การประชุมเครือข่าย เมืองอัจฉริยะ อาเซียน ASEAN Smart Cities Network : ASCN ได้ข้อสรุปขอบเขตการดำเนินการของเครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียน เตรียมยื่นต่อที่ประชุมอาเซียนใหญ่ปลายปี หลังนำประเด็นหลัก 3 หัวข้อเข้าหารือต่อเนื่องจากการประชุมเมื่อราวเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ขณะที่อีก 2 ประเด็นใหญ่มีแนวโน้มหารือต่อในปีถัดไปโดยเวียตนามจะเป็นเจ้าภาพ
นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะประธานการประชุม “ASCN Annual Meeting 2019” เปิดเผยว่า ในช่วงเช้าที่ผ่านมา การหารือกับตัวแทนของ 26 เมืองจากกว่า 10 ประเทศ และกลุ่มประเทศที่จะเข้ามาเป็นพาร์ทเนอร์อีกราว 5 ประเทศ โดยเป็นการดึงประเด็นหารือ 3 หัวข้อหลักจากการประชุมครั้งแรกในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
โดยแบ่งเป็น 1.การกำหนดขอบเขตการดำเนินการของเครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียน (ASCN TERMS OF REFERENCE)เพื่อให้เกิดความชัดเจนและกรอบในการดำเนินงานให้ทุกประเทศสมาชิกได้ดำเนินตามได้อย่างถูกต้อง 2. การกำหนดเกณฑ์การขยายสมาชิกเครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียน (ASCN MEMBERSHIP EXPANSION CRITERIA) เพื่อสร้างมาตรฐานและข้อกำหนดที่ชัดเจนในการเสนอเมืองเพื่อเข้าร่วมแนวทางการพัฒนาสู่ความเป็นอัจฉริยะมากยิ่งขึ้น และ 3.การกำหนดเครื่องมือชี้วัดการดำเนินงาน (Monitoring and (M&E) Framework)เพื่อใหเกิดเป็นมาตรฐานเดียวกัน
ทั้งนี้ในประเด็นแรก ‘การกำหนดขอบเขตการดำเนินการของเครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียน’ ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนในกรอบการดำเนินงานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งในภาพรวมทุกฝ่ายเห็นพร้องต้องกันและเตรียมการนำเสนอต่อที่ประชุมใหญ่อาเซียนในช่วงปลายปีที่จะถึงนี้ ขณะที่อีก 2 ประเด็นยังมีการหารือกันอยู่ และอาจจะต่อเนื่องไปหารือในการประชุมปีหน้า เนื่องจากต้องพิจารณาหลายส่วนเพื่อให้ทุกฝ่ายเห็นประโยชน์ร่วมกัน
วันนี้ ASCN กลายเป็นความร่วมมือที่โด่งดังและเป็นที่รู้จักในหลายประเทศทั่วโลก ทำให้มีภาคเอกชนเริ่มสนใจที่จะเสนอเข้ามาร่วมพัฒนา แต่ก็ยังเป็นเรื่องของความร่วมมือระดับเมืองเป็นหลักเนื่องจากความร่วมมือในระดับอาเซียนยังมีขั้นตอนที่ยากพอสมควร ซึ่งปัจจุบันเรามีอยู่กว่า 5 ประเทศที่สนใจนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนาเมืองในกลุ่มประเทศเครือข่ายของ ASCN อย่างต่อเนื่อง
ด้าน ดร. ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการวางกรอบนโยบายในการพัฒนาเมือง ภายใต้การเติบโตของประชาคมอาเซียน โดยที่ผ่านมาเรามี 3 กระทรวงหลักในการนำเสนอเมืองที่เข้าร่วมการพัฒนา โดยจะมีจังหวัดภูเก็ต ซึ่งมีโมเดลการพัฒนาเมืองที่ชัดเจนมากขึ้นแล้ว และจังหวัดชลบุรี ซึ่งมีการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC)ให้เกิดเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่มากขึ้น และกรุงเทพมหานคร เมืองใหญ่ที่มีแนวทางการพัฒนาแบบเฉพาะจุด
การหารือกรอบการดำเนินที่ชัดเจนมากขึ้น และเห็นพร้องต้องกันของทุกประเทศจะช่วยให้ ASCN สามารถเดินหน้าการพัฒนาเมืองที่เสนอเข้ามาของประเทศสมาชิกภายใต้กรอบการดำเนินงานเดียวกัน ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างไม่หยุดยั่ง ด้วยเรื่องของเทคโนโลยีไม่มีที่สิ้นสุด การพัฒนาเมืองจึงจะต้องพัฒนาให้ทันสมัยตามการพัฒนาเทคโนโลยีด้วยเช่นกัน
ขณะที่แนวทางความร่วมมือของเมืองและภาคเอกชนก็มีทั้งรูปแบบการพัฒนาสมุดปกขาว เพื่อสร้างแนวทางการพัฒนาร่วมกัน ขณะที่บางส่วนก็มีการสนับสนุนเทคโนโลยี เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป โดยวันนี้เราต้องการพัฒนาเมืองไปสู่คุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน การหารือในวันนี้จึงชูแนวคิดการยกระดับสู่เมืองอัจฉริยะและร่วมกันพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต อีกทั้งยังเป็นการแบ่งปันรูปแบบการดำเนินงานที่ประสบความสำเร็จของการพัฒนาเมืองให้กับเมืองของกลุ่มประเทศสมาชิกด้วย
ทั้งนี้การประชุม ASCN Annual Meeting 2019 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2562 ณ โรงแรมเรเนซองส์ กรุงเทพฯ โดยจัดควบคู่กับการจัดกิจกรรม ASEAN Smart Cities Network Conference & Exhibition 2019 ในรูปแบบ Roundtable Meeting ชูแนวคิด “Advancing Partnership for Sustainability” เพื่อการยกระดับสู่เมืองอัจฉริยะและร่วมพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22 – 24 สิงหาคม 2562
เป็นกิจกรรมเสวนาโดยผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีทั้งไทยและต่างประเทศ เพื่อพูดคุยหารือภายใต้แนวคิดสำคัญ 4 ประการ ได้แก่ 1) การขับเคลื่อนเมืองด้วยข้อมูลและเทคโนโลยีเชิงลึกเพื่อการผลักดันสู่ยุคสมาร์ทไลฟ์และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่จะเปลี่ยนชีวิตคนเมืองไปในทางที่ดีขึ้นในอนาคต 2) การพัฒนาเมืองด้วยรูปแบบธุรกิจที่มีความรับผิดชอบและยั่งยืนทั้งจากภาครัฐและเอกชน 3)การออกแบบความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาเมืองให้ยั่งยืน และ 4) เพื่อเมืองที่ดีกว่า และการกำกับดูแลด้านดิจิทัลที่ดียิ่งกว่าเดิม โดยเน้นเรื่องการกำกับดูแลระบบดิจิทัล เพื่อแบ่งปันแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดในการสร้างความรับผิดชอบ พร้อมอำนวยความสะดวกในการตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพเมื่อดำเนินกลยุทธ์ดิจิทัล
ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง