SCB ยกห้องค้าหลักทรัพย์สู่มหิดล ฝึกการลงทุนเยาว์วัย

SCB ยกห้องค้าหลักทรัพย์สู่มหิดล ฝึกการลงทุนเยาว์วัย

SCB จับมือมหิดล อัดงบประมาณกว่า 5 ล้านบาท ยกเครื่องมือห้องค้าหลักทรัพย์จริง ผุด SCB Investment Lab ในรั้วมหาวิทยาลัย เดินหน้าปั้นมหิดลสู่ ‘สมาร์ท ยูนิเวอร์ซิตี้’ ภายใต้แนวคิด DCU (Digital Convergence University)ประเดิมศาลายาที่แรก พร้อมขยายสู่วิทยาเขตภูมิภาค ตั้งเป้าปูทางนักศึกษาได้เรียนรู้การเงินและการลงทุนทั้งมหาวิทยาลัยราว 2 หมื่นคน

นางสาวศลิษา หาญพานิช ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Segment Management และ Strategic Planning ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า การเปิด SCB Investment Lab นับเป็นครั้งแรกของการเปิดแลปส์ด้านการลงทุนในสถานศึกษา และจะไม่มีเรื่องของการขายสินค้าหรือบริการเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่เป็นการให้ความรู้เรื่องของการเงินและการลงทุนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

โดยแลปส์แห่งนี้จะจำลองเครื่องมือจริงที่มีอยู่ในห้องค้าหลักทรัพย์ ของหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ ที่มีใช้อยู่จริงทั้งหมด นักศึกษาสามารถเรียนรู้ขั้นตอน เทคนิค ตลอดจนแนวทางการลงทุน จากผู้เชี่ยวชาญของธนาคารที่มีอยู่ราว 4-5 คน และสามารถทดลองเทรดได้จริงผ่านระบบจำลอง Click2Win ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มจำลองที่อ้างอิงจากข้อมูลของกระดานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

SCB Investment Lab
นางสาวศลิษา หาญพานิช ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Segment Management และ Strategic Planning ธนาคารไทยพาณิชย์

สำหรับในช่วงแรกนอกจากการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการลงทุนผ่านการสัมนาที่จะจัดขึ้น 2 ครั้ง/เดือนแล้ว ยังตั้งเป้าที่จะส่งต่อองค์ความรู้ให้กับนักศึกษากลุ่ม Financial Club ที่มีอยู่ราว 20 คน เพื่อพัฒนาขึ้นมาเป็นผู้ถ่ายทอดและให้ความรู้กับแลปส์แห่งนี้ต่อไปในอนาคต

ขณะที่ด้านการลงทุนนั้น การสร้างแลปส์จะใช้เงินอยู่ราว 5 ล้านบาททั้งส่วนของโครงสร้างและระบบเทคโนโลยีทั้งหมด โดยปัจจุบัน SCB Investment Lab แห่งแรกตั้งอยู่ที่ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา สามารถรองรับผู้ใช้งานได้ราว 20 คน ต่อการอบรม 1 รอบ ซึ่งคาดว่าตลอดทั้งปีจะสามารถอบรมนักศึกษาที่สนใจได้มากกว่า 3,000 คน หรือราว 10-20% ของจำนวนนักศึกษาทั้งมหาวิทยาลัยที่มีอยู่เกือบ 2 หมื่นคน

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ ธันย์ สุภัทรพันธุ์ รักษาการแทนรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า เราตั้งเป้าสู่การเป็น ‘สมาร์ท ยูนิเวอร์ซิตี้’ ด้วยแนวคิดที่ต้องการให้นักศึกษาได้มีประสบการณ์ดิจิทัลจริงๆภายในรั้วมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นเสมือนจุดกึ่งกลางระหว่างการใช้ชีวิตที่บ้านและก่อนการออกสู่ตลาดแรงงานจริง การเรียนในรั้วมหาวิทยาลัยจึงต้องเรียนรู้ด้วยประสบการณ์จริงมากกว่าวิชาการเพียงอย่างเดียว

ความร่วมมือของมหาวิทยาลัยและธนาคารไทยพาณิชย์จึงได้เกิดขึ้นภายใต้แนวคิด Digital Convergence University หรือ DCU ที่ครอบคลุมการเปลี่ยนผ่านประสบการณ์ดิจิทัลของนักศึกษาให้เตรียมพร้อมสู่การทำงานโดยตรง ทั้งโครงสร้างพื้นฐานทางอินเทอร์เน็ต รูปแบบการพัฒนาคน ตลอดจนโซลูชั่นของการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล ผ่านการดำเนินงานใน 4 โครงการหลัก

SCB Investment Lab
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ ธันย์ สุภัทรพันธุ์ รักษาการแทนรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

1.โครงการ ‘การเรียนรู้ผ่าน e-learning’ บน website ของมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นการจัดสัมนาจากผู้ทรงคุณวุฒิทางการเงินที่มีชื่อเสียง และประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพด้านต่างๆ ที่ไม่เพียงแต่จะมาให้ความรู้ทางการเงิน แต่จะมาสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักศึกษาด้วย

2.โครงการ ‘Mahidol Virtual Classroom Powered by SCB’ ระบบห้องเรียนอินเตอร์แอคทีฟ ที่เชื่อมต่อ 3 วิทยาเขต ของมหาวิทยาลัย ได้แก่ ศาลายา กาญจนบุรี นครสวรรค์ และอำนาจเจริญ ให้สามารถเรียนรู้การสัมมนาไปพร้อมกันได้ทันที

3. โครงการแอปพลิเคชั่น ‘WeMahidol’ ซึ่งอยู่ในขั้นทดลองใช้งาน (เบต้า) เริ่มมีกลุ่มทดลองที่ดาวน์โหลดลงมาใช้แล้วกว่า 1,000 ราย รองรับการยืนยันบุคคลเข้าสู่ห้องสมุด เชื่อมโยงการส่งข่าวสารระหว่างมหาวิทยาลัยไปสู่นักศึกษา และบุคลากรในมหาวิทยาลัยได้แบบเฉพาะบุคคลและรวดเร็ว

อาทิเช่น การรายงานผลการเรียน การดำเนินงาน หรือการรายงานค่าฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่มหาวิทยาลัย ตลอดจนการยืนยันตัวบุคคลเพื่อเข้าใช้บริการของหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยเป็นต้น

นอกจากนี้แอปพลิเคชั่นดังกล่าว ยังตั้งเป้าที่จะเป็นแอปศูนย์รวมที่สามารถยืนยันตัวบุคคลที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยมากขึ้น ตลอดจนพัฒนาไปสู่การเชื่อมโยงระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างปลอดภัยในอนาคต โดยแอปพลิเคชั่นนี้คาดว่าจะสามารถเริ่มเปิดให้บริการนักศึกษาทุกระดับชั้นได้ในปีการศึกษา 2562 ช่วงเดือนมีนาคมนี้อย่างเป็นทางการอีกครั้ง

และ 4.โครงการล่าสุด SCB Investment Lab ภายในอาคารหอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งจะเป็นการพัฒนาให้นักศึกษาเข้าถึงความรู้ด้านการเงิน การลงทุน หรือ Financial Literacy และได้สัมผัสของจริงจากห้องค้าหลักทรัพย์จริง ทำให้นักศึกษาเกิดความมั่นใจในองค์ความรู้จากภาคปฏิบัติ

ทั้งนี้ โครงการ DCU ตั้งเป้าที่จะสร้างประสบการณ์ดิจิทัลจริงให้กับนักศึกษาภายในรั้วมหาวิทยาลัย ให้สามารถทรานส์ฟอร์มไปสู่วิถีชิวิตดิจิทัลได้อย่างคล่องแคล่วก่อนออกสู่ตลาดแรงงานในอนาคต ซึ่งในราวเดือนสิงหาคมนี้คาดว่าจะสามารถทำให้นักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัย สามารถเข้าถึงแพลตฟอร์มดิจิทัลทั้งระบบได้กว่า 70% จากปัจจุบันที่ทำได้ราว 40% เท่านั้น

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง

ธนาคารไทยพาณิชย์

Related Posts