เปิด โรงงาน ซูบารุในไทย แต่ทำไมราคายังไม่ปัง

เปิด โรงงาน ซูบารุในไทย แต่ทำไมราคายังไม่ปัง

กลุ่มตันจงอินเตอร์เนชั่นแนล (TCIL) เปิด โรงงาน ประกอบรถยนต์ซูบารุอย่างเป็นทางการแห่งแรกที่ประเทศไทย ณ นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ด้วยเม็ดเงินลงทุนเบื้องต้น 5,000 ล้านบาท โดยจะทำการผลิตรถยนต์ซูบารุ ฟอเรสเตอร์

เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ขับขี่รถยนต์ซูบารุในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เพิ่มมากขึ้น มีสัดส่วน 45% สำหรับจำหน่ายในประเทศ และอีก 55% ส่งออก ไปยังประเทศมาเลเซีย เวียดนาม และกัมพูชา โดยจะผลิตทั้งพวงมาลัยขวาและซ้าย ภายใต้ชื่อโรงงาน TCSAT

รถยนต์ซูบารุ ฟอเรสเตอร์ รุ่นที่ 5 นี้ถือเป็นรถยนต์แบบน็อคดาวน์ (completely knocked-down หรือ CKD) รุ่นแรกที่ถูกประกอบขึ้นภายใต้การดูแลของ TCSAT ซึ่งรถยนต์ 100 คันแรกได้ถูกส่งมอบให้กับลูกค้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โรงงานประกอบครั้งนี้กลุ่ม TCIL ถือหุ้น 74.9%

โรงงาน

ในขณะที่ซูบารุ คอร์ปอเรชั่น (SBR) ถือหุ้นที่เหลืออีก 25.1% โรงงานแห่งนี้มีพื้นที่รวมมากกว่า 100,000 ตารางเมตร สามารถผลิตได้มากกว่า 6,000 คันภายในปีแรกของการดำเนินงาน และในปีต่อไปจะอยู่ที่ 10,000 คัน จากกำลังการผลิตเต็มที่ 100,000 คัน มีการใช้เทคโนโลยีโรบอตเข้ามาช่วยในการเชื่อมตัวถังเพื่อความแม่นยำแทนคน โดยมีการเชื่อมใน 4 ยูนิต

ทั้งนี้แม้ว่าการประกอบใน โรงงาน แห่งนี้จะเปรียบของข้อตกลงทางการค้าในประชาคมอาเซียน ทำให้มีความคล่องตัวในการผลิตและการกำหนดราคารถยนต์ซูบารุ โดยยังคงไว้ซึ่งศักยภาพการแข่งขันในตลาดและเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้น แต่ Forester ใหม่ใช้ส่วนประกอบรถที่มาจากผู้ผลิตในไทยเพียง 43%

ส่วนที่หลืออีก 57% เป็นการนำเข้าชิ้นส่วนจากญี่ปุ่น โดยชิ้นส่วนที่ส่งมาจากญี่ปุ่นก็จะมีประเภทหลักๆ อย่างเครื่องยนต์ เกียร์ และชิ้นส่วนช่วงล่าง ประตู โครงประตู และหลังคา ฝากระโปรงหน้า ฯลฯ

รวมไปถึงโครงของรถส่วนพื้นก็นำเข้ามาทำการเชื่อมที่โรงงานไทย ทำให้เราได้เห็นราคาของรุ่นนี้ในระดับที่ยังดึงดูดไม่ได้มากเมื่อเทียบกับออปชันที่ได้ แต่ถ้าเทียบกับคู่แข่งขันแล้วก็นับว่าสูสีสามารถแข่งขันได้

โรงงาน

“รถยนต์ซูบารุ ฟอเรสเตอร์ ที่ถูกประกอบขึ้นในเมืองไทยไทย จะยังคงไว้ซึ่งความแข็งแกร่งและพื้นที่ใช้สอยที่กว้างขวางพร้อมนำเสนอเทคโนโลยีหลักทั้งสี่ของซูบารุ ได้แก่ ระบบขับเคลื่อนสี่ล้อแบบสมมาตร (Subaru Symmetrical All-Wheel Drive) ที่ถ่ายทอดพลังไปยังล้อทั้งสี่ เพื่อสร้างความมั่นใจในทุกสภาวะถนน

เครื่องยนต์บ็อกเซอร์ที่มีจุดศูนย์ถ่วงที่ต่ำเพื่อความเสถียรและการควบคุมรถยนต์ที่ดีขึ้น เทคโนโลยี EyeSight Driver-Assist ช่วยเตือนผู้ขับขี่ถึงความเสี่ยงที่ไม่คาดคิดและช่วยป้องกันอุบัติเหตุ และ Subaru Global Platform ที่ มีการออกแบบตัวถังและแชสซีส์ใหม่เพิ่มความปลอดภัยและประสิทธิภาพของการขับขี่โดยรวม การันตีด้วยรางวัล Good Design Award จาก Japan Design Promotion Organization เมื่อปีที่ผ่านมา”

โรงงานแห่งนี้ยังได้ว่าจ้างทีมพนักงานชาวญี่ปุ่นในการควบคุมมาตรฐานและกระบวนการผลิต มีการการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและทักษะ เพื่อให้ได้มาตรฐานเดียวกับในประเทศญี่ปุ่น

นอกจากนี้ยังได้มีการว่าจ้างพนักงานทักษะสูงที่เป็นคนในท้องถิ่นกว่า 400 คน รวมถึงชาวต่างชาติจากและประเทศสิงคโปร์ ที่จะประจำอยู่ในประเทศไทย และทำหน้าที่แบ่งปันความเชี่ยวชาญด้านเทคนิคและการจัดการ สำหรับกระบวนการควบคุมคุณภาพและการแก้ไขข้อผิดพลาดจะถูกดำเนินควบคู่ไปตลอดกระบวนการประกอบชิ้นส่วน

โรงงาน

นอกจากนี้ ซูบารุ คอร์ปอเรชั่น ยังตรวจสอบคุณภาพการผลิตอย่างสม่ำเสมอด้วยคุณสมบัติที่เป็นเอกลักษณ์ของโรงงาน ได้แก่ ลู่ทดสอบที่สร้างขึ้นเป็นพิเศษ เพื่อประเมินสภาพของรถทุกคันก่อนออกจากโรงงาน ขั้นตอนการควบคุมคุณภาพที่เข้มข้นช่วยให้มั่นใจได้ว่ารถทุกคันที่ผลิตใน TCSAT นั้นมีความปลอดภัย เชื่อถือได้

เช่นเดียวกับในส่วนของการทำสีนั้นก็ใช้ระบบอัตโนมัติทุกขั้นตอนตั้งแต่การเตรียมผิวรถล่วงหน้า ระบบ Electrical Deposit การลงสีชั้นรองพื้น และการเคลือบผิวชั้นบนสุด จุดเชื่อมต่อ ที่สำคัญระหว่างของตัวถังรถกับชิ้นส่วนกระจกก็ใช้วิธีการอัตโนมัติเพื่อให้ได้ความสม่ำเสมอทั่วทั้งตัวรถ

ทั้งนี้โรงงาน TCSAT ยังมีสภาพแวดล้อมการทำงาน ที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพสำหรับพนักงาน โดยได้จัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยของโรงงานที่ทำทำหน้าเชิงรุกในการค้นหาและกำจัดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการทำงาน พนักงานทุกคน

โรงงาน

ผู้เข้าชมโรงงานจะต้องสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัยส่วนบุคคล เมื่อเข้าสู่พื้นที่ที่กำหนด พนักงานฝ่ายบริหารทั้งหมดได้รับการฝึกฝนโดยที่ปรึกษาภายนอกเกี่ยวกับกฎระเบียบในท้องถิ่นและแนวปฏิบัติสากลด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย

และเพื่อส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานให้ดียิ่งขึ้น รวมไปถึงได้จัดโรงอาหารเพื่อให้บริการอาหารไทยและญี่ปุ่นที่มีคุณค่าทางโภชนาการแก่พนักงาน และจัดพื้นที่สันทนาการ เช่น สนามฟุตซอล เพื่อสุขภาพกายที่ดีของพนักงาน

มร.เกลน ตัน รองประธานกรรมการ และกรรมการผู้จัดการ กลุ่มตันจง อินเตอร์เนชั่นแนล (TCIL) กล่าวว่า การประกอบรถยนต์ซูบารุในเมืองไทยครั้งนี้ นับเป็นก้าวแรกของความสำเร็จ เพราะที่ผ่านมาเราดูแลธุรกิจในเกือบทุกขั้นตอนตั้งแต่การจัดจำหน่าย การแต่งตั้งผู้จำหน่าย และการบริการหลังการขาย

แต่ตอนนี้เราสามารถดูแลการผลิตรถยนต์ซูบารุได้แล้ว ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการวางแผนธุรกิจระยะยาวอย่างมียุทธศาสตร์ ทำให้สามารถบริหารจัดการระบบห่วงโซ่อุปทานได้ดีขึ้น สามารถขยายสายการผลิตเพื่อทำการตลาดในระดับท้องถิ่นได้ดีขึ้น

โรงงาน

ลดการพึ่งพาความช่วยเหลือจากญี่ปุ่นน้อยลง และสามารถตอบสนองความต้องการรถยนต์ซูบารุของผู้บริโภคในภูมิภาคนี้ได้ดีมากขึ้น รวมไปถึงยังมีโอกาสขยายไปสู่ภูมิภาคอื่นได้ด้วยในอนาคต

“โรงงานประกอบรถยนต์ของ TCSAT เป็นโรงงานแห่งที่สอง ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ประกอบรถยนต์ซูบารุ โดยแห่งแรกอยู่ที่ประเทศมาเลเซีย ภายใต้การดูแลของบริษัท Tan Chong Motor Holdings Berhad ผ่านบริษัทย่อยคือ Tan Chong Motor Assemblies Sdn. Bhd. และในปี พ.ศ.2554 มีการลงบันทึกความเข้าใจและใช้อำนาจผ่าน TCIL ในการส่งคำสั่งผลิต และกระจายรถยนต์สู่ตลาดให้กับกลุ่มมอเตอร์ อิมเมจ”

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง

ซูบารุ ประเทศไทย

Related Posts