กางแผน ‘โทลล์เวย์’ ทุ่ม 300 ล้านพัฒนาระบบอัจฉริยะ

กางแผน ‘โทลล์เวย์’ ทุ่ม 300 ล้านพัฒนาระบบอัจฉริยะ

นายใหญ่ โทลล์เวย์ ทุบโต๊ะ พัฒนาระบบอัจฉริยะ ยกระดับมาตรฐานการให้บริการทางพิเศษ ทุ่มงบกว่า 900 ล้านพัฒนาทั้งโครงการภายใน 3 ปี เน้นหนักการพัฒนาระบบอัจฉริยะรองรับความปลอดภัยกว่า 300 ล้านบาท เตรียมพร้อมเป็นต้นแบบสู่การประมูลร่วมโครงการในอนาคต

ดร.ศักดิ์ดา พรรณไวย รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจและการเงิน บมจ.ทางยกระดับดอนเมือง เปิดเผยว่า แผนการพัฒนา Smart Project เทคโนโลยีการให้บริการด้านคมนาคมใหม่ เป็นโครงการระยะเวลา 3 ปี ด้วยการตั้งงบประมาณทั้งหมด 900 ล้านบาท โดยเน้นหนักที่การนำเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนในการยกระดับการให้บริการ เพื่อให้เกิดความทันสมัยมากยิ่งขึ้น

โดยในส่วนแรกนั้นจะเป็นการพัฒนาระบบรักษาความปลอดภัย ซึ่งใช้เทคโนโลยีจากประเทศญี่ปุ่นในการพัฒนาระบบ มีการเปลี่ยนกล้องวงจรปิดให้มีความอัจฉริยะมากขึ้นทั้งหมด สามารถตรวจจับความเคลื่อนไหว พร้อมแจ้งเตือนเมื่อเกิดเหตุการผิดปกติเกิดขึ้น

ด้วยความสามารถของกล้องที่จะทำงานประสานกัน ระหว่างกล้องพื้นที่และกล้องควบคุมหลักเข้าด้วยกันแบบอัตโนมัติ ครอบคลุมระยะการให้บริการทั้งหมดกว่า 21 กิโลเมเตร

และเมื่อเกิดเหตุการณ์ผิดปกติขึ้น เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Ai)จะช่วยตรวจสอบและประเมินสถานการณ์ พร้อมเลือกแนวทางการปฏิบัติที่ดีที่สุด ให้กับการแก้ไขสถานการณ์นั้นนั้น และระบบการช่วยเหลือจะสามารถเข้าถึงพื้นที่ได้อย่างถูกต้อง ภายในระยะเวลาไม่เกิน 5 นาที พร้อมการตรวจสอบย้อนกลับที่สะดวกและรวดเร็วขึ้น ตลอด 24 ชั่วโมง

ซึ่งแผนของการพัฒนาในส่วนของเทคโนโลยีนี้ ใช้งบประมาณ 300 ล้านบาท แบ่งเป็นการทำงานออกเป็น 3 ปี เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2561-2563 โดยปีแรกจะเริ่มทำการเตรียมโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับการทำงานของเทคโนโลยีที่จะนำเข้ามาติดตั้ง

ขณะที่ปีที่ 2 จะเริ่มทำการติดตั้งกล้องวงจรปิดตามจุดต่างๆ ให้แล้วเสร็จ และปีสุดท้ายจะเริ่มมีการทดสอบระบบ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มใช้งานได้ในช่วงปลายปี 2563 นี้

นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาระบบให้ทันสมัยโดยรวมในส่วนอื่นๆ เพื่อยกระดับการให้บริการเนื่องในวาระครบรอบ 30 ปี ของทางยกระดับคอนเมือง ด้วยการใช้งบประมาณอีกกว่า 600 ล้านบาท เพื่อทำให้เกิดความปลอดภัยและความสะดวกในการการจราจรกับผู้ใช้ทางมากขึ้น

โดยโครงการแบ่งออกเป็นส่วนของการพัฒนาระบบการชำระเงิน ในวงเงินงบประมาณ 300 ล้านบาท เพื่อให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้น เนื่องจากระบบเดิมที่ใช้งานมากว่า 30 ปี ล้าหลังเป็นอย่างมาก การพัฒนาครั้งนี้จึงช่วยเพิ่มความทันสมัยให้กับระบบ Manual Toll Collection System (MTC) ทั้งหมดอีกด้วย

ขณะที่ส่วนสุดท้ายที่มีวงเงินงบประมาณกว่า 300 ล้านบาท เป็นส่วนของการพัฒนาระบบเพื่อเตรียมความพร้อม ในการรองรับการชำระเงินผ่านระบบ M-Pass และ Easy-Pass

พร้อมทั้งการปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบ และรวมไปถึงการทำป้ายอัจฉริยะ เพื่อบอกให้ผู้ใช้ทางได้รับทราบการจราจรในเส้นทาง และการแจ้งข่าวสารให้ผู้ใช้ทางได้รับทราบในจุดต่างๆ

ทั้งนี้เทคโนโลยีที่เลือกเข้ามาใช้เป็นของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นความร่วมมือกับการทางพิเศษญี่ปุ่น นับเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจหนึ่งที่มีความเชี่ยวชาญในการให้บริการทางพิเศษ ซึ่งจะเข้ามาช่วยการพัฒนาระบบและมาตรฐานการให้บริการครั้งนี้

การพัฒนาระบบครั้งนี้ เป็นการแสดงความพร้อมในการเป็นผู้ให้บริการทางพิเศษ ที่มีความเชี่ยวชาญของเราได้เป็นอย่างดี ซึ่งระบบทั้งหมดจะช่วยให้การจัดการด้านการจราจรมีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมทั้งเพิ่มความปลอดภัยให้ผู้ใช้ทางได้สมบูรณ์พร้อมมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง

บมจ.ทางยกระดับดอนเมือง

Related Posts