การทำ CSR หรือเรียกง่ายๆ คือการคืนประโยชน์ให้กับสังคมนั้น มีมากมายหลายรูปแบบ และส่วนใหญ่ก็หนีไม่พ้นการทำให้พื้นที่ๆไปทำมีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งปัจจุบันก็มักจะมุ่งสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนได้มากขึ้น
สร้างความร่วมมือร่วมกันให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นผู้รับเพียงฝ่ายเดียว เช่นเดียวกับ โครงการ “แค่ใจก็เพียงพอ” ของนิสสัน ที่ไม่เพียงแต่นำไอเดียของเด็กรุ่นใหม่มาใช้ประโยชน์เท่านั้น แต่ยังได้นำขยะเหลือทิ้งมาเพิ่มมูลค่าให้แปลกตามากกว่าเดิม
โครงการ CSR “แค่ใจก็เพียงพอ” ของนิสสัน เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2560 และมีการสานต่อโครงการปีที่ 2 ในปีนี้ ซึ่งมีความแตกต่างไปจากปีแรก โดยได้ริเริ่มการนำคนรุ่นใหม่คือ กลุ่มนักศึกษาด้านการออกแบบ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จำนวน 70 คน
แบ่งออกเป็น 6 กลุ่มย่อย เพื่อทำการออกแบบและสอนขั้นตอนการทำผลิตภัณฑ์จากของเหลือใช้ในท้องถิ่นให้แก่คนในชุมชนเพื่อนำไปจำหน่าย ภายใต้เป้าหมายของโครงการในด้านการลดของเสีย การสร้างงาน และการสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้แก่ชุมชน
นิสสันเลือกพื้นที่ปากน้ำปราณ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในการพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์จากสิ่งของเหลือใช้ที่เกิดขึ้นในชุมชน เน้นการลดของเสีย สร้างงาน และสร้างรายได้ที่ยั่งยืน โดยตัวอย่างของการสร้างสรรค์ต้นแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆ
เช่น โคมไฟประดับที่ทำจากอวนจับปลาเหลือทิ้ง กระเป๋าที่ถักจากกะลามะพร้าว เชือก และรองเท้าแตะที่ทำจากพลาสติกที่รีไซเคิลจากขวด อีกทั้งยังมีการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ เป็น เครื่องประดับ และอุปกรณ์ใช้งานอื่น ๆ อีกมากมาย
ก่อนหน้าที่จะพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์นิสสันได้ให้นักศึกษาลงพื้นที่สำรวจของเหลือทิ้งในชุมชน ก่อนที่จะกลับไปคิดและพัฒนาออกเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบ
และได้ร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับอาจารย์ จารุพัชร อาชวะสมิต อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เพื่อร่วมสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักศึกษา รวมไปถึงยังได้พบปะและพูดคุยกับสมาชิกของชุมชนระหว่างการลงพื้นที่
ปีเตอร์ แกลลี รองประธาน สายงานสื่อสารองค์กร นิสสัน มอเตอร์ ประเทศไทย กล่าวว่า กิจกรรมนี้นักศึกษามีโอกาสค้นคว้าเกี่ยวกับของเหลือใช้และกำหนดว่าจะออกแบบของเหล่านี้ให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่สวยงามและมีคุณค่า (upcycle) ได้อย่างไร
นักศึกษามีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ที่พวกเขาได้เรียนรู้วิธีการออกแบบและผลิตสินค้าที่สามารถทำการตลาดได้ โดยชุมชนท้องถิ่นสามารถนำไปผลิตและจำหน่ายได้เอง สิ่งเหล่านี้เป็นทักษะการปฏิบัติที่สำคัญ เราหวังว่านักศึกษาจะนำไปใช้กับชีวิตการทำงานของพวกเขาในอนาคต มากไปกว่านั้นคือการช่วยพัฒนาชุมชนได้อย่างยั่งยืน
“นับเป็นการเสียสละเวลา ความพยายาม และความคิดสร้างสรรค์ของนักศึกษา ในการออกแบบต้นแบบผลิตภัณฑ์เหล่านี้จากของเหลือใช้ที่พวกเขารวบรวมร่วมกับสมาชิกของชุมชน ซึ่งหลังจากนำเสนอต้นแบบผลิตภัณฑ์
นักศึกษาและผู้นำชุมชนได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์และเจาะลึกเพื่อเลือกว่าผลิตภัณฑ์ชิ้นไหนที่ควรพัฒนาต่อไป จนผลิตภัณฑ์ที่เสร็จสมบูรณ์ สามารถเปลี่ยนของเหลือใช้ให้กลายเป็นสินค้าที่ขายได้”
ด้าน อาจารย์จารุพัชร กล่าวว่า รู้สึกยินดีและตื่นเต้นที่ได้มีส่วนร่วมในโครงการนี้ ซึ่งทำให้นักศึกษาได้รับประสบการณ์จริงที่ไม่สามารถเรียนรู้ได้จากในห้องเรียน นอกจากนี้ยังช่วยให้คนในชุมชนเกิดการเรียนรู้วิธีการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีดีไซน์ที่สวยงาม และพร้อมที่จะทดลองและพยายามพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ด้วยตัวของพวกเขาเอง
โดยในส่วนของพลาสติกนั้นทางอาจารย์จะเป็นผู้ติดต่อกับโรงงานรีไซเคิล เพื่อนำไปผลิตเป็นเชือกไนลอนที่สามารถนำกลับมาใช้ในการถักกระเป๋า รองเท้า และทำอื่นๆ ส่วนเครื่องมือในการรีดความร้อนนั้น ในเบื้องต้นจะมีให้หยิบยืมก่อน
ในการเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ของ Thereporter.asia นั้น งานที่เข้าตาที่สุด (จริงๆ ชอบทุกผลงานล่ะ) คือ กระถางอนุบาลต้นไม้จากไบโอพลาสติกเเละกากมะพร้าว ที่นำวัสดุหรือของเหลือใช้หลักจากชุมชนที่นำมาสร้างสรรค์
กากมะพร้าว เเละเศษใบสน หรือเศษวัสดุธรรมชาติต่างๆมาผลิตเป็นกระถางต้นไม้ได้ที่สามารถย่อยสลายได้ด้วยตนเอง สามารถนำกระถางลงดินได้เลย ซึ่งจากเดิมที่เราเคยใช้กระถางพลาสติกในการเพาะเมล็ด เพาะต้นอ่อน เราก็เปลี่ยนมาใช้กระถางนี้ พอโตก็สามารถนำลงดินปลูกได้ทันที ไม่ต้องเปลี่ยนกระถาง ไม่ต้องใช้พลาสติก
จุดเด่นที่ทำให้ชอบคือมีต้นทุนที่ต่ำมากๆ และทำได้ไม่ยาก ไม่ต้องมีอุปกรณ์อะไรเพิ่มเติมเลยใช้ของในครัวเรือนล้วนๆ โดยมีวัสดุหลักคือ แป้งข้าวโพด น้ำมันพืช และน้ำเปล่า เริ่มจากนำวัสดุที่เตรียมไว้มากวนรวมกันจนแป้งเริ่มเหนียวจึงค่อยใส่กากมะพร้าวที่ตัดค่อนข้างละเอียด
นำมาผสมแล้วคนจนแป้งข้าวโพดมีสีใส ต่อมานำเนื้อผลิตภัณฑ์ไปขึ้นรูปโดยการทาบนตัวแม่พิมพ์เซรามิคที่เป็นรูปทรงกระถางซึ่งเคลือบแลคเกอร์ไว้ก่อนแล้ว จากนั้นจึงนำมาตากแดดแล้วรอให้แห้ง เมื่อแห้งแล้วจึงถอดออกจากพิมพ์ เท่านี้ก็เสร็จสมบูรณ์ เป็นกระถางสามารถย่อยสลายได้ 100% สามารถปลูกพืชลงดินได้เลยโดยไม่ต้องเปลี่ยนกระถาง หรือสร้างขยะ
ส่วนอีกชิ้นที่มองว่าเก๋ไก๋ แต่อาจจะต้องลงทุนสักหน่อยก็คือ โคมไฟ Aquamarine ที่ได้นำ “อวน” เครื่องมือจับปลาที่ถักเป็นตาข่ายผืนยาว ใช้ล้อมจับปลา ที่ชำรุดจนไม่สามารถใช้งานในการจับปลาได้อีก และถูกทิ้งไว้โดยไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์ต่อเป็นจำนวนมาก และมีมูลค่าน้อยเมื่อนำมาขายเป็นเศษขยะ
ซึ่งผลงานชิ้นนี้น้องนักศึกษาได้รับแรงบันดาลใจมาจาก แมงกระพรุน โดยการทำส่วนหัวเริ่มจากนำกระดาษแข็งมาทำต้นแบบเป็นรูปร่างที่ต้องการ จากนั้นจัดทรงแหให้ได้ตามรูปแบบของกระดาษแข็ง จากนั้นนำฟอร์มที่เราได้ไปเข้าเครื่องฮีต (อันนี้อาจจะต้องลงทุนเครื่องฮีตสักหน่อย)
หลังจากเสร็จกระบวนการผลิตแล้วก็จะได้โคมไฟที่นำไปประดับบ้าน ร้านอาหาร หรือโรงแรม ต่างๆ นับเป็นการนำวัสดุเหลือใช้ที่คนอื่นอาจจะไม่เห็นค่านำมาเพิ่มมูลค่า และสามารถใช้ประโยชน์ได้จริงแล้ว แสดงถึงวิถีชีวิตของชุมชนที่ใช้ชีวิตกับทะเลอีกด้วย
แม้ชิ้นงานอื่นๆ อาจจะไม่ได้นำมาขยายความในบทความนี้
แต่ต้องบอกเลยว่าทุกชิ้นงานสามารถพัฒนาต่อยอดไปได้อีกไกล และต้องชื่นชมแนวคิดของน้องๆ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ซึ่ง Thereporter.asia มั่นใจว่า ถ้าพวกเขาได้รับการถ่ายทอดฝีมือจากอาจารย์ผู้สอนในระหว่างการศึกษา เมื่อจบมาเราจะได้บุคลากรที่สามารถออกแบบชิ้นงานพื้นบ้าน ที่สามารถแข่งขันกับตลาดโลกอีกหลายรายเลยทีเดียว
ขอบคุณนิสสันสำหรับกิจกรรมเพื่อสังคมที่แสดงถึงความร่วมมือกันในหลายภาคส่วน ซึ่งรวมถึงการหลอมรวมคนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่าให้หันหน้าเข้าหากัน และร่วมมือกันพัฒนาประเทศนับจากนี้ต่อไป
ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง