สำนักงานสถิติแห่งชาติ จับมือมหาวิทยาลัยขอนแก่นจัดทำโครงการ ระบบการจัดเก็บข้อมูลลุ่มน้ำ ทั่วประเทศ 25 ลุ่มน้ำ พร้อมเจาะลึกลงระดับการใช้น้ำในครัวเรือนแต่ละแห่งอย่างละเอียดในรูปแบบของบิ๊กดาต้า
ก่อนทำเป็นดัชนีชี้วัดต้นแบบสำหรับประเมินการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศไทย เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจด้านนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนในอนาคต ลดการขาดแคลนน้ำและป้องกันน้ำท่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โครงการระบบการจัดเก็บข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานระดับพื้นที่ เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนในลุ่มน้ำทั่วประเทศ จำนวน 25 ลุ่มน้ำ อยู่ภายใต้แผนแม่บทการพัฒนาระบบข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจ และยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำ พ.ศ. 2555 – 2564
มีวัตถุประสงค์เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานด้านเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงข้อมูลที่เกี่ยวกับทรัพยากรน้ำในระดับพื้นที่ย่อย สำหรับนำมาใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำต่าง ๆ ทั้งพื้นที่ในเขตชลประทาน พื้นที่นอกเขตชลประทานและพื้นที่ในเขตเมือง เพื่อนำมาจัดสร้างเป็นดัชนีชี้วัดต้นแบบสำหรับประเมินการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศไทย
โดยดัชนีชี้วัดการจัดการน้ำประกอบด้วย 1.ต้นทุนทรัพยากรน้ำทั้งน้ำผิวดินน้ำบาดาล 2.การจัดการน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ครัวเรือนสถานที่ราชการ 3.วัดความมั่นคงของน้ำ เพื่อการพัฒนาเพื่อใช้ในการเกษตรอุตสาหกรรมบริการและพลังงาน 4.ความสมดุลของน้ำต้นทุนและการใช้น้ำ 5.การจัดการคุณภาพน้ำและสิ่งแวดล้อม 6.การจัดการภัยพิบัติที่เกิดจากน้ำท่วม น้ำแล้งและน้ำเสีย 7. การจัดการและอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ และ 8. การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
นายภุชพงค์ โนดไธสง ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ กล่าวว่า เดิมการเก็บข้อมูลน้ำจะเป็นการเก็บเพื่อให้รู้ว่าแต่ละครัวเรือนหรือหน่วยงานต่างๆ ใช้น้ำไปในปริมาณเท่าไร แต่การเก็บข้อมูลของสถิติฯ จะเก็บเพื่อให้ทราบว่าแต่ละครัวเรือนหรือหน่วยงานใช้น้ำทำอะไรบ้าง
อย่างเช่น ใช้เพื่อการผลิต เกษตร ปศุสัตว์ โดยข้อมูลจะถูกเก็บในรูปแบบของบิ๊กดาต้า ที่จะสามารถนำข้อมูลในแต่ละพื้นที่มาประเมินการใช้น้ำและพิจารณาว่ามีน้ำสำหรับใช้เพียงพอในพื้นที่หรือไม่ ถ้าไม่เพียงพอก็ปล่อยน้ำจากระบบชลประทานให้เพียงพอ แต่หากพื้นที่ไหนแห้งแล้งก็จะทำแหล่งน้ำให้มากขึ้น
“การเก็บข้อมูลของสถิติฯ จะเป็นการบูรณาการข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องทั้งที่มีอยู่ และดำเนินการจัดเก็บข้อมูลในส่วนที่ขาดหาย เพื่อสนับสนุนและเชื่อมโยงข้อมูลเข้าสู่คลังข้อมูลน้ำและภูมิอากาศแห่งชาติ โดยการเก็บรวบรวมข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติจะส่งเจ้าหน้าที่ที่เป็นอาสาสมัคร เครือข่ายภาคประชาชน หรือที่เรียกว่า “คุณมาดี”
ลงพื้นที่เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลการใช้น้ำเพื่อการอุปโภค บริโภคสำหรับครัวเรือนที่อยู่อาศัย และการใช้น้ำในภาคการเกษตร การผลิต และการบริการจากสถานประกอบการทุกแห่ง ทั่วประเทศ โดยใช้ Tablet ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม – 31 สิงหาคม พ.ศ. 2562”
โครงการนี้สถิติฯ ได้งบประมาณในการทำโครงการประมาณ 600 ล้านบาท แบ่งเป็นการจ้างที่ปรึกษาคือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประมาณ 46 ล้านบาท จัดซื้อแท็บเล็ตจำนวน 20,000 เครื่อง ประมาณ 195 ล้านบาท (ซึ่งในส่วนนี้ใช้เงินไปเพียง 130 ล้านบาทส่วนที่เหลือจะส่งงบประมาณคืน) ทำการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่และการจ้างงานเจ้าหน้าที่ (คุณมาดี) 4 เดือน จำนวน 20,000 คน ประมาณ 300-400 ล้านบาท
และเมื่อดำเนินโครงการเสร็จแท็บเล็ตจะเหลือให้สำนักงานใช้ต่อยอดในการทำสำมโนประชากรจำนวน 3,000 เครื่อง ที่เหลือจะกระจายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปต่อยอดสำหรับการทำโครงการเชิงลึกเฉพาะพื้นที่ต่อไป
นายภุชพงค์ กล่าวว่า ทั้งนี้ขอความร่วมมือจากประชาชนและผู้ประกอบการให้ข้อมูลที่เป็นจริงและครบถ้วน เพื่อประเทศจะได้มีข้อมูลที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่มีคุณภาพ สำหรับใช้ในการวางแผนและพัฒนาประเทศต่อไป
ซึ่งหลังจากเสร็จสิ้นการเก็บข้อมูลในเดือนสิงหาคม จะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน เพื่อวิเคราะห์และนำข้อมูลไปเติมเต็มให้กับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง บูรณาการร่วมกันเพื่อนำไปวางแผนการบริหารจัดการน้ำในส่วนที่แต่ละหน่วยงานดูแลอยู่
ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ติดตามข่าวเทคโนโลยีผ่านเฟซบุ๊ก TheReporter.Asia โดยการกด Like ได้ที่ลิงค์ด้านล่างค่ะ