‘สามารถ’ ปี ’62 เดินหน้าเต็มที่ หลังเจ็บตัวเพราะโลกเปลี่ยนเร็ว

กลุ่มสามารถ

การเจ็บตัวจากการดำเนินธุรกิจของ ‘กลุ่มสามารถ’ ในปี 2561 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจสามารถดิจิตอลที่เคยมีหัวหอกสำคัญอย่างไอโมบายต้องยุติบทบาทลง ทำให้การดำเนินงานภาพรวมสะดุดและนิ่งไปพอสมควร

แม้จะยังไม่บอกตัวเลขของรายได้ของปีที่แล้ว เนื่องจากติดกฏเกณฑ์บางอย่าง แต่พอจะประเมินได้ว่าน่าจะพลาดเป้าไปประมาณ 30-40% จากที่ตั้งไว้ เพราะในปีนี้กลุ่มสามารถยังตั้งเป้าเท่ากับปีที่ผ่านมาคือ 20,000 ล้านบาท หรือเติบโตขึ้นจากปีที่แล้ว 30-40%

กลยุทธ์สำคัญในการฟื้นธุรกิจในกลุ่มสามารถดิจิตอลคือ การจับมือกับพันธมิตรให้มากขึ้นและหันมาโฟกัสในธุรกิจที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเร็ว เน้นงานที่มีรายได้ต่อเนื่องและเจาะลูกค้าฐานเดิมที่มีอยู่

โดยคาดว่าจะเริ่มเห็นรายได้ที่ชัดเจนหลังจากครึ่งปีหลังไปแล้ว และมั่นใจว่าหากทำให้ธุรกิจในกลุ่มนี้ฟื้นตัวและมีรายได้ตามที่ตั้งไว้ ก็จะสามารถสร้างกำไรได้มากขึ้นและมีรายได้ตามที่ตั้งเป้าไว้ เนื่องจากกลุ่มธุรกิจอื่นๆ ของสามารถในปีที่ผ่านมามีการเติบโตทุกกลุ่ม

นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.สามารถคอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา กลุ่มสามารถได้มีการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงโครงสร้างธุรกิจบางส่วนให้สอดคล้องกับยุคดิจิตอล และเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีและความต้องการของผู้บริโภค

โดยได้มีการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ๆ ที่จะส่งผลต่อการสร้างรายได้ประจำอย่างต่อเนื่องนับจากปีนี้เป็นต้นไป โดยมีแนวคิดในการรุกธุรกิจปีนี้ว่า “SAMART…Strong & Sustain” หรือปีแห่งการพลิกฟื้นธุรกิจองค์กร สร้างความแข็งแกร่งและยั่งยืน

ในปีนี้ได้ตั้งเป้าเติบโตทุกสายธุรกิจด้วยรายได้ทั้งกลุ่ม 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งนอกจากจะมีการปรับตัวเองทั้งองค์กรและบุคลากรเพื่อรองรับกับเทคโนโลยีใหม่แล้ว ยังมี 2 ปัจจัยหลักที่ช่วยสนับสนุนให้ธุรกิจของสามารถเติบโต

คือ 1. ภาพรวมเศรษฐกิจไทย ปีนี้น่าจะดีกว่าปีก่อน จากการท่องเที่ยวและการลงทุนจากต่างประเทศ ที่ต้องการลงทุนในไทย เพื่อเชื่อมโยงการค้าระหว่าง CLMV และที่สำคัญ ถ้าการเลือกตั้งเกิดขึ้นและมีรัฐบาลใหม่ ทุกอย่างจะคลี่คลาย แต่ถึงอย่างไรปัจจัยสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนที่ทวีความรุนแรงขึ้น อาจมีผลต่อเศรษฐกิจโลก และอาจส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยได้

2.การกระตุ้นของภาครัฐ ในร่างกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงนโยบาย Thailand 4.0 ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมด้านเทคโนโลยีและดิจิตอลเพื่อการพัฒนาประเทศเป็นหลัก

ทั้งนี้เมื่อแบ่งการดำเนินงานเป็นแต่ละธุรกิจนั้น ในส่วนของสายธุรกิจ SAMART Digital หรือ SDC ตั้งเป้ารายได้ที่ 4,000 ล้านบาท หลังจากปรับโครงสร้างและขยายโอกาสสู่ธุรกิจใหม่ๆ มีแววรายได้ฟื้นตัว

และมีรายได้เติบโตชัดเจนในปี 2019 จากธุรกิจ Digital Network อาทิ โครงข่ายวิทยุระบบ CAT DTRS Nationwide ของกระทรวงมหาดไทย รวมถึงธุรกิจด้าน Digital Content ทั้ง BUG, EDT และ i-sport มีแนวโน้มสร้างรายได้เติบโตต่อเนื่อง

สายธุรกิจ ICT Solutions นับเป็นปีทองของไอซีที ที่จะทำ New High ทั้งในส่วนของรายได้และมูลค่างานในมือ โดยตั้งเป้ารายได้ปี 2019 ที่ 1 หมื่นล้านบาท และมีงานในมือกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท จากการเซ็นต์สัญญาโครงการต่าง ๆ มากถึง 118 โครงการ อาทิ โครงการของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคกว่า 7,000 ล้านบาท

โครงการของกองบัญชาการตำรวจแห่งชาติ 6,000 ล้านบาท และโครงการของบมจ.การท่าอากาศยานไทยกว่า 1,500 ล้านบาท เป็นต้น ล่าสุดประเดิมด้วยการได้งานโครงการติดตั้งและพัฒนาระบบสารสนเทศธุรกิจหลักให้กับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ SME Bank มูลค่า 579 ล้านบาท

สายธุรกิจ U-TRANS เป้ารายได้ที่ 4,400 ล้านบาท โดยได้มีการปรับโครงสร้างองค์กร เพื่อเตรียมนำ บริษัท แคมโบเดีย แอร์ทราฟฟิค เซอร์วิส จำกัด (CATS) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และเพื่อเอื้อต่อการขยายธุรกิจทั้งในส่วนของ Air Traffic Control ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

และการขยายธุรกิจทางด้าน Underground Cable ซึ่งมีมูลค่าโครงการมากถึง 1.4 หมื่นล้านบาท โดยล่าสุด บริษัท เทด้า คว้างานก่อสร้างสถานีต้นทางคลองด่านของกฟน. ในนาม The Consortium of TEDA-ITE-STC” มูลค่า 1,635 พันล้านบาท (โดยเป็นสัดส่วนของเทด้า มูลค่ากว่า 700 ล้านบาท)

นายวัฒน์ชัย กล่าวว่า ในส่วนของ บมจ. วันทูวัน คอนแทคส์ (OTO) ตั้งเป้ารายได้ 1 พันล้านบาท โดยยังเน้นลูกค้าภาครัฐเป็นหลัก ส่วนภาคเอกชนมุ่งเน้นไปที่กลุ่มธนาคารและกลุ่มธุรกิจประกัน โดยวาง 2 แนวรุก เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ คือ New Service มุ่งพัฒนาสินค้า และบริการด้านธุรกิจคอลล์เซ็นเตอร์ที่เป็น digital services อย่างต่อเนื่อง

เพื่อตอบสนองพฤติกรรมของผู้บริโภค เช่น การให้บริการ Voice AI, การนำ Chatbot มาให้บริการสอบถามข้อมูลผ่านช่องทาง Line Connect, facebook และ website ที่ช่วยลดระยะเวลา และค่าใช้จ่ายให้กับลูกค้า

New Market โดยการร่วมมือกับ partner อย่างเป็นทางการกับ LINE Company (Thailand) Limited ในโครงการ LINE Customer Connect ในการเป็นผู้ดำเนินการงานด้านระบบบริการลูกค้า

รวมถึงเป็น Strategic Partner กับบริษัท HANKOOK Corporation ผู้นำในธุรกิจ Contact Center ครบวงจรในประเทศเกาหลีใต้ ด้วยการแลกเปลี่ยนแนวคิดการบริหารงาน การพัฒนาเทคโนโลยี และจับมือกันนำเสนอบริการใหม่เข้าสู่ตลาด

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง

บมจ.สามารถคอร์ปอเรชั่น

banner Sample

Related Posts