รวมแนวคิดเด็ด!! ในงาน SD Symposium 10 Years

รวมแนวคิดเด็ด!! ในงาน SD Symposium 10 Years

การสูญเสีย มาเรียม และ ยามีล อาจจะเป็นการกระตุ้นให้คนไทยมีนิสัยทิ้งขยะให้เป็นที่เป็นทางมากขึ้น แต่ก็อาจเป็นช่วงเวลาสั้นๆ หากเรายังไม่ปลุกจิตสำนึกและสร้างการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม เพราะวันนี้คนไทยยังคงเดินหน้าสร้างขยะ 1.15 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน ส่งผลให้จำนวนขยะในปี 2561 มีกว่า 28 ล้านตัน เพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 2 จากปี 2560 และเมื่อเทียบกับพื้นฐานทางสภาพแวดล้อมส่วนรวมแล้ว สิงคโปร์มีต้นไม้สูงถึง 37% ของพื้นที่เมื่อเทียบกับกรุงเทพฯ ที่มีเพียง 7-8% ขอพื้นที่ ยังนับว่าภาพรวมน่าเป็นห่วงมากหากไม่มีการแก้ไขอย่างจริงจัง

เอสซีจีได้ตระหนังถึงเรื่องนี้จึงได้จัดงาน “SD Symposium 10 Years: Collaboration for Action” ซึ่งปีนี้ครบรอบปีที่ 10 ที่เอสซีจีจัดเวที SD Symposium นี้ขึ้นมา มีผู้เข้าร่วมกว่า 1,500 คน และที่น่าสนในใจปีนี้คือกิจกรรมหนึ่งในช่วงเสวนาย่อย หัวข้อ Thailand Waste Management Way Forward ได้มีการสรุปความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมเสวนา 300 คน พบว่าร้อยละ 47 ของผู้เข้าร่วมเห็นว่า วิธีการจัดการขยะที่ดีที่สุด คือการบังคับใช้กฎหมายการทิ้งขยะอย่างเคร่งครัด ร้อยละ 77 ของผู้เข้าร่วมเห็นว่า การจัดทำระบบการเก็บขยะอย่างครบวงจร เช่น สัญลักษณ์ สี และวันเวลาการจัดเก็บตามประเภทขยะ เป็นแนวทางในการบริหารจัดการขยะ

ร้อยละ 40 ของผู้เข้าร่วมเห็นว่า การจัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับการจัดขยะอย่างบูรณาการ จะช่วยเรื่องการคัดแยกขยะได้ ร้อยละ 39 ของผู้เข้าร่วมเห็นว่า การผลักดันภาคธุรกิจให้ผลิตสินค้าที่เอื้อต่อการรีไซเคิล และมีส่วนรับผิดชอบต่อการจัดการซากเมื่อสิ้นอายุใช้งานเป็นแนวทางแก้ปัญหาในการจัดการของเสียและการรีไซเคิล ร้อยละ 57 ของผู้เข้าร่วมเห็นว่า การบังคับใช้กฏหมายห้ามทิ้งขยะลงแหล่งน้ำอย่างเคร่งครัด และลงโทษอย่างจริงจัง โดยเฉพาะชุมชนใกล้แหล่งน้ำและแหล่งท่องเที่ยว เป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและแหล่งน้ำ

แต่ไม่ใช่เพียงความเคลื่อนไหวของผู้ร่วมงานเท่านั้น เพราะในงาน “SD Symposium 10 Years: Collaboration for Action” ยังมีเนื้อหาสาระที่หลากหลาย แต่ Thereporter.asia ได้ทำการสรุปวาทะกรรมเด็ดๆ ของวิทยากรในงานนี้มาให้อ่านกัน เพื่อที่จะได้เห็นภาพในมุมกว้างขึ้นว่า องค์กรที่ตระหนักในเรื่องนี้ หรือแม้แต่เสียงเล็กๆ ของเยาวชนคนหนึ่ง มีแนวคิดที่น่าสนใจอย่างไร

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า “เราต้องการมองเห็นความเปลี่ยนแปลงของการบริโภค แม้ว่าการสร้างความร่วมมือกันจะเป็นเรื่องจำเป็นในการทำงาน แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือ ต้องเริ่มจากตัวเองก่อน ปีที่แล้วถือเป็นปีแรกที่เราเริ่มต้นพูดคุยกันถึงเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน และตลอดทั้งปีที่ผ่านมา เราได้สร้างความร่วมมือขึ้นร่วมกับกว่า 40 องค์กร เช่น การทำถนนพลาสติกรีไซเคิล มีการเปลี่ยนแปลงในวงการก่อสร้าง เริ่มจากการนำวัสดุกลับมาใช้จนถึงการกำจัดของเสีย นอกจากนี้องค์กรในธุรกิจค้าปลีกยังมาร่วมกัน ตั้งแต่การออกแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือการเก็บขยะกลับมาสร้างคุณค่า และสิ่งสำคัญที่สุดเราเริ่มมี คือ การประกาศตัวว่าเป็นชุมชนปลอดขยะทั้งในราชบุรี หรือระยอง จนถึงวันนี้ที่เรายินดีที่ได้ขยับการทำงานสู