โครงการ “รอบรู้งานวิจัย กับ สวก.” ที่ทางสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร หรือ สวก.ได้พา Thereporter.asia ขึ้นเหนือไปนั้น ไม่ได้มีแค่เครื่องสำอางเพียงอย่างเดียวที่น่าสนใจ เพราะยังได้ทำความรู้จักกับแผนงานวิจัยบูรณาการงานวิจัยเมี่ยง
เพื่อสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของพืชที่เรียกว่า “ชาเมี่ยง” หรือ “ชาเหมี้ยง” ตามการเรียกของชาวล้านนา ซึ่งก็คือ “ชาอัสสัม” ที่รู้จักกันโดยทั่วไปใน หมู่บ้านแม่กำปอง แหล่งท่องเที่ยวที่กำลังได้รับความนิยม
แผนงานวิจัยบูรณาการดังกล่าว เกิดจากความร่วมมือในการพัฒนาข้อเสนอโครงการวิจัย ระหว่าง สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิ ตั้งแต่กลางปี 2557
ตั้งเป้าหมายให้เป็นแผนงานวิจัยที่ทำงานวิจัยในลักษณะบูรณาการแบบ Trans-disciplinary เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ต่อทั้งการศึกษา สังคม ชุมชน วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุจินดา ศรีวัฒนะ เป็นผู้อำนวยการแผนงานวิจัย แผนงานวิจัยดังกล่าว
ประกอบด้วย 3 โครงการวิจัยย่อย คือ 1.โครงการวิจัยการสืบสานภูมิปัญญา “คน-ป่า-เหมี้ยง” 2.โครงการการทำมาตรฐานและการพัฒนาสารสกัดเมี่ยงและวิธีการวิเคราะห์ทางเคมี และ 3.โครงการการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์เมี่ยง
“ชาเมี่ยงเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ผลิตภัณฑ์อาหารหมักพื้นบ้านล้านนาแปรรูปที่หมักแบบธรรมชาติ ให้ได้ชาที่มีสารออกฤทธิ์ที่มีผลดีต่อสุขภาพ นำมาใช้ประกอบอาหาร ทำเครื่องดื่ม แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ประกอบพิธีกรรมต่างๆ

นอกจากนี้ป่าเมี่ยงยังช่วยรักษาสมดุลของสิ่งแวดล้อม แต่ปัจจุบันวัฒนธรรมเมี่ยงเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ต้นเมี่ยงถูกละเลยไปปลูกพืชอื่นทดแทน จึงต้องทำการสืบสานวัฒนธรรม และนำผลวิจัยที่ได้มาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ในเชิงพาณิชย์ต่อไป”
นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ ผู้อำนวยการ สวก. กล่าวว่า ชาเมี่ยงนี้จะพบได้เฉพาะในพื้นที่ป่าที่อุดมสมบูรณ์ในเขตพื้นที่ภาคเหนือเท่านั้น ทั้งยังเป็นพืชในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.)
กระบวนการหรือองค์ความรู้ในการทำเมี่ยงหมัก ยังเป็นภูมิปัญญาของชาวล้านนาที่สืบทอดกันมามากกว่า 500 ปี โดยแผนงานวิจัยที่ทางสวก.ให้การสนับสนุนนี้เป็นการทำงานวิจัยร่วมกันของนักวิจัย มากกว่า 30 ชีวิตจาก 3 สถาบันการศึกษา ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และมหาวิทยาลัยพะเยา
“ผลที่ได้จากงานวิจัยครั้งนี้ได้มีการนำใบอ่อนและใบเมี่ยงหมัก มาสกัดด้วยตัวทำละลายเพื่อให้ได้สารสกัดหยาบ ซึ่งสามารถนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย อาทิ 1.ชาเขียวเมี่ยง ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าด้วยการนำใบยอดจนถึงใบที่ 2-3 มาผ่านกระบวนการนึ่งด้วยไอน้ำ
และคั่วด้วยกระทะร้อน จนได้ชาเขียวจากต้นเมี่ยงที่มีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระ 2.ชาเมี่ยงหมัก หมักใบเมี่ยงอ่อนในที่ 4-6 หมัก 1 วันถึง 12 เดือนจากนั้นนำมาคั้นน้ำออกมาทำให้แห้ง ก่อนบรรจุในซองชา 3.กัมมี่เมี่ยง นำเมี่ยงหมักมาพัฒนาเป็นลูกกวาดลูกอม
ใช้คลายเครียด รับประทานเล่น สร้างความสนุกสนานเพลิดเพลิน สามารถต่อยอดเชิงอุสหสากรรมได้ และ ชาเมี่ยงหมักยังต่อยอดเป็น 4.ผลิตภัณฑ์สปาได้อีก เช่น แชมพู สบู่เหลว และน้ำยาบ้วนปาก และพัฒนาไปเชิงพาณิชย์ได้ ทำให้คนรุ่นใหม่สามารถสร้างรายได้จากเมี่ยง และทำให้เมี่ยงเกิดการอนุรักษ์ต้นเมี่ยง และทำให้เมี่ยงดำรงอยู่คู่ล้านนาต่อไป”
การดำเนินงานของแผนงานวิจัยดังกล่าว ถือเป็นต้นแบบของการพัฒนาข้อเสนอโครงการวิจัย และการติดตามการดำเนินงานของแผนงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงงบประมาณจากแหล่งทุนวิจัยที่กล่าวมาข้างต้นเท่านั้น นักวิจัยในแผนงานวิจัย ยังพยายามบูรณาการการบริหารจัดงานงบประมาณเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
อาทิ การจัดสร้างศูนย์การเรียนรู้กึ่งพิพิธภัณฑ์ “คน-ป่า-เหมี้ยง” วัดคันธาพฤกษา หมู่บ้านแม่กำปอง ตำบลห้วยแก้ว อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ นั้นได้มีงบประมาณสนับสนุน จากศูนย์ความเป็นเลิศนวัตกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการวิเคราะห์ (I-ANALY-S-T)
คลัสเตอร์ความเป็นเลิศด้านเศรษฐกิจและสังคม บนฐานความหลากลายทางชีวภาพ (B.BES-CMU) และศูนย์วิจัยพหุวิทยาการงานวิจัยเหมี้ยง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
นอกจากนี้ยังมีภาคเอกชนที่ร่วมบริจาคงบประมาณและงบประมาณ จากการจัดทอดผ้าป่าสามัคคีเพื่อการจัดสร้างศูนย์การเรียนรู้ กึ่งพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวอีก 2 ครั้ง รวมทั้งการร่วมแรงร่วมใจของคนในชุมชนในการบริจาคอุปกรณ์ สำหรับการผลิตเมี่ยงจากคนในชุมชน เพื่อนำมาใช้ตกแต่งภายในศุนย์การเรียนรู้กึ่งพิพิธภัณฑ์ เป็นต้น
นายสุวิทย์ กล่าวว่า จากการทำวิจัยร่วมกันของนักวิจัยทั้ง 3 สถาบัน ตัวแทนจากชุมชนที่ร่วมแผนงานวิจัยและผู้ทรงคุณวุฒิจากแหล่งทุนวิจัย จึงทำให้แผนงานวิจัยนี้เกิดผลลัพธ์ต่อทั้งการศึกษา สังคม ชุมชน วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ
ดังวัตถุประสงค์ของแผนงานวิจัยที่ตั้งไว้ โดยผลลัพธ์ของแผนงานวิจัยดังกล่าวที่เกิดขึ้น แบ่งได้เป็นผลลัพธ์ด้านวัฒนธรรมและเศรษฐกิจและชุมชน และผลลัพธ์ด้านวิชาการและสิ่งแวดล้อม
ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง