ธรรมศาสตร์ จัดงาน “วันสัญญา ธรรมศักดิ์” ประจำปี 2562 เพื่อรำลึกถึงคุณูปการ ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ และมอบรางวัลนักศึกษาด้านกฎหมายดีเด่น ประจำปี 2562 มุ่งยึดแบบอย่างที่ดีในการปฏิบัติงาน พร้อมเปิดเวทีเสวนา “อนาคตการเมืองไทยหลังเลือกตั้ง”
ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล เชื่อสังคมไทยยังไม่ถึงทางตัน แต่กกต.ต้องเที่ยงธรรม ชี้เสียงคนรุ่นใหม่สร้าง ‘Smart Democracy’ ด้านอาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาฯ ห่วงเลือกนายกรัฐมนตรีไม่ทันการทำหน้าที่ประธานอาเซียน และเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าแนะรัฐบาลใหม่เร่งแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและความยุติธรรม
มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ จัดงาน “วันสัญญา ธรรมศักดิ์ ประจำปี 2562” เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2562 โดยช่วงเช้ามีพิธีวางพานพุ่มเพื่อรำลึกถึงเกียรติคุณศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ อดีตประธานองคมนตรี อดีตนายกรัฐมนตรี อดีตประธานศาลฏีกา และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ ลานอนุสาวรีย์ศาสตราจารย์ สัญญา ธรรมศักดิ์ มธ.ศูนย์รังสิต
โดยมี รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมด้วยผู้นำองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก
ในปีนี้ ผู้ที่ได้รับรางวัลนักศึกษากฎหมายดีเด่นได้แก่ น.ส.กนกรัตน์ ธรรมพนิชวัฒน์ เกียรตินิยมอันดับ 1 จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักศึกษาที่ได้รับเกียรติบัตร ได้แก่ น.ส.ปิยากร เลี่ยนกัตวา จากคณะนิติศาสตร์ มธ. และนายปารเมศ เทพรักษ์ จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
พร้อมด้วยรางวัลเรียนดี “ธรรมศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์” ได้แก่ นายพชร วัฒนสกลพันธุ์ ได้คะแนนสูงสุด 87.93 % นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษ อรรถนิติ ดิษฐอำนาจ องคมนตรี เป็นประธานในพิธี
ในงานยังได้จัดเวทีเสวนาพิเศษ “อนาคตการเมืองไทยหลังเลือกตั้ง” ณ ห้อง SC 3005 ชั้น 3 อาคารเรียนรวมกลุ่มสังคมศาสตร์
โดย ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า การเมืองไทยในขณะนี้ยังไม่ถึงทางตัน แต่ทุกคนควรเดินหน้าตามกติการะบอบประชาธิปไตย เคารพใน 1 สิทธิ 1 เสียงเท่ากัน โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่จำนวนมากออกมาลงคะแนนอย่างเสรี เรียกว่าเป็นยุค Smart Democracy อย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.ปริญญา แสดงความเป็นห่วงวิธีการคำนวณผลคะแนนจากการเลือกตั้ง เพราะมีผลต่อการจัดตั้งรัฐบาลแต่ละฝ่าย ดังนั้น แนวทางของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จึงต้องมีความเที่ยงธรรม ไม่เลือกเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า อนาคตการเมืองไทยยังคงมีปัญหาเสถียรภาพและความไม่แน่นอน ภาวะสุญญากาศที่ยืดเยื้อไปถึงเดือนมิถุนายน 2562 จะไม่เป็นผลดีต่อการเป็นประธานการประชุมอาเซียน และตัวแทนประชุม G20 ซึ่งนานาชาติต้องการเห็นผู้นำไทยที่ไม่ได้มาจากการรัฐประหาร
“ทุกคนไม่อยากเห็นการเมืองย้อนอดีตเหมือนเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และพฤษภาคม 2535 จึงอยากให้มองการเมืองด้วยความหวัง อดทนและมีอนาคตเสมอ เพราะขณะนี้เราเห็นด้านบวกคือความตื่นตัวของคนรุ่นใหม่และคนในชนบท ส่วนใหญ่ก้าวข้ามปัญหาสีเสื้อแล้ว ถึงเวลาที่ควรก้าวไปข้างหน้าร่วมกัน”
ศ.วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า สิ่งที่เป็นห่วงขณะนี้คือภาวะวิกฤตของคำว่า “ถูกกติกาแต่ไม่ชอบธรรม” หลักนิติรัฐ นิติธรรมอาจถูกกัดกร่อนจนมีผลเสียระยะยาวจากปัญหาต่างๆ จึงอยากเห็นทุกคนเคารพกติกา ไม่ว่าฝ่ายใดเป็นรัฐบาลแล้วต้องให้สิทธิเสรีภาพประชาชน ปล่อยกลไกตรวจสอบทำงาน และทบทวนว่าระบบบัตรลงคะแนนใบเดียวมีความเหมาะสมหรือไม่
“สังคมไทยต้องมีความหวัง มีอนาคตร่วมกันว่าการเลือกตั้งคือทางออกของประเทศ เมื่อตั้งรัฐบาลได้แล้วสุดท้ายปลายทางคือต้องแก้ไขโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมและกระบวนการยุติธรรมที่ยังมีความเหลื่อมล้ำ”
ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง