ส่อง Tollway Contest 2018 “แค่เปลี่ยน…ชีวิตปลอดภัย”

ส่อง Tollway Contest 2018 “แค่เปลี่ยน…ชีวิตปลอดภัย”

บมจ.ทางยกระดับดอนเมือง ร่วมกับ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ได้จัดกิจกรรมประกวดโฆษณาสั้น CSR Tollway Contest 2018 เพื่อรณรงค์เรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน และสานต่อกิจกรรมเพื่อสังคมด้าน Tollway Safety Way ยกระดับความปลอดภัยบนท้องถนน โดยหัวข้อในการประกวดครั้งนี้ คือ “Change your mind , Safe your life แค่เปลี่ยน ชีวิตก็ปลอดภัย”

เพราะจากสถิติขององค์การอนามัยโลก (WHO) ได้พบว่าสาเหตุหลักของอุบัติเหตุบนท้องถนนอันดับ 1 เกิดจากตัวบุคคล ฉะนั้นแล้วการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ต้องเริ่มต้นที่ตัวบุคคลผู้ใช้รถใช้ถนน ให้เปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมอันเคยชินมาเป็นเคารพกฏจราจรและใส่ใจเพื่อนร่วมทาง ซึ่งเป็นที่มาของหัวข้อการประกวดโฆษณาสั้นในปี 2561

โดยโครงการ CSR Tollway Contest 2018 ได้เริ่มเปิดรับสมัครและรับผลงานจากนักเรียน นิสิต นักศึกษา ตั้งแต่เดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา และได้จัดกิจกรรม Roadshow คู่ขนานไปตามโรงเรียนและมหาวิทยาลัยทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด จำนวน 13 แห่ง

ในรูปแบบการประชาสัมพันธ์โครงการฯ บวกกับการบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับการทำโฆษณาสั้นจากวิทยากรรับเชิญพิเศษทั้งผู้กำกับโฆษณา คุณวิทิต คำสระแก้ว จากบริษัทฟีโนมีน่า บริษัทผลิตหนังโฆษณาชั้นนำของประเทศ, คุณคมกฤษ ตรีวิมล ผู้กำกับภาพยนต์ชื่อดัง และโปรดิวเซอร์ พิธีกรรายการกบนอกกะลา คุณภัทราพร สังข์พวงทอง ที่หมุนเวียนมาถ่ายทอดความรู้ มุมมองการคิดโฆษณาและประสบการณ์การทำงานให้กับน้องๆ กันถึงในห้องเรียน

ซึ่งได้รับความสนใจจากน้องๆ แต่ละสถาบันเข้าร่วมรับฟังกันอย่างคับคั่ง และจากการเปิดรับสมัครผลงานและเดินสายให้ความรู้ เป็นระยะเวลาเกือบ 3 เดือน ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จากนักเรียนและนักศึกษาสถาบันต่างๆ ทั่วประเทศจัดทีม ส่งผลงานเข้าประกวดจำนวน 200 กว่าผลงาน

Tollway Contest

และจากผลงานทั้งหมด 200 กว่าผลงาน คณะกรรมการทำงานหนักมากเพื่อคัดเลือกผลงานที่ดีที่สุดจำนวน 20 ผลงาน เพื่อเข้าสู่การแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ ซึ่งเป็นรอบการนำเสนอผลงานต่อคณะกรรมการตัดสิน โดยผลงาน 20 ชิ้นสุดท้ายที่ผ่านเข้ารอบ ทีมงานได้โปรโมทขึ้นบน YouTube Channel : CSR Tollway เพื่อหาทีมที่มียอด Like และ View มากที่สุดรับรางวัล Best Popular View

การแข่งขันรอบชิงชนะเลิศในปีนี้จัดขึ้นเมื่อเดือนตค.ที่ผ่านมา ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 6 อาคารปฏิบัติการ บมจ. อสมท. โดยน้องๆ ทั้ง 20 ทีมสุดท้าย นอกจากจะได้นำเสนอผลงานต่อคณะกรรมการตัดสิน ซึ่งแต่ละทีมเตรียมตัวนำเสนอผลงานมาเป็นอย่างดี สร้างความประทับใจให้แก่คณะกรรมการ

ในวันนั้นน้องๆแต่ละทีมยังได้รับโอกาสในการรับคำแนะนำ คำชี้แนะจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแบบเจาะลึก และยังเปิดโอกาสให้น้องๆได้นำผลงานกลับไปแก้ไข และกลับมานำเสนอต่อคณะกรรมการอีกในวันรุ่งขึ้น

สำหรับผลการตัดสินการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ ทีมที่ชนะเลิศได้แก่ ทีม UFO ผลงาน “คิดถึงความตาย” นักศึกษาลูกอีสานจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้นำเสนอเรื่องของความมักง่ายในการใช้ถนนของคนส่วนใหญ่ ที่มักจะคิดว่าทำแค่นี้ก็ไม่เป็นไร ผ่านการขับรถของชายผู้หนึ่งที่จะกลับบ้าน โดยจะกลับรถในที่ห้ามกลับรถ เพราะจะทำให้ถึงบ้านได้เร็วขึ้น ซึ่งหากเกิดอุบัติเหตุ ครอบครัวได้ทำการวางแผนชีวิตหลังความตายให้เรียบร้อย

ส่วนรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม RAJA Channel จากผลงาน “แค่นี้เอง” น้องๆ มัธยมศึกษาจากโรงเรียนวัดราชาธิวาส และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ทีม Triple P จากผลงาน “ฟุตบาท” น้องมัธยมศึกษาหญิงล้วนจากโรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์

สำหรับทีมที่ได้รับรางวัล Best Popular View ได้แก่ทีม แก่แดด จากผลงาน “ความปลอดภัยเริ่มต้นที่ตัวคุณ” จากนักศึกษามหาวิทยาลัยรัตนบัณฑิต โดยมี คุณอโนมา อุฤทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานปฏิบัติการ บมจ.ทางยกระดับดอนเมือง เป็นผู้มอบรางวัลให้แก่น้องๆผู้ชนะการประกวดในครั้งนี้

Tollway Contest

นอกจากจะได้รับทุนการศึกษาแล้ว บมจ.ทางยกระดับดอนเมืองยังเปิดโอกาสให้ผู้ที่ได้รับรางวัลทั้ง 3 อันดับ พร้อมอาจารย์ที่ปรึกษาได้สัมผัสประสบการณ์ระดับโลก ด้วยการพาไปศึกษาดูงานที่สถานีโทรทัศน์ชื่อดังของญี่ปุ่น อาทิ สถานีโทรทัศน์ NHK Asahi TV และ Fuji TV เป็นเวลา 6 วัน

เนื่องจากสถานีเหล่านี้มีรายการที่ออกอากาศมายาวนานหลายทศวรรษ โดยเฉพาะช่อง NHK ที่มีรายการออกอากาศในต่างประเทศ นับว่าเป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่าและหาได้ยากยิ่งสำหรับเยาวชนไทย

ทั้งนี้บมจ.ทางยกระดับดอนเมือง ยังคงมุ่งมั่นที่จะสานต่อกิจกรรมเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่องในทุกๆด้านและหวังว่าการปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีในการรับผิดชอบสังคมด้านความปลอดภัยบนท้องถนนในครั้งนี้ จะช่วยลดอุบัติเหตุและรักษาชีวิตคนไทยได้ไม่น้อย เพราะเพียงคุณเปลี่ยนความคิด…ชีวิตก็ปลอดภัย

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง

บมจ.ทางยกระดับดอนเมือง

Related Posts