วิ่งมาราธอน ในเมืองไทยนับว่ามีการเติบโตและจัดกันถี่จนแทบจะทำให้นักวิ่งแทบไม่ได้หยุดพัก โดยมีการประมาณกันว่าน่าจะมีถึง 1,200 งานต่อปีเลยทีเดียว และคาดว่าในปีนี้จะเติบโตขึ้นอีก 20-30%
ซึ่งการเพิ่มขึ้นของจำนวนงานและจำนวนนักวิ่งนี่เอง ที่จะก่อให้เกิดธุรกิจใหม่ที่มีความน่าสนใจได้อีกหลากหลาย อย่างเช่นการใช้เทคโนโลยี “Face X” ของไทยรัน ที่กำลังเริ่มนำมาประยุกต์กับการค้นหารูปภาพของนักวิ่งแบบรวดเร็วทันใจ และกำลังสร้างรายได้อยู่ในขณะนี้ รวมไปถึงกำลังเตรียมต่อยอดไปสู่ธุรกิจอื่นๆ ด้วย AI และ Big Data ได้อีกในอนาคต
Face X มีจุดเริ่มต้นมาจากการรับสมัครลูกค้าที่มาวิ่งมาราธอนด้วยการใช้ใบหน้าหรือ Face ID ซึ่งเป็นการจัดทำระบบจดจำใบหน้าด้วย AI ซึ่งง่ายต่อการตรวจสอบ ก่อนจะต่อยอดมาที่การค้นหารูปภาพ หรือ “Face Search” เพื่อทำให้การค้นหาภาพทำได้รวดเร็วมากขึ้นด้วย Big Data
เพราะงานวิ่งแต่ละงานมีภาพถ่ายจำนวนมาก โดยเฉพาะงานวิ่งใหญ่ๆ มักจะมีช่างภาพเป็นร้อยคนและมีภาพนับล้านภาพ ซึ่งการค้นหารูปแบบเดิมๆ ไม่สามารถทำได้อย่างรวดเร็วทันใจและตรงใจนักวิ่ง
รศ.ดร.บุญญฤทธิ์ อุยยานนวาระ CEO บริษัท ไทยดอทรัน จำกัด ผู้พัฒนา Face X กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการพัฒนาเทคโนโลยี Face X มาจากความต้องการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในด้านต่างๆ
จึงได้ทำการพัฒนาระบบค้นหาใบหน้าและระบบจดจำใบหน้า( Image Recognition) ได้อย่างรวดเร็ว มารวมเข้าเป็นหนึ่งเดียว และเริ่มนำมาใช้กับงานวิ่งมาราธอน “บางแสน 42” และ “บางแสน 21” ซึ่งช่วยให้การจัดงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ในอดีตการรับสมัครงานวิ่งมีปัญหาต่างๆ จำนวนมาก โดยเฉพาะในการรับหมายเลขประจำตัวผู้วิ่ง (BIB) แต่ด้วยระบบใหม่นี้เพียงโหลดภาพใบหน้าของตนลงในระบบ ระบบจะค้นหาภาพจากใบหน้าใกล้เคียงโดยมีความแม่นยำสูงถึง 95% แสดงผลลัพธ์ภาพได้ค่อนข้างครบถ้วน นักวิ่งไม่จำเป็นต้องหาภาพทีละภาพจากแต่ละกล้องอีกต่อไป
นอกจากนี้ด้วย Face ID จะมีการบันทึกประวัติของนักวิ่งที่ระบุไว้ในใบสมัคร รวมถึงสถิติการวิ่งที่ผ่านมา โดยมีการเก็บข้อมูลนักวิ่ง ตั้งแต่การสมัครด้วยใบหน้าและการรับ BIB และ การ Check In ที่ทุกอย่างเป็นดิจิตอลทั้งหมด เพื่อทำให้การจัดงานเป็นไปอย่างมีมาตรฐาน มีความถูกต้อง ยุติธรรมกับนักวิ่งทุกคน ตามมาตรฐานสากล

