การก้าวสูู่เทคโนโลยีใหม่ๆ ทางด้านยานยนต์นั้น สิ่งสำคัญคือการจับมือกับพันธมิตรในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อตอบสนองต่อโลกที่ต้องการมากกว่าพาหนะในการเดินทาง เช่นเดียวกับการแสดงนวัตกรรมของฮอนด้า
ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีเพื่อการเคลื่อนที่ โรโบติกส์ และการจัดการพลังงาน รวมไปถึงแนวคิดของเทคโนโลยีการเชื่อมต่อ ในงานแสดงนวัตกรรมเทคโนโลยีและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ หรือ CES 2019 (The Consumer Electric Show 2019) ที่ผ่านมา ก็เป็นผลมาจากความร่วมมือกับหลากหลายพันธมิตรเช่นกัน
นวัตกรรมของฮอนด้าที่จัดแสดงในงานนี้ สะท้อนความมุ่งมั่นในการสร้างสรรค์เทคโนโลยีที่พร้อมนำเสนอคุณค่าใหม่และยกระดับการใช้ชีวิต และเผยให้เห็นวิสัยทัศน์ในการร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจในด้านเทคโนโลยี เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ มีจุดมุ่งหมายเพื่อยกระดับคุณภาพและเพิ่มศักยภาพการใช้ชีวิต สร้างสรรค์โลกที่สะอาด ปลอดภัย และสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น
ไม่ว่าจะเป็น Honda Autonomous Work Vehicle และ SAFE SWARM ที่ก้าวหน้าไปอีกขั้น และได้รับการทดสอบจริงภาคสนามฮอนด้า
โดยมีการสาธิตเทคโนโลยีการเชื่อมต่อภายในรถยนต์ผ่านรถยนต์ ฮอนด้า พาสสปอร์ต โฉมใหม่ ปี 2019 และครั้งแรกของการเผยโฉมต้นแบบยนตรกรรมออฟโร้ดขับเคลื่อนอัตโนมัติ Honda Autonomous Work Vehicle ที่ผ่านการทดสอบการใช้งานจริง ซึ่งเป็นพาหนะต้นแบบรุ่นใหม่ที่สร้างสรรค์ขึ้นจากความฝันของทีมวิศวกรฮอนด้า
นิค ซูกิโมโตะ ซีอีโอ บริษัท ฮอนด้า อินโนเวชันส์ กล่าวว่า ฮอนด้ากำลังมองหาพันธมิตรใหม่ที่ต้องการพัฒนาและทดลองแนวคิดทางเทคโนโลยีใหม่ๆ ร่วมกัน และงาน CES คือเวทีสำคัญที่เหล่าพันธมิตรทางธุรกิจในด้านต่างๆ ได้มาพบปะเพื่อแสวงหาโอกาสในการสร้างความร่วมมือ
สอดคล้องกับหลักการสร้างสรรค์นวัตกรรมแบบเปิดที่จะทำให้ฮอนด้าสามารถสร้างคุณค่าใหม่ๆ ในด้านเทคโนโลยีเพื่อการเคลื่อนที่ รองรับไลฟ์สไตล์ที่หลากหลายของผู้คน และตอกย้ำวิสัยทัศน์ในการสร้างสังคมคุณภาพเพื่อการใช้ชีวิตของผู้คนอย่างมีความสุข และเป็นสังคมปลอดอุบัติเหตุ
ก่อนหน้านี้ฮอนด้า อินโนเวชันส์ ซึ่งเป็นหน่วยงาน R&D หนึ่งของฮอนด้า ตั้งอยู่ในซิลิคอน แวลลีย์ ได้เปิดเผยความร่วมมือใหม่ๆ กับกลุ่มธุกิจสตาร์ทอัพและแบรนด์พันธมิตรชั้นนำ
เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมแบบเปิด (Open Innovation) ผ่าน Honda Developer Studio และ Honda Xcelerator เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมที่พร้อมทำให้โลกเกิดการเปลี่ยนแปลง อีกทั้งสร้างการขับเคลื่อนเพื่อการค้นพบและทดลองเทคโนโลยีและแนวคิดใหม่
สำหรับผลิตภัณฑ์ต้นแบบและแนวคิดทางเทคโนโลยีที่ฮอนด้านำมาจัดแสดงในงาน CES 2019 ประกอบด้วย
Honda Autonomous Work Vehicle ต้นแบบยนตรกรรมออฟโรดขับเคลื่อนอัตโนมัติ ผสานคุณสมบัติของรถ ATV (All-Terrain Vehicle) ของฮอนด้า และเทคโนโลยีการขับขี่อัตโนมัติอันล้ำสมัยเข้าด้วยกัน
ซึ่งได้รับการออกแบบโดยศูนย์วิจัยและพัฒนา ฮอนด้า อาร์ แอนด์ ดี ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการทำงาน สำหรับหน่วยงานราชการและธุรกิจต่างๆ เพื่อใช้ในงานก่อสร้าง เกษตรกรรม ภาระกิจค้นหาและช่วยชีวิต ตลอดจนการดับเพลิง
Honda Autonomous Work Vehicle ใช้ช่วงล่างของรถ ATV ของฮอนด้าซึ่งผ่านการพิสูจน์และเป็นที่ยอมรับมายาวนานกว่า 30 ปี โดยมีจุดเด่นในการบุกตะลุยพื้นที่ทุรกันดารที่เข้าถึงยาก ด้วยระบบขับเคลื่อน 4 ล้อที่แข็งแรงและสมบุกสมบัน มาพร้อมระบบจีพีเอสและระบบขับขี่อัตโนมัติที่ทำงานด้วยเซ็นเซอร์
ซึ่งสามารถนำทางยานพาหนะได้ในทุกสภาพแวดล้อม อีกทั้งแท่นยึดอุปกรณ์ที่ออกแบบเป็นพิเศษให้สามารถติดตั้งอุปกรณ์เสริมต่างๆ ได้ไม่จำกัด และมีแหล่งพลังงานที่ติดตั้งอยู่ในตัวรถ
ขณะนี้รถต้นแบบนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งฮอนด้ายังคงแสวงหาพันธมิตรอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาอุปกรณ์เสริมและขยายขีดความสามารถในการใช้งาน ขยายประเภทธุรกิจที่ต้องการใช้งานพาหนะประเภทนี้ และพัฒนาเทคโนโลยีขับขี่อัตโนมัติและเซ็นเซอร์เพื่อปรับปรุงระบบขับขี่อัตโนมัติแบบออฟโรด
SAFE SWARM – แนวคิดที่แสดงให้เห็นถึงความฝันของฮอนด้าในการสร้างสังคมปลอดอุบัติเหตุให้เกิดขึ้นจริง ทำให้การจราจรลื่นไหลและปลอดภัย ผ่านการเชื่อมต่อเทคโนโลยีในรถยนต์ที่สามารถสื่อสารและเชื่อมโยงถึงกัน มีจุดประสงค์ให้รถยนต์สามารถสื่อสารกันผ่านระบบไร้สายและการจราจรมีความลื่นไหลและคล่องตัว
เหมือนการเคลื่อนไหวของฝูงปลา ใช้เทคโนโลยี Vehicle-to-Everything (V2X) เพื่อให้รถยนต์สามารถติดต่อสื่อสารกับรถยนต์คันอื่นที่อยู่รอบข้าง และแชร์ข้อมูลสำคัญ อาทิ ตำแหน่งและความเร็วของรถ
“ข้อมูลต่างๆ นี้ จะช่วยให้ผู้ขับขี่รถยนต์หรือระบบขับขี่อัตโนมัติสามารถนำข้อมูลมาประมวลผลร่วมกับเซ็นเซอร์ที่ติดตั้งภายในรถ เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลภายใต้สภาพแวดล้อม สภาพการจราจรรอบตัว เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในสถานการณ์ที่อาจเกิดอุบัติเหตุได้
ฮอนด้า เชื่อมั่นว่าการเชื่อมโยงผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคนเข้าด้วยกัน จะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมในการเดินทางที่ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ลดจำนวนอุบัติเหตุรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น และในที่สุดจะนำไปสู่การสร้างสังคมปลอดอุบัติเหตุให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง”
นอกจากนี้ด้วยแนวคิด SAFE SWARM ของฮอนด้า ยังจะเน้นช่วยให้การจราจรคล่องตัวขึ้น โดยอาศัยข้อมูลจากรถยนต์ที่วิ่งอยู่ด้านหน้ามาประมวลผล เพื่อลดการจราจรที่ติดขัด หรือคำนวณการเบรกรถยนต์ได้ล่วงหน้าเพื่อหลีกเลี่ยงการเบรกกระทันหัน หรือการเปลี่ยนเลนเมื่อจำเป็น
ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถประมวลได้ผ่านระบบการสื่อสาร V2X ที่ติดตั้งในตัวรถ ที่ประสานการทำงานกับเซ็นเซอร์ที่ติดตั้งในรถ หรือแม้แต่เซ็นเซอร์ในระบบโครงสร้างพื้นฐานของพื้นที่นั้นๆ ขณะนี้ฮอนด้ากำลังมองหาพันธมิตรด้านวิจัยและพัฒนา
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับระบบการขนส่งอัจฉริยะ (Intelligent Transportation System – ITS) รวมถึงพันธมิตรทางด้านระบบการเชื่อมต่อและรถยนต์ไร้คนขับ (Connected and Automated Vehicle – CAV)
Robotics – ฮอนด้า เดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีด้านโรโบติกส์ในหลากหลายรูปแบบ เพื่อให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์แห่งโลกอนาคตที่อุปกรณ์หุ่นยนต์จะเข้ามาทำหน้าที่ช่วยเหลือและเสริมศักยภาพการใช้ชีวิตของมนุษย์ Honda P.A.T.H. (Predicting Action of the Human) Bot คือ หุ่นยนต์ที่สามารถเคลื่อนที่ได้ด้วยตัวเองในสถานที่สาธารณะโดยไม่รบกวนผู้คนรอบข้าง
สร้างขึ้นจากเทคโนโลยี AI มาพร้อมกล้องและเซ็นเซอร์ติดตั้งในตัว ใช้ในการระบุตำแหน่งของตัวเองและจดจำสภาพแวดล้อมรอบข้าง ทำให้สามารถเคลื่อนที่ไปยังที่หมายต่างๆ ได้ โดยไม่ชนสิ่งกีดขวางและสามารถเลือกเส้นทางที่ดีที่สุดได้ด้วยตัวเอง
ทั้งนี้เพื่อให้การพัฒนาโรโบติกส์เป็นไปได้ง่ายขึ้น ฮอนด้าได้เปิดตัว Honda RaaS (Robotics as a Service) Platform ซึ่งเป็นแนวคิดแพลตฟอร์มซอฟต์แวร์สำหรับฟังก์ชันการทำงานทั่วไป เช่น การเก็บและแชร์ข้อมูล การควบคุมการสื่อสาร การเปลี่ยนแปลงสถานะ และการร่วมมือกันระหว่างหุ่นยนต์ ผ่านอินเทอร์เฟซหรือแพ็คเกจ API*2 และ SDK*3
โดยฮอนด้ามีเป้าหมายที่จะผลักดันบริการโรโบติกส์ ผ่านการทำงานร่วมกันระหว่างอุปกรณ์หุ่นยนต์ ระบบ และแอปพลิเคชันต่างๆ ซึ่งพัฒนาโดยฮอนด้าและพันธมิตร โดยฮอนด้ากำลังมองหาความร่วมมือจากผู้พัฒนาอุปกรณ์หุ่นยนต์และผู้ให้บริการโซลูชันด้านโรโบติกส์เพื่อให้เทคโนโลยีนี้เกิดขึ้นได้จริง
นอกจากนี้ฮอนด้ายังเผยโฉม Honda Omni Traction Drive System ซึ่งเป็นเทคโนโลยีควบคุมการทรงตัว ที่มาพร้อมระบบล้อขับเคลื่อนรอบทิศทาง ซึ่งพัฒนามาจากการค้นคว้าและวิจัยด้านโรโบติกส์ของฮอนด้า ซึ่งอยู่ในหุ่นยนต์คล้ายมนุษย์ของฮอนด้า อาซิโม (ASIMO) ซึ่งช่วยให้ ยูนิ-คับ (UNI-CUB) พาหนะส่วนบุคคลสามารถเคลื่อนที่ได้รอบทิศทางอย่างเป็นธรรมชาติ
เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านโรโบติกส์ สามารถนำไปใช้ได้กับผลิตภัณฑ์และอุปกรณ์เคลื่อนที่ได้มากมาย ฮอนด้าจึงได้ร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อสร้างเทคโนโลยีเพื่อการเคลื่อนที่และการขนส่ง โดยประเดิมความร่วมมือครั้งแรกกับ นีเด็ค-ชิมโป คอร์ปอเรชั่น (Nidec-Shimpo Corporation)
บริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านเครื่องจักร อุปกรณ์ ส่วนประกอบยานยนต์ และยานพาหนะต่าง ๆ ของประเทศญี่ปุ่น โดยนำ Honda Omni Traction Drive System ไปใช้ใน S-CART ซึ่งเป็นพาหนะขับเคลื่อนอัตโนมัติ ที่ใช้เพื่อการทำงานในโรงงานหรือโกดัง
ฮอนด้าเตรียมเผยโฉม Wireless Vehicle-to-Grid (V2G) ระบบบริหารจัดการพลังงานแบบสองทางที่สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตามกระแสความนิยมของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่กำลังเติบโต ทำให้กริดไฟฟ้าหรือเครือข่ายที่เชื่อมต่อสำหรับการจ่ายไฟฟ้าจากผู้ผลิตต่างๆ ไปยังผู้บริโภค ที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่เพียงพอต่อความต้องการ
ส่งผลให้การใช้แหล่งพลังงานที่ไม่สามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่เพิ่มสูงขึ้น และเกิดการปล่อยคาร์บอนมากขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากแบตเตอรี่ในรถยนต์สามารถใช้เป็นแหล่งเก็บพลังงานเพื่อรักษาสมดุลระหว่างการใช้งานและการสำรองพลังงาน เจ้าของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าของฮอนด้าสามารถเข้าร่วมโครงการ V2G
และได้รับค่าชดเชยจากผู้ประกอบการสาธารณูปโภคที่ได้รับประโยชน์จากการใช้รถยนต์ไฟฟ้าฮอนด้าเพื่อช่วยลดความต้องการไฟฟ้าจากกริดไฟฟ้าได้
ระบบจัดการพลังงานใหม่นี้ต่างจากการชาร์จไฟผ่านสายแบบเดิม โดยการชาร์จและปล่อยกระแสไฟฟ้าทำได้อย่างง่ายโดยไม่ต้องทำการสัมผัส เพียงแค่นำรถยนต์จอดบนแผ่นชาร์จที่ฮอนด้าได้ทำการพัฒนาระบบนี้ร่วมกับ WiTricity ผู้บุกเบิกด้านการส่งพลังงานไฟฟ้าแบบไร้สาย
Wireless Vehicle-to-Grid ของฮอนด้า จะช่วยสร้างสมดุลระหว่างความต้องการใช้ไฟฟ้าและการผลิตไฟฟ้าอย่างเป็นระบบ โดยจะทำการจ่ายไฟเข้าสู่รถในช่วงเวลาที่ปริมาณการผลิตไฟฟ้าสูงกว่าการบริโภคไฟฟ้า และปล่อยกระแสไฟฟ้าออกจากรถสู่กริดไฟฟ้าเมื่อปริมาณการบริโภคไฟฟ้ามีสูงกว่าการผลิต
