6 อาการ โรคตาแห้ง ต้นเหตุจากโรคเอ็มจีดี รู้ก่อนป้องกันได้

6 อาการ โรคตาแห้ง ต้นเหตุจากโรคเอ็มจีดี รู้ก่อนป้องกันได้

เทคโนโลยีมีส่วนสำคัญทำให้คนติดจอมากขึ้น และเป็นปัจจัยที่เร่งให้เกิด โรคตาแห้ง ซึ่งมีสาเหตุมาจากโรคเอ็มจีดี หรือโรคต่อน้ำตามัยโบเบียนทำงานผิดปกติ ซึ่งพบในคนทั่วโลกกว่า 340 ล้านคน แต่ทว่ามีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่รู้จักโรคนี้ ทำให้สถานการณ์ของโรคทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

วันนี้ TheReporter Asia ได้มีโอกาสมาเดินงาน การประชุมนานาชาติ Asia-Pacific Academy of Ophthalmology (APAO) ครั้งที่ 34 ซึ่งเป็นงานรวมเทคโนโลยีจักษุแพทย์โดยตรง เลยอดไม่ได้ที่จะสืบหาเรื่องราวของอาการ และการป้องกัน โรคตาแห้ง อย่างถูกวิธีมาให้ได้รู้กัน

นพ. ณัฐวุฒิ วะน้ำค้าง จักษุแพทย์ ศูนย์จักษุ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผยว่า ในอดีต โรคตาแห้ง ซึ่งมีต้นเหตุมาจากโรค MGD (Meibomian gland dysfunction) ยังไม่เป็นที่รู้จัก เนื่องจากไม่มีเครื่องมือในการตรวจรักษาที่จะทำให้รู้สาเหตุของโรคเท่าทุกวันนี้

การวินิจฉัยในอดีตที่ผ่านมา เมื่อเกิดโรคเกี่ยวกับตาที่มีอาการตาแห้ง ตาติดเชื้อ ขี้ตาเยอะเมิ่อตื่นนอน หรือแม้กระทั่งการกระพริบตาบ่อยๆ เนื่องจากการระคายเคือง เหล่านี้ เมื่อแพทย์ตรวจจึงได้รับการรักษาโดยการใช้น้ำตาเทียม ยาสเตียรอยด์ ​ตลอดจนยาปฏิชีวนะ​ตามอาการที่ตรวจพบเท่านั้น ซึ่งไม่ใช่การรักษาจากสาเหตุเกิดโรคที่แท้จริง

และเมื่ออาการดังกล่าวหายได้ไม่นาน ก็จะมีอาการที่คล้ายคลึงกันกลับมาเช่นเดิม สาเหตุมาจากการรักษาที่ไม่ตรงจุด เนื่องจากการตรวจพบเป็นเพียงอาการปลายเหตุเท่านั้น ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีในการตรวจรักษานั้นไม่มีให้เลือกมากนักในอดีต

ขณะที่การตรวจรักษา อาการของผู้ป่วยที่เข้ามา ล้วนเป็นอาการที่หนักแล้วทั้งสิ้น เนื่องจาก การระคายเคืองตา การกระพริบตาบ่อยๆ หรือแม้กระทั่งการมีขี้ตาเยอะผิดปกติ ร่างกายจะสามารถปรับตัวได้ แต่ทว่าอาการเหล่านี้ ล้วนเป็นสัญญาณที่บ่งบอกการเกิดโรคตาแห้งทั้งสิ้น อาการเล็กน้อยเช่นนี้จึงไม่มีใครเข้าพบแพทย์ และเมื่อต้องพบแพทย์จึงเป็นอาการที่หนักแล้วนั่นเอง

6 สัญญาณบ่งชี้ โรคตาแห้ง ต้นเหตุจาก MGD

  1. กระพริบตาบ่อย ผิดปกติ
  2. ตื่นนอนแล้วมีขี้ตาผิดปกติ
  3. แสบตาเมื่อมองจอ หรือเพ่งเป็นเวลานาน
  4. มีอาการปวดเบ้าตา ต่อเนื่อง
  5. อาการเปลือกตาบวม ผิดปกติ
  6. น้ำตาไหลบ่อย

โดยจากการสำรวจคนไทยกว่า 8 ใน 10 คน พบว่ามีอาการโรคตาแห้งที่เกิดจากต่อมน้ำตาดังกล่าวผิดปกติ แต่ส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่าเป็นภาวะเสี่ยงเกิดโรคตาแห้ง และบางรายทำการรักษาเอง ด้วยการซื้อยาหยอดตามาหยอดเอง ซึ่งก็ช่วยทุเลาลง แค่ไม่ใช่การรักษาที่ถูกต้องนัก

โรคตาแห้ง
นพ. ณัฐวุฒิ วะน้ำค้าง จักษุแพทย์ ศูนย์จักษุ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล

นพ. ณัฐวุฒิ กล่าวเสริมว่า ช่วงปี 2008 -​ 2010 เราเริ่มมีการรวมกลุ่มจักษุแพทย์ ในการศึกษาโรคเอ็มจีดีอย่างจริงจัง โดยพบว่าโรคนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคตาแห้ง ซึ่งไม่ต่างจากการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ เนื่องจากเป็นภาวะต่อมน้ำตา หรือต่อมมัยโบเบียน เกิดการอุดตันและเสื่อมสภาพลง ทั้งเรื่องของอายุที่เพิ่มมากขึ้น การติดเชื้อพาราไซต์หรือตัวไรขนตา อันเกิดจากการหมักหมมของสิ่งสกปรกในขนตา

และเมื่อเกิดอาการอุดตันแล้ว ร่างกายจะสร้างแรงดันที่มากขึ้นในการส่งน้ำตาออกมาหล่อเลี้ยงลูกตา ทำให้เกิดอาการปวดบริเวณเบ้าตา เนื่องจากส่งแล้วไม่ออกเพราะมีการอุดตัน หรือการอักเสบจากเชื้อที่ไรขนตาหรือพาราไซต์ปล่อยออกมา ซึ่งอาการนี้พบมากในผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป และผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับหน้าจอนานๆ เป็นต้น

เราอาบน้ำทุกวัน สระผมทุกวัน แต่มีกี่ครั้งที่เราสระขนตา หรือทำความสะอาดขนตาและรอบบริเวณดวงตาอย่างถูกวิธี

กว่า 70% ของการตรวจอาการตาอักเสบของผู้ป่วย พบว่ามีเขื้อพาราไซต์ทั้งแบบชนิดหางยาวและหางสั้นมากกว่า 5 ตัว บริเวณขนตา และทำให้เกิดอาการอักเสบไปถึงต่อมมัยโบเบียน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อีกทั้งในระยะยาว ยังส่งผลให้การทำงานของต่อมมัยโบเบียนที่มีท่ออยู่รอบตวงตากว่า 100 ท่อ เกิดการอุดตันและเสื่อมสภาพลง ส่งผลให้การผลิตน้ำหล่อเลี้ยงตามีประสิทธิภาพที่ลดลง จึงทำให้เกิดอาการโรคตาแห้งนั่นเอง

เบื้องต้นเราควรทำการล้างเบ้าตาหรือทำความสะอาดบริเวณดวงตาอย่างถูกวิธี ด้วย 2 ทางเลือกในปัจจุบัน ทั้งการใช้สบู่เด็กมาผสมน้ำ แล้วทำการฟอกและล้างบริเวณหนังตาและขนตาเป็นเวลา 10 นาที เพื่อชำระล้างสิ่งสกปรกออกไป

หรือจะเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบมาเฉพาะต่อการล้างเปลือกตาและขนตา ซึ่งจะมีสารประกอบ Tea Tree Oil ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียและพาราไซต์โดยตรงก็ได้

นอกจากนี้ กระบวนการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดภาวะความเสี่ยงเป็นโรคตาแห้งนั้น สามารถทำได้โดยการลดการใช้งานหน้าจอเป็นเวลานานๆ หมั่นกระพริบตาบ่อยเพื่อให้ต่อมมัยโบเบียนผลิตน้ำตาออกมา และสามารถใช้ถุงเจลหรือผ้าแช่น้ำอุ่นในการประคบร้อน ซึ่งอุณหภูมิที่เหมาะสมแนะนำว่าควรอยู่ที่ราว 42 องศาเซลเซียส เพื่อให้สิ่งที่อุดตันในต่อมน้ำตานิ่มตัว และสามารถดันออกมาได้เองตามธรรมชาติ

แต่เมื่อเกิดอาการตาแห้งแล้ว ควรเข้าพบแพทย์ เพื่อทำการรักษา โดยสามารถรักษาได้หลังการตรวจอาการ หรือบางรายจะต้องทำการรีดสิ่งที่อุดตันออก ด้วยวิธีการสอดแผ่นกระจกเข้าใต้หนังตา แล้วทำการรีดสิ่งที่อุดตันออกมา พร้อมๆกับการประคบร้อน เพื่อช่วยให้สิ่งที่อุดตันนิ่มตัว แต่วิธีการเช่นนี้จะทำให้หนังตาระบมได้หลังการรักษา และต้องอยู่ในการทำโดยแพทย์เท่านั้น

เทคโนโลยีช่วยวินิจฉัยและรักษาได้อย่างรวดเร็ว

ด้านผู้บริหารประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน วิชั่น เปิดเผยว่า เราเชื่อว่าการสร้างการรับรู้ ให้ผู้คนตระหนักเรื่องโรคตาแห้งมากขึ้น จะช่วยให้ผู้คนทั่วโลกมีสุขภาพตาที่ดีขึ้น ซึ่งการสำรวจผู้คนทั่วโลก พบว่ากว่า 340 ล้านคนทั่วโลกประสบภาวะตาแห้ง แต่ยังไม่รู้จักโรคนี้

แม้ว่าโรคเอ็มจีดี จะเป็นโรคเรื้อที่สามารถเป็นหนักขึ้นได้ และเป็นอุปสรรคในการดำเนินชีวิตประจำวัน จากโรคดังกล่าว

ในประเทศไทย การสำรวจผู้คนกว่าพันคนของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน วิชั่น พบว่า 79% ยังไม่รู้จักโรคเอ็มจีดี โดยมีอยู่ราว 48% ที่มีอาการเจ็บหรือระคายเคืองดวงตา และ 48% มีอาการแสบตา และอีกกว่า 34% ยังรู้สึกเหมือนมีฝุ่นผงในดวงตา

ขณะที่ 69% ของคนไทย มีการรักษาโรคเอ็มจีดีด้วยตนเอง และ 42% มีการลดเวลาที่อยู่หน้าจอลง ขณะที่ 33% ซื้อยาหยอดตามาใช้เอง โดยมีเพียง 17% ของกลุ่มที่ซื้อยามาหยอดเองที่ระบุว่าการรักษาได้ผลมาก

ทั้งนี้ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค เอ็มจีดี พบว่ามีสาเหตุมาจากรูปแบบการใช้ชีวิตและสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ โดย 31% พบว่ามีอาการเมื่อมีการเปิดเครื่องปรับอากาศภายในที่พักอาศัย และ 32% พบว่ามีอาการเมื่อต้องอยู่กลางแจ้ง ขณะที่ 49% มีอาการเมื่อดูหน้าจอเป็นเวลานาน

โรคตาแห้ง
LipiView II เครื่องช่วยตรวจและวิเคราะห์อาการ MGD

ทั้งนี้โรคเอ็มจีดี จะทำให้เกิดอาการตาพร่ามัว มีอาการไม่สบายตา หรือไม่สบายตาเมื่อต้องใส่คอนแทคเลนส์ ตาอักเสบ ตาแห้ง และส่งผลให้คุณภาพชีวิตลดลง เนื่องจากความบกพร่องของการมองเห็นนั่นเอง

เทคโนโลยีใหม่ของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน วิชั่น วันนี้มีมาจัดแสดงในงานหลายเครื่อง แต่ไฮไลต์ของการตรวจรักษาโรคเอ็มจีดีมีอยู่ 2 เครื่องใหม่ได้แก่เครื่อง LipiView II ซึ่งเป็นเครื่องที่จะช่วยวิเคราะห์อาการ จากการถ่ายภาพความละเอียดสูงแบบเรียลไทม์ แล้ววิเคราะห์การสร้างน้ำตามาหล่อเลี้ยงดวงตาออกมาเป็นค่าที่แม่นยำ จากการกระพริบตาของผู้ป่วย

ทำให้จักษุแพทย์ สามารถรู้ต้นเหตุที่แท้จริงของการเกิดโรคตาแห้ง จากการทำงานของต่อมมัยโบเบียนที่ผิดปกติลง และทำการรักษาได้อย่างตรงจุด ในเวลาที่รวดเร็ว โดยคนไข้จะใช้เวลาในการตรวจเช็คเพียง 5-10 นาทีต่อครั้งเท่านั้น

และเมื่อตรวจเช็คแล้ว ในกระบวนการรักษาจะมีเครื่อง LipiFlow ซึ่งทำหน้าที่แทนการนวดหรือรีดสิ่งที่อุดตันในต่อมมัยโบเบียน โดยจะเป็นการสอดเข้าไปที่หนังตาชั้นบนและล่าง พร้อมทำการครอบดวงตาด้วยวัสดุใช้ครั้งเดียว

LipiFlow จะปล่อยความร้อนราว 42.5 องศาเซียลเซียส เพื่อทำให้สิ่งที่อุดตันอยู่นิ่มตัวลง พร้อมทำการบีบนวดเพื่อให้สิ่งที่อุดตันหลุดออกมาแทนการบีบด้วยแบบดั้งเดิม ที่สร้างความระบมให้ผู้ป่วยได้ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดใช้เวลาในการทำราว 12 นาทีในการรักษา และไม่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการบอบช้ำแต่อย่างใด

นับเป็นเทคโนโลยี เพื่อการรักษาโรคเอ็มจีดี ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคตาแห้งที่มีเพียงหนึ่งเดียวในโลก และประเทศไทยยังเป็นประเทศที่2 ของอาเซียน (ประเทศแรกสิงคโปร์) ที่เริ่มมีการจำหน่ายอย่างจริงจัง นับตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันมีให้ใช้ที่โรงพยาบาลจุฬา และโรงพยาบาลเชียงใหม่เท่านั้น

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง

จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน วิชั่น

Related Posts