศึกษาเพื่อเข้าร่วมประชันทักษะ
จะผ่านการคัดเลือก ทดสอบ และสัมภาษณ์จากคณะกรรมการของแต่ละสถาบันมาเป็นอย่างดี ทั้งทางด้านวิชาการ ทัศนคติและสังคม สำหรับรูปแบบของการดำเนินแข่งขันในโครงการจะจัดต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 1 สัปดาห์
สำหรับ TESA Top Gun Rally 2019 มีนิสิต นักศึกษา และนักเรียน ซึ่งจะเป็นนักพัฒนาผู้เป็นอนาคตของประเทศและคณาจารย์ในวงการ Embeded System and IoT ของประเทศไทยกว่า 300 คนจากสถาบันการศึกษาและหน่วยงานต่างๆ ทั่วประเทศกว่า 30 แห่ง เข้ามารวมตัวกันสร้างสรรค์และพัฒนาระบบการจัดการโบราณสถานแห่งชาติ 4.0
อาทิ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยขอนแก่น
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยศิลปากร เครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร มหาวิทยาลัยศรีปทุม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มหาวิทยาลัยสยาม เครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏ สถาบันอาชีวศึกษา วิทยาลัยเทคนิค (นำร่อง) และโรงเรียนมัธยมจุฬาภรณ์ (นำร่อง)
โดยในการแข่งขันครั้งนี้ นิสิต นักศึกษา และนักเรียนที่เข้าร่วมจะได้เรียนรู้องค์ความรู้และเทคโนโลยีของระบบสมองกลฝังตัวจากผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ อาทิ การบริหารโครงการ การสร้างระบบฮาร์ดแวร์ ARTBox ที่ใช้ในการตรวจจับค่าต่าง ๆ ตามที่กำหนด
การส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายสื่อสารไร้สาย LoRaWAN (Long Range Wide Area Network) ที่มีคุณสมบัติในการรับส่งสัญญาณได้ในระยะไกลโดยใช้พลังงานต่ำ ซึ่งจะมีการติดตั้งชุดอุปกรณ์ LoRa IoT by CAT เพื่อระบุตำแหน่ง
การโปรแกรมระบบเซิร์ฟเวอร์และประมวลผลข้อมูลบนระบบ IRIS ClOUD เพื่อแจ้งเตือนไปยังเจ้าหน้าที่ นอกจากนี้ยังจะได้รับประสบการณ์เกี่ยวกับการพัฒนา แก้ไขปัญหาที่กำหนดในแต่ละวันบนหลักการของ Problem-Based Learning
รวมถึงได้รับความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์และการจัดการโบราณสถานอีกด้วย โดยในระหว่างการเข้าร่วมแข่งขันจะมีคณะกรรมการประเมินคะแนนสะสมตามหัวข้อและเกณฑ์ที่กำหนด
ซึ่งทีมที่มีคะแนนสะสมสูงสุด 4 ลำดับแรกจะได้รับรางวัลเงินสดรวมมูลค่ากว่า 100,000 บาทพร้อมโล่รางวัล รวมถึงโอกาสการต่อยอดพัฒนาผลงานสู่การใช้งานจริงเพื่อสนับสนุนงานอนุรักษ์โบราณสถานของกรมศิลปากร
ด้านนายสถาพร เที่ยงธรรม ผู้อำนวยการกองโบราณคดี กรมศิลปากร กล่าวว่าปัจจุบันกรมศิลปากรได้ใช้เทคโนโลยีกับงานโบราณคดีหลายด้าน เช่น การสำรวจพื้นที่ทางอากาศด้วยโดรน การวิเคราะห์โบราณวัตถุที่ขุดพบด้วยแสงซิงโครตรอน
การพัฒนาระบบสืบค้นข้อมูลสำหรับพิพิธภัณฑ์โบราณสถานแห่งชาติ “กรมศิลปากรมีเป้าหมายที่จะใช้เทคโนโลยีเกิดประโยชน์กับงานเต็มที่ตามแนวทางไทยแลนด์ 4.0 โดยในการอนุรักษ์โบราณสถานโดยเฉพาะพระราชวังสนามจันทร์ที่เป็นอาคารไม้นั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและยังต้องการเทคโนโลยีที่จะมาช่วย
เช่น การวิเคราะห์เรื่องการรับน้ำหนักนักท่องเที่ยวที่มาพร้อม ๆ กัน ผลกระทบจากการจุดพลุในโอกาสต่าง ๆ การตรวจจับแมลงเช่นปลวก เพื่อตรวจตราและปกป้องจากความเสียหายที่จะเกิดขึ้นได้ทันการณ์
ผมเชื่อมั่นว่ากิจกรรม TESA โบราณสถาน 4.0 จะเกิดประโยชน์อย่างยิ่ง การระดมความรู้ การคิดแก้ไขตอบโจทย์จะสามารถจุดประกายเพื่อทางกรมฯ จะสามารถนำไปต่อยอดในการใช้งานจริงได้ต่อไป”
ผศ.ดร.ปาเจรา พัฒนถาบุตร ผู้รักษาการแทนรองอธิการบดี พระราชวังสนามจันทร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า
“ม.ศิลปากร มีความแข็งแกร่งคือเรื่องศิลปะและการออกแบบ เราพร้อมที่จะนำเทคโนโลยีผสมผสานกับจุดแข็งนี้ โดยเปิดโจทย์ให้เด็กได้คิดวิเคราะห์เกี่ยวกับการอนุรักษ์
เพื่อเชื่อมโยงสองโบราณสถานสำคัญของจังหวัดนครปฐมทั้งพระปฐมเจดีย์ และพระราชวังสนามจันทร์ ที่เป็นพระตำหนักไม้เก่าแก่อายุกว่า 111 ปี หวังว่ากิจกรรมครั้งนี้จะจุดประกายการพัฒนาสมองกลในแนวทางที่ช่วยอนุรักษ์การท่องเที่ยวโบราณสถาน เช่น การใช้เทคโนโลยีเชื่อมโยงเพื่อความสะดวกในการให้ข้อมูลความรู้ หรือการติดต่อกับนักท่องเที่ยวผ่านมือถือ”
ด้านพันเอก สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. กสท โทรคมนาคม (CAT) กล่าวถึงความร่วมมือของ CAT กับ TESA ในปีนี้กับโจทย์โบราณสถานแห่งชาติ 4.0 ว่า “CAT สามารถนำเทคโนโลยีมาตอบโจทย์สนับสนุนการพัฒนา IoT ในทุกๆภาคส่วน
โดยเราวางโครงสร้างพื้นฐาน IoT LoRaWAN เพื่อรองรับการเชื่อมสัญญาณและระบบ IRIS Cloud เพื่อการจัดเก็บข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ เราอยากเห็นภาพนักท่องเที่ยวสามารถเดินเที่ยวพร้อมกับใช้โทรศัพท์มือถือช่วยเพิ่มความสะดวกได้
เช่น รู้จุดได้ทันทีว่ามีอะไรอยู่ตรงไหนจากโลเคชันเบส หรือใช้แอปพลิเคชันส่องไปที่โบราณวัตถุแล้วสามารถเชื่อมต่อกับ VR หรือ AR ทำให้เห็นภาพย้อนไปในยุคสมัยต่างๆ
ซึ่ง CAT พร้อมสนับสนุนเทคโนโลยีที่จะเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมในครั้งนี้และในอนาคตอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการต่อยอดของเทคโนโลยีและพัฒนาบุคลากร สามารถป้อนนวัตกรรมเข้าสู่ระบบการใช้งานจริงในทุกภาคส่วนและสร้างความเข้มแข็งให้ประเทศได้”
ทั้งนี้ การจัดการแข่งขันในครั้งนี้ นอกจากจะได้รับความรู้และทักษะในด้านสมองกลฝังตัวแล้ว คุณค่าและความสวยงามของการเข้าร่วมแข่งขัน TESA TOP GUN Rally อีกประการหนึ่งที่ผู้เข้าร่วมการแข่งขันจะได้รับก็คือการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากวิทยากรและระหว่างผู้เข้าแข่งขันจากต่างสถาบันด้วยความสุภาพ อ่อนน้อมถ่อมตน เอื้อเฟื้อ โอบอ้อมอารีต่อกัน แต่จะไม่ยอมแพ้ต่อปัญหาและอุปสรรค
ทั้งนี้การแข่งขัน TESA Top Gun Rally จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 13 โดยกำหนดหัวข้อ “ระบบการจัดการโบราณสถานแห่งชาติ 4.0” (Smart National Historic Site 4.0 : Art & Cultural Conservation & Tourism Information System)
ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-12 มกราคม 2562 ณ พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม จากความร่วมมือของ 4 หน่วยงาน ที่เล็งเห็นและให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรมด้วยการผสานความรู้ด้านสมองกลฝังตัว (Embeded System) เข้ากับเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อสร้างนวัตกรรมในการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สามารถติดตามการแข่งขัน TESA TOP GUN Rally 2019 ได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ TESA Top Gun Rally
ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง