CAT เสริมคลาวด์แพลตฟอร์มที่ใช้งานง่ายและกว้างขึ้นในการเดินหน้าตั้งศูนย์นวัตกรรมเมืองดิจิทัล หนึ่งในความร่วมมือกับ NIA และ TESA ร่วมลงนามตั้งเป้าพัฒนาและส่งเสริมแพลตฟอร์มทางนวัตกรรมสำหรับธุรกิจดิจิทัล เพื่อร่วมกันพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมบนพื้นฐานเทคโนโลยีเชิงลึกทางด้านดิจิทัลผ่านพื้นที่ทดลองและการทดสอบหรือ Sandbox พร้อมร่วมสนับสนุนและส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรมและผลักดันธุรกิจนวัตกรรมสำหรับวิสาหกิจนวัตกรรมด้านดิจิทัล
พันเอก สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT กล่าวว่า CAT ได้ร่วมมือกับ 2 หน่วยงาน จัดตั้งศูนย์นวัตกรรมเมืองดิจิทัล เพื่อประสานงานการพัฒนาโครงการนำร่องและบริหารงานนวัตกรรมด้านเมืองดิจิทัลให้เกิดการขยายผลในเชิงพาณิชย์ พร้อมกันนี้ได้ด้านโครงสร้างระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร อาทิ Cloud Computing ระบบ Big Data Platform เพื่อใช้ในการพัฒนานวัตกรรมด้าน IoT ใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ จากการนำศักยภาพที่มีอยู่ของแต่ละหน่วยงานมาผสานกัน จะก่อให้เกิดการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัล ที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้สูงขึ้นได้ในอนาคต
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ที่ผ่านมา NIA ได้ร่วมกับ CAT และ TESA ในการจัดตั้ง “ศูนย์นวัตกรรมเมืองอัจฉริยะหรือ IOT city innovation center; ICIC” เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการนวัตกรรมโดยเฉพาะในกลุ่มสตาร์ทอัพ โดยเน้นการใช้ IOT ในการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรม ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการจัดทำรายงานแผนนโยบายการพัฒนาและสนับสนุนเพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานของระบบนิเวศสตาร์ทอัพ และมีการเผยแพร่สร้างความตระหนักผ่านการสัมมนาหรือกิจกรรมที่ส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมในอุตสาหกรรมนี้
ด้วยความร่วมมือในครั้งนี้จะปรับเปลี่ยนเป็น “ศูนย์นวัตกรรมเมืองดิจิทัลหรือ Digital city innovation center; DCIC” เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนความรู้ และข้อมูลเพื่อให้เกิดการสร้างนวัตกรรมด้านดิจิทัล การบริหารจัดการเมืองดิจิทัลของประเทศ รวมถึงเป็นพื้นที่ทดลองและการทดสอบให้กับธุรกิจนวัตกรรมด้านดิจิทัลในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และโซลูชั่น เพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่และส่งเสริมแพลตฟร์อมทางนวัตกรรมให้เกิดธุรกิจดิจิทัลที่ขยายผลเชิงพาณิชย์ได้จริง ผ่านกลไกการสนับสนุนต่าง ๆ ของทั้ง 3 หน่วยงาน โดยจะเร่งสร้างให้เกิดเป็นรูปธรรมและเห็นภาพระบบนิเวศที่ชัดขึ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือแนวทางการสร้างแพลตฟร์อมทางนวัตกรรมให้เกิดธุรกิจดิจิทัล การจัดทำโปรแกรมบ่มเพาะวิสาหกิจเริ่มต้นในด้านสุขภาพที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง โดยจะเชื่อมต่อกับนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมด้านนี้มากขึ้น”
ด้านดร.วัชระ ฉัตรวิริยะ นายกสมาคมสมองกลฝังตัวไทยหรือ TESA กล่าวว่า สมาคม TESA ได้เตรียมแผนกิจกรรมโดยได้หารือพูดคุยกับกลุ่มผู้ประกอบการในเครือสมาคมฯ ที่มีศักยภาพ พร้อมจะมาทดลองนำร่องหากแพลตฟอร์มนวัตกรรมสำหรับธุรกิจดิจิทัลเปิดให้ใช้แล้ว นอกเหนือจากการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและแนวโน้มแห่งอนาคต (Technology &Trend) ทางสมาคมฯ ยังให้ความสำคัญเรื่องการพัฒนา Products/Services/Solutions ไปสู่มาตรฐานสากลต่างๆ อีกด้วย
โดยจะนำร่องสำหรับบริษัทที่มีความพร้อม ก็จะจับมือหรือหาแนวทาง เพื่อพาไปทดสอบเรื่องมาตรฐานต่างๆ ที่เป็นมาตรฐานสากล ตลอดการทำให้ถูกต้องตามระเบียบ ประกาศ และข้อบังคับของประเทศด้วย “TESA ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญนักวิจัยพัฒนา ทั้งจากสถาบันการศึกษาและภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนนักพัฒนาเป็นจำนวนมาก ที่พร้อมจะมาผนึกกำลังสานต่อความร่วมมือในการพัฒนาองค์ความรู้ให้คำปรึกษาในด้านต่างๆ เพื่อให้สามารถสร้าง Products/Services/Solutions ที่ได้มาตรฐานและแข่งขันได้ในเวทีโลก”
ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง