นิสสัน ประเทศไทย สานต่อโครงการ “แค่ใจก็เพียงพอ” เป็นปีที่ 2 มุ่งเน้นการสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้กับชุมชนในจังหวัดเพชรบุรี โดยครั้งนี้เน้นการช่วยเหลือชุมชนในเรื่องการนำวัตถุ สิ่งของ หรือแม้กระทั่งกิ่งไม้ก้านไม้ มาผ่านการแปรสภาพ (recycle) พร้อมใส่ดีไซน์ให้มีความสวยงาม (upcycle) จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำไปขายก่อให้เกิดรายได้
โครงการ “แค่ใจก็เพียงพอ ตามพ่อที่พอเพียง” นิสสันจัดครั้งแรกในปี พ.ศ. 2560 เป็นการเฟ้นหาบุคคลต้นแบบจำนวน 10 คนที่น้อมนำคำสอนแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่ทรงครองราชย์มายาวนานมาปรับเปลี่ยนการทำงาน และชีวิตประจำวัน ผู้เข้าร่วมโครงการได้เข้าเยี่ยมชมโครงการของบุคคลต้นแบบที่ประสบความสำเร็จ 10 โครงการ ตามรอยเท้าของในหลวง รัชกาลที่ 9 เป็นระยะทางทั่วประเทศกว่า 1,500 กิโลเมตร
ปีเตอร์ แกลลี รองประธาน สายงานสื่อสารองค์กร นิสสัน มอเตอร์ ประเทศไทย กล่าวว่า เราต้องการ “ให้” กลับคืนไปสู่ชุมชน ด้วยการส่งเสริมทักษะไปสู่การสร้างรายได้ซึ่งจะช่วยพัฒนาความเป็นอยู่โดยรวมของชุมชนให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน โดยแนวคิด “การให้” อันเป็นอัตลักษณ์หลักของพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ ซึ่งพวกเราชาวนิสสันรู้สึกตื่นเต้นเป็นอย่างมากที่ได้สานต่อโครงการนี้ในปีที่ 2 ภายใต้โครงการ “แค่ใจก็เพียงพอ” ซึ่งนิสสันยังคงเดินตามคำสอน ภูมิปัญญา และความเสียสละของพระมหากษัตริย์ไทยผ่านโครงการดังกล่าว เพิ่มเติมในเรื่องการส่งเสริมทักษะให้คนในชุมชน จนสามารถนำไปปรับใช้จนเกิดรายได้ในระยะยาวอย่างยั่งยืน
เพื่อให้บรรลุจุดประสงค์ดังกล่าว นิสสัน ได้ร่วมงานกับ จารุพัชร อาชวะสมิต อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และนักศึกษากว่า 70 คนจากภาควิชาศิลปอุตสาหกรรม ตั้งแต่การดำเนินการวิจัย แยกวัตถุ สิ่งของ ซากพืชที่ไร้คุณค่า ต่อด้วยการนำมาผ่านขั้นตอนต่างๆ จนมาจบที่การออกแบบ จนได้ชิ้นงานใหม่ที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์จนสามารถขายได้
จารุพัชร อาชวะสมิต อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า นักศึกษาจะได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ที่ไม่ใช่แค่การเรียนรู้ในห้องเรียนเท่านั้น การเรียนรู้ผ่านโครงการนี้จะทำให้นักศึกษาได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมที่น่าสนใจและมีคุณค่า ซึ่งการมีส่วนร่วมในครั้งนี้จะช่วยให้พวกเขาได้เรียนรู้ในเรื่องวิธีการออกแบบและผลิตสินค้าที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนท้องถิ่น ทักษะการปฏิบัติเหล่านี้จะมีประโยชน์มากสำหรับนักศึกษาในการประกอบอาชีพในอนาคต
ทั้งนี้ นักศึกษาจะถูกแบ่งออกเป็นทีมเพื่อร่วมกับชุมชน นำขยะมาแปรสภาพ ออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีดีไซน์ที่สวยงาม (upcycle) และสามารถจำหน่ายได้จริง ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมที่สุดจะได้รับการคัดเลือก และนักศึกษาจะถ่ายทอดวิธีการทำผลิตภัณฑ์ดังกล่าวให้กับชุมชนท้องถิ่นในจังหวัดเพชรบุรี โดยหวังว่ากิจกรรมนี้จะช่วยสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน ไม่เพียงแค่นั้นการนำขยะกลับมาใช้ใหม่นี้ยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยให้สะอาดและปลอดภัยสำหรับทุกคนในอนาคต