Face Xได้ออกแบบเทคโนโลยีให้อยู่ในรูปของ Platform เพื่อรองรับการเข้ามาใช้งานของคนจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการรับสมัครการวิ่ง และการค้นหารูป ซึ่งระบบจะไม่มีการล่ม เพราะเราได้ออกแบบเทคโนโลยีที่สามารถ “โคลน”ตัวเองได้ เรียกว่า “Container Server Based” ซึ่งเป็นเป็น Server ขนาดเล็กที่สามารถโคลน เพื่อรองรับการทำธุรกรรมที่เข้ามาพร้อมๆ กันได้
อีกทั้งระบบที่ออกมาจะเป็นดิจิตอลและสามารถสแกนโดย QR Quote ได้ทั้งหมดเพื่อให้การบริหารจัดการตั้งแต่รับสมัครจนถึงการวิ่งเสร็จเป็นไปอย่างรวดเร็วที่สุด
“เช่นเดียวกับระบบค้นหารูป เป็นสิ่งที่นักวิ่งต้องการมาก เพราะในแต่ละงานจะใช้ช่างภาพประมาณ 200 คน และต้องตามหาว่าภาพเราไปอยู่ที่ไหน ใครเป็นคนถ่าย เมื่อก่อนไม่มีตัวกลางในการซื้อขายก็จะวุ่นวายและหาภาพได้ยาก เพราะบางงานมีมากกว่า 1 ล้านภาพ
แต่ปัจจุบันเราก็เป็นตัวกลางทำให้การซื้อขายภาพง่ายขึ้น เพราะเป็นเวอร์ชัน 2 ที่เป็นการค้นหาด้วยใบหน้า เราแค่สแกนหน้าลงไป แล้วรูปที่มีเราทั้งหมดจะขึ้นมาโชว์ให้ได้เลือกว่าจะซื้อรูปใด”
ปัจจุบัน ThaiRun มีช่างภาพที่เป็นสมาชิกของระบบ 600 ราย โดยที่ช่างภาพที่เป็นสมาชิกของระบบสามารถมาสร้างกิจกรรมงานวิ่งและสามารถอัพโหลดรูปภาพเข้าสู่กิจกรรม เมื่อนักวิ่งเข้าสู่เพจก็สามารถค้นหาภาพและซื้อขายภาพได้ทันที
ซึ่งกิจกรรมการค้นหาในปัจจุบันระบบมีภาพถ่ายกว่า 3,000,000 ภาพในระบบ (เพิ่มขึ้นจาก 400,000 ภาพในปี พ.ศ.2559) ThaiRun อำนวยความสะดวกในการซื้อขายภาพ และการโอนเงินยอดขายภาพให้แก่ช่างภาพแต่ละคนด้วยการเปิดเกตเวย์การชำระเงินใหม่และทำการโอนเงินผ่านธนาคารออนไลน์และเครดิต
นอกจากนี้ด้วยการตรวจสอบในหน้าจะทำให้เรารู้ข้อมูลของแต่ละคน เช่น กรุ๊ปเลือด การแพ้ยา ซึ่งมีความจำเป็นอย่างมากหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน จะได้รักษาอย่างทันท่วงที ซึ่งในอนาคตข้อมูลดังกล่าวสามารถต่อยอดเป็นฐานข้อมูลทางด้านสุขภาพของประชาชน และน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนานโยบายด้านสาธารณสุขของรัฐ
รวมถึงการต่อยอดการทำธุรกิจที่เกี่ยวกับสุขภาพหรือด้านอื่นๆ ได้ ซึ่งการนำ Big Data มาปรับใช้กับการกีฬาและสุขภาพ ถือเป็นเรื่องที่ใหม่ที่มีความท้าทาย เพราะเป็นเรื่องที่ไม่มีใครทำมาก่อน เพราะก่อนหน้ามีการใช้ AI/ Big Data ในการประมวลพฤติกรรมของผู้บริโภคในเชิง Fintech และ Ecommerce เท่านั้น
ด้านนายกมล สิริชัน ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทไทยดอทรัน จำกัด กล่าวว่า ไทยรันเป็นสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ของไทยที่ได้ทำการออกแบบเทคโนโลยี ให้อยู่ในรูปของแพลตฟอร์มที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเช่น ช่างภาพ สามารถอัพโหลดภาพวิ่งให้กับนักวิ่งได้ไปชมอย่างรวดเร็ว
รวมถึงเป็นพื้นที่การขายสินค้าต่างๆ เกี่ยวกับการวิ่ง การจัด Virtual Run เพื่อระดมทุนการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ต่างๆ
ในอนาคตบริษัทมองถึงการขยาย Platforn ทุกอย่างใน Thai.Run ไปสู่ต่างประเทศ อย่างเช่นมาเลเซีย สิงคโปร์ ที่แสดงความสนใจในระบบเรา
เพราะงานวิ่งมาราธอนถือว่ากีฬายอดนิยมของโลก รวมถึงการขยาย Face ID และ Face Search ไปในกิจกรรมอื่นๆ ที่มีคนจำนวนมาก เช่นงานคอนเสิร์ต งานรับปริญญา หรืองานในเหตุการณ์สำคัญต่างๆ
ซึ่งพิจารณาตามบริบทที่เหมาะสมต่อไปว่าจะสามารถใช้เทคโนโลยีเหล่านี้แก้ปัญหาที่มีอยู่เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนให้มีความสะดวกสบายอย่างไรได้บ้าง เพื่อให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาอย่างมั่นคงและยั่งยืน ซึ่งเป็นเป้าหมายที่สำคัญที่สุดของไทยรัน
“ขณะนี้กำลังจะเริ่มคุยกับพาร์ทเนอร์ แนวทางการทำธุรกิจจะเป็นการให้บริการเป็นแพลตฟอร์มเป็นรายครั้ง ให้บริการเชิงซอฟต์แวร์ อย่างเช่น งานรับปริญญาที่เรามองช่องว่างของตลาดระหว่าง ผู้ที่มีเงินจ้างตากล้องส่วนตัวกับคนที่ไม่มีตากล้องส่วนตัว อยากได้ภาพสวยๆ ไปด้วยการใช้ระบบของเรา
ตอนนี้เริ่มให้ตากล้องทดสอบแล้ว สิทธิของภาพเป็นของตากล้องจะนำไปทำอะไรหรือขายใครที่นอกเหนือจากเราก็ได้ เราเป็นเพียงคนช่วยค้นภาพ เป็นตัวกลางเท่านั้น เรามีประชุมช่างภาพทุกๆ 3 เดือน ปัจจุบันเว็บ Photo.Thai.Run เป็นเหมือน Photo Stocks ของสังคมนักวิ่ง ที่ทั้งช่างภาพและนักวิ่งสามารถพบกันได้ เราแบ่งรายรับให้ 80% ของราคาขาย ส่วน 20% เป็นของเรา”
นายกมล กล่าวว่า ปัจจุบัน งานวิ่งไม่ใช่แค่วิ่งเท่านั้นแต่เป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในท้องถิ่นอย่างยั่งยืน เพราะทุกครั้งที่มีงานวิ่งในพื้นที่ใดๆ ท้องถิ่นนั้นๆ จะคึกคักและมีเงินหมุนเวียนในท้องถิ่นมหาศาล
เห็นได้จากงานวิ่งมาราธอน “บางแสน 42” และ “บางแสน 21” ที่โรงแรมต่างๆ ถูกจองเต็ม ถือเป็นต้นแบบการพัฒนาพื้นที่ด้วย Sport tourism ซึ่งสามารถเป็นต้นแบบและขยายไปในพื้นที่อื่นๆ ได้
นอกจากนี้ในอนาคตเทคโนโลยี Face ID ที่จัดทำเป็น Big Data จะสามารถนำไปต่อยอดกับการถ่ายทอดการแข่งขัน แบบ live, delayed หรือ streaming ต้องมีจอขนาดใหญ่ในพื้นที่จัดงานเพื่อแสดงการแข่งขัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ IAAF ระบุให้เป็นมาตรฐานของการจัดงานวิ่งในมาตรฐานระดับโลกด้วย
ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง