วงการธนาคารไทยพลิกโฉมอีกครั้ง หลังจากมุมมองต่างชาติยกให้ไทยเป็น Digital Banking World Class Experience ตลอดปีที่ผ่านมา คราวนี้ ธนาคารกลุ่มผู้นำดิจิทัลอย่าง ธนาคารไทยพณิชย์ รุกคืบสู่ร้านสะดวกซื้อ จับมือ 7-อีเลฟเว่น เปิดบริการรับ ฝาก-ถอน เงินสดบัญชีออมทรัพย์และกระแสรายวัน นับเป็นรายแรกของการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญที่จะสร้างความสั่นคลอนให้วงการการเงินการธนาคารไทยอีกครั้ง
การร่วมมือกันเพื่อเปิดบริการ ‘SCB Services’ ครั้งนี้ ได้ทำให้ สาขาของ 7-อีเลฟเว่น ที่มีจำนวนกว่า 11,000 สาขาทั่วประเทศ สามารถรับ-ถอนเงินสดได้มากกว่าสาขาทุกธนาคารทันทีเกือบ 2 เท่า
ซึ่งหากมองข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ในเดือนมกราคม 2562 ระบุว่า ประเทศไทย มีสาขาของทุกธนาคารอยู่ที่ 6,729 สาขาเท่านั้น โดยแบ่งเป็นสาขาในกรุงเทพ 2,003 ภาคกลาง 2,169 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ934 ภาคเหนือ 795 และภาคใต้ 828 เท่านั้น
ขณะที่จำนวนตู้กดเงินสด (ATM) ของธนาคารในประเทศไทยทั้งหมด จากข้อมูลปี 2561 ระบุว่ามีเครื่องเอทีเอ็มในประเทศไทยอยู่ราว 7 หมื่นกว่าเครื่อง ซึ่งเท่ากับว่า การจับมือครั้งนี้ เป็นการช่วยลดต้นทุนการจัดการตู้ลงได้อย่างมหาศาลสำหรับธนาคารไทยพาณิชย์ อีกทั้งในส่วนของจำนวนตู้ยังเพิ่มขึ้นอีกกว่าเท่าตัวในทันที ส่งผลให้ ไทยพาณิชย์ เป็นธนาคารที่เข้าถึงผู้บริโภคมากที่สุดในตอนนี้
ซึ่งแนวทางนี้สอดคล้องกับข้อมูลจากเวที SCB Vision 2020 ในช่วงปี 2018 ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ ประกาศชัดเจนที่จะปรับลดจำนวนสาขา และพนักงานลงจากราว 2.7 หมื่นคน ให้เหลือเพียง 1.5 หมื่นคน พร้อมเพิ่มความสามารถให้พนักงานมากขึ้น และส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลให้เร็วที่สุด ก่อนปี 2020 ที่จะมาถึง
ความพร้อม บุคคลากร ที่จะให้บริการด้านการเงิน?
แม้ว่าจะได้สาขาเพิ่มมากขึ้น แต่เรื่องของบุคคลากรที่จะเข้ามารับหน้าที่การสื่อสารเรื่องการเงิน อาจจะได้รายละเอียดไม่มากนัก เนื่องจากพนักงานที่เข้ามาให้บริการได้ถูกเปลี่ยนเป็นพนักงานขายใน 7-อีเลฟเว่น แทน ซึ่งหากมีข้อขัดข้อง หรือเกิดข้อสงสัย อาจจะต้องติดต่อธนาคารโดยตรง
แน่นอนว่าจะต้องยุ่งยากเพิ่มมากขึ้นหากเกิดปัญหา แต่ก็แลกมาที่ความสะดวกเพิ่มขึ้นมาก ในการแลกเปลี่ยนเงินสดเป็นดิจิทัลแบบตลอด24 ชั่วโมง
ความท้าทายของการเปลี่ยนผ่านนี้ จึงอยู่ที่การอบรมพนักงานให้มีความรู้ความเข้าใจเรื่องของการเงินที่เพิ่มมากขึ้น สามารถอธิบายพื้นฐานการเงิน หรือให้คำแนะนำที่ถูกต้องได้เมื่อเกิดปัญหา
ซึ่งเมื่อหันมามองที่กลุ่มพนักงงานเซเว่นอีเลฟเว่น ที่มีโมเดลของร้านสะดวกซื้อแบบเฟรนไชต์ พนักงานมากกว่าครึ่งเป็นรูปแบบชั่วคราว รับเงินรายชั่วโมง ปริมาณเงินเดือนแตกต่างจากการทำงานธนาคารราว 3-4 เท่าตัว ขณะที่วุฒิการศึกษาก็แตกต่างกันอย่างชัดเจน
แน่นอนว่าโจทย์นี้ อาจจะแก้ยากสักหน่อยในการให้ความพร้อมพนักงาน แต่กระนั้น เรื่องเงินๆทองๆก็เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ธนาคารจะต้องให้ความสำคัญ ไม่ใช่เพียงการขยายการบริการออกไป เพียงเพื่อปักหมุดบริการก่อนก็เท่านั้น
ซึ่งหากย้อนกลับไปในส่วนของความผิดพลาดของเทคโนโลยีทางการเงินที่ผ่านมา ล้วนมีสาเหตุมาจาก Human Error ทั้งสิ้น การเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ หากเกิดข้อผิดพลาดใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ
จึงต้องดูกันยาวๆต่อไป ว่าท้ายที่สุดแล้ว การขยับเข้าสู่การบริการทางการเงินในร้านสะดวกซื้อ จะเปลี่ยนแปลงให้พนักงาน มีความสามารถด้านการเงินเพิ่มมากขึ้นได้อย่างไร ก่อนที่ปัญหาจะเกิดและทำให้ผู้บริโภคหมดความเชื่อมั่นทางการเงินในร้านสะดวกซื้อก่อนนั่นเอง
ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง