___noise___ 1000

บำรุงราษฎร์ เร่งเดินหน้าสู่ รพ.ไฮเทค แต่คงประสิทธิภาพบริการด้วยคน

บำรุงราษฎร์

ประเทศไทยถือเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในด้าน Healthcare ซึ่งอยู่ในลำดับที่ 14 ของโลกและยังถือเป็นธุรกิจที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว มร. เดวิด โธมัส บูเช ผู้อำนวยการด้านบิสซิเนสทรานส์ฟอร์มเมชั่น (Chief Business Transformation Officer) โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ได้กล่าวไว้ในงานสัมมนา “MFA CEO Forum with Bumrungrad”

บำรุงราษฎร์ มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาองค์ประกอบ 4 ประการ (4 core pillars) ซึ่งถือเป็นหัวใจของคุณภาพการรักษา ประกอบด้วย 1. คุณภาพและความปลอดภัย บำรุงราษฎร์เป็นโรงพยาบาลที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน JCI (Joint Commission International)

ซึ่งเป็นมาตรฐานคุณภาพโรงพยาบาลระดับสากลจากสหรัฐอเมริกา 2. การผนึกกำลังของสหสาขาวิชาชีพเพื่อผลลัพธ์เชิงบวก โรงพยาบาลฯ มีแนวคิดที่ใช้ประโยชน์จากจุดแข็งและความชำนาญการของบุคลากรในด้านต่างๆ

โดยยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางเพื่อส่งมอบการรักษาพยาบาลที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ 3. นวัตกรรมและเทคโนโลยี จุดมุ่งหมายของโรงพยาบาลฯ จะเป็นผู้บุกเบิกด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงทำให้สามารถจับแนวโน้มใหม่ๆ ในการดูแลรักษาสุขภาพได้

อีกทั้งโรงพยาบาลฯ ได้พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศสู่การเป็นโรงพยาบาลดิจิทัลอย่างสมบูรณ์ และ 4. การบริบาลด้วยความเอื้ออาทร

เป็นค่านิยมหลักประการหนึ่งของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ที่ใช้เป็นหลักในการปฏิบัติเพื่อดูแลผู้ป่วยมาโดยตลอด ทำให้บำรุงราษฎร์กลายเป็นโรงพยาบาลชั้นนำในไทยที่มีชื่อเสียงในระดับสากล

เทรนด์การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในอนาคต

มร. เดวิด โธมัส บูเช โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ได้กล่าวถึงเทรนด์การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพว่า ประกอบด้วย 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1) Integrative Healthcare Approach โดยโรงพยาบาลจะเริ่มใช้แนวทางการดูแลรักษาสุขภาพแบบใหม่เชิงป้องกันด้วยการทำงานอย่างใกล้ชิดกับศูนย์ส่งเสริมสุขภาพไวทัลไลฟ์

ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของโรงพยาบาลฯ เพื่อให้การบริบาลแบบประสมประสาน ไม่เพียงแค่รักษาโรค แต่ยังสามารถช่วยวิเคราะห์ความเสี่ยงในเชิงป้องกันการเกิดโรค ทั้งหมดนี้เพื่อส่งมอบการดูแลรักษาสุขภาพที่ครอบคลุมยิ่งขึ้น ตลอดจนส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น

2) การนำนวัตกรรมเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์เข้ามาช่วยในทางการแพทย์ รวมถึงนำ Big Data มาใช้ในการบริหารจัดการข้อมูลให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยบำรุงราษฎร์ได้จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศการใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด

นำเอาระบบดาวินชีเข้ามาใช้ในการทำศัลยกรรมผ่านกล้องแผลเล็ก และยังได้ใช้ระบบหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดที่สถาบันกระดูกสันหลังของบำรุงราษฎร์เพื่อให้ศัลยแพทย์กระดูกสันหลังสามารถมองเห็นภาพ

และควบคุมการผ่าตัดได้ด้วยความแม่นยำยิ่งขึ้น การประสมประสานการใช้หุ่นยนต์ทั้งที่เป็นฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์เข้ากับความชำนาญการของศัลยแพทย์ นับเป็นความก้าวหน้าอย่างใหม่ในวงการแพทย์ของประเทศไทย

3) การดูแลรักษาตามขั้นตอนกระบวนการแบบไร้รอยต่อ เป็นการทำงานที่สอดประสานกันของทุกฝ่าย เช่น การจัดตั้งสำนักงานรับย้ายผู้ป่วยในต่างประเทศ (International Referral Offices)

ซึ่งทำหน้าที่ส่งต่อผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ โดยให้การบริการที่ครอบคลุมทั้งทางด้านข้อมูลข่าวสาร ข้อมูลด้านการแพทย์ การนัดแพทย์ การให้คำแนะนำในการเดินทาง จนรักษาแล้วเสร็จ และเดินทางกลับประเทศ

รวมถึงความใส่ใจในการให้การบริบาลในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เพื่อสร้างประสบการณ์เชิงบวกให้แก่ผู้ป่วยทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน

โดยปราศจากข้อจำกัดด้านเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม เพื่อให้ผู้ป่วยต่างชาติมีความรู้สึกเหมือนได้รับการรักษาในประเทศบ้านเกิด

รุกนวัตกรรม ยกระดับการแพทย์ไทยอย่างยั่งยืน

บำรุงราษฎร์ จะให้ความสำคัญในมาตรฐานสูงสุดด้านบุคลากรทางการแพทย์และการให้บริการที่ครอบคลุมแล้ว โรงพยาบาลฯ ยังมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง

บำรุงราษฎร์นับเป็นโรงพยาบาลแรก ๆ ที่นำเทคโนโลยีที่เรียกว่า “Swisslog Pharmacy Robot” ซึ่งหุ่นยนต์ช่วยในการจัดยาสำหรับผู้ป่วยที่นอนพักรักษาในโรงพยาบาล ครอบคลุมตั้งแต่การจ่ายยา การจัดเก็บยา การบรรจุหีบห่อเพื่อใช้ในการบริหารจัดการยาให้กับผู้ป่วย

นอกจากเทคโนโลยีดังกล่าว บำรุงราษฎร์ยังมีเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย ทั้งการนำระบบคอมพิวเตอร์ที่เรียกว่า “ไอบีเอ็มวัตสัน” มาช่วยในการประมวลผลเพื่อให้แพทย์ตัดสินใจวางแผนการรักษาผู้ป่วยมะเร็ง (IBM Watson for Oncology) และยังได้พัฒนาความก้าวหน้าของศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับรักษาโรคมะเร็งแบบเฉพาะบุคคล (Precision Medicine) ซึ่งช่วยทำให้แพทย์สามารถตัดสินใจกำหนดแผนและวิธีการรักษาที่เหมาะสมยิ่งขึ้นโดยพิจารณาความจำเป็นและสภาพของผู้ป่วยแต่ละรายเป็นหลัก

การใช้แขนกลหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด (Robotic Arm Assisted Joint Replacement Surgery) การลงทุนในศูนย์ฝึกทักษะการดูแลผู้ป่วยด้วยสถานการณ์เสมือนจริง (Simulation Training Center)

Cardio Insight เทคโนโลยีใหม่ในการวินิจฉัยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ และการนำ GE 3 Tesla MRI เครื่องสร้างภาพที่ใช้ในการตรวจวินิจฉัยโรครุ่นล่าสุดที่ให้ภาพที่ละเอียดขึ้นและทำงานได้เงียบขึ้นด้วย

ล่าสุดบำรุงราษฎร์ได้เปิดตัวแขนกลหุ่นยนต์กำหนดพิกัดช่วยศัลยแพทย์ผ่าตัด (Robotic-Assisted and Navigated Spine Surgery) ช่วยเพิ่มความแม่นยำ ความรวดเร็ว และมีความปลอดภัยสูง

โดยศัลยแพทย์จะเป็นผู้วางแผนในการรักษา ตั้งแต่การระบุตำแหน่ง ทิศทางการใส่สกรู ซึ่งแขนกลหุ่นยนต์นี้สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระทุกทิศทาง ทำให้ลดระยะเวลาในการผ่าตัดน้อยลง

อีกทั้งยังสามารถมองเห็นภาพจากจอมอนิเตอร์แบบ 3 มิติ ขณะที่ผ่าตัดได้อย่างชัดเจน ซึ่งปัจจุบันสถิติของผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดมีมากกว่า 1,300 ครั้งต่อปี ในขณะที่มีศัลยแพทย์จากทั่วทุกมุมโลกมาอบรมที่บำรุงราษฎร์กว่า 2,000 คน ในช่วงระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ บำรุงราษฎร์ยังได้วางเป้าหมายที่จะพัฒนาธุรกิจโรงพยาบาลให้ทันสมัย ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก นำเทคโนโลยีมาใช้อำนวยความสะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการแก่ผู้ป่วย โดยนำข้อมูลมาวิเคราะห์ และออกแบบการบริการให้มีความเชื่อมโยง (Connectivity) เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย เพื่อมุ่งให้การบริการที่เป็นเลิศ

อย่างไรก็ตาม การนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาใช้เพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ดีในการรักษา ไม่อาจบรรลุเป้าหมายทั้งหมดขององค์กรได้ บำรุงราษฎร์ตระหนักดีว่าการสื่อสารรายละเอียดเกี่ยวกับการรักษา

การมีปฏิสัมพันธ์ การให้กำลังใจผู้ป่วยและการบริบาลอย่างเอื้ออาทร ยังคงเป็นบทบาทสำคัญของแพทย์ พยาบาล และบุคลากรของโรงพยาบาลฯ ทุกคน

ในการสร้างประสบการณ์เชิงบวกให้แก่ผู้ป่วยและผู้มาเยือนที่บำรุงราษฎร์ เพื่อขับเคลื่อนให้องค์กรพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป

banner Sample

Related Posts