ฮอนด้ามีความสนใจที่จะร่วมมือกับบริษัทด้านพลังงานต่างๆ ทั้งบริษัทรายใหญ่ที่เป็นผู้รวบรวมความต้องการใช้ไฟฟ้า และผู้ผลิตไฟฟ้า เพื่อให้ระบบนี้สามารถนำไปใช้งานจริงได้ในสังคม
Honda Dream Drive – สำหรับผู้ขับขี่ ได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นจากการต่อยอดแนวคิดเทคโนโลยีการชำระเงินในรถยนต์ ซึ่งเปิดตัวครั้งแรกในงาน CES 2017 เป็นระบบที่ช่วยให้ผู้ขับขี่สามารถจองร้านอาหาร จ่ายค่าสินค้าและบริการ ทั้งค่าน้ำมัน บัตรชมภาพยนตร์ และค่าที่จอดรถ และแชร์ตำแหน่งที่อยู่ของผู้ขับ
โดยทั้งหมดนี้สามารถทำได้อย่างง่ายดาย ผ่านระบบกระเป๋าเงินอัจฉริยะที่ติดตั้งอยู่ในรถฮอนด้า ในส่วนของผู้โดยสารนั้นจะสามารถเล่นเกมแบบมิกซ์เรียลลิตี้ ภาพยนตร์ และแอปพลิเคชันด้านการเดินทาง รวมทั้งการควบคุมวิทยุและอุปกรณ์ต่างๆ
ภายในห้องโดยสาร ผ่านทางโทรศัพท์มือถือ และในอนาคต แพลตฟอร์ม Honda Dream Drive ยังได้เตรียมเปิดตัวแนวคิดระบบสะสมคะแนนสำหรับลูกค้า ด้วยความร่วมมือกับผู้นำในอุตสาหกรรมค้าปลีกและเอนเตอร์เทนเมนต์
Honda Xcelerator ระบบนิเวศน์ใหม่ด้านยานยนต์
ทั้งนี้ฮอนด้ายังจะร่วมเสริมสร้างระบบนิเวศสำหรับสตาร์ทอัพในสหรัฐอเมริกาและทั่วโลก ผ่านโครงการ Honda Xcelerator จะมุ่งเน้นการร่วมมือกับสองสตาร์ทอัพ คือ Noveto Systems และ Perceptive Automata เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยในการขับขี่
ต่อยอดจากเทคโนโลยี Noveto Smart Audio ของ Noveto สามารถส่งสัญญาณเสียงไปยังหูแต่ละข้างของผู้ฟัง พร้อมกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกที่สัมผัสได้สู่ผู้ขับขี่ โดยที่ไม่ต้องละสายตาจากท้องถนน เทคโนโลยีนี้จะช่วยให้ผู้ขับรถเกิดความตระหนักรู้เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมรอบข้าง
โดยเตือนว่ามีสิ่งกีดขวางที่ไม่สามารถมองเห็นได้อย่างขัดเจน จากการจับสัญญาณผ่านเซ็นเซอร์ในรถยนต์ รวมทั้งช่วยให้ระบบนำทางในรถยนต์ทำงานได้แม่นยำยิ่งขึ้น
สำหรับผลงานที่ Honda Xcelerator พัฒนาร่วมกับ Perceptive Automata จะช่วยทำให้การใช้รถใช้ถนนปลอดภัยและคล่องตัวมากยิ่งขึ้น สำหรับทั้งผู้ขับขี่และพาหนะที่ขับเคลื่อนอัตโนมัติ
โดยจะทำให้พาหนะที่ขับเคลื่อนอัตโนมัติ มีสัญชาตญาณเหมือนมนุษย์ ในการเข้าใจสภาวะทางจิตใจของผู้เดินถนน ผู้ขับขี่จักรยาน และผู้ขับขี่รถยนต์ ผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลแบบเรียลไทม์จากเซ็นเซอร์ที่ติดตั้งในรถยนต์ โดยเทคโนโลยีนี้จะช่วยให้การใช้งานระบบขับขี่อัตโนมัติมีความปลอดภัยยิ่งขึ้น
ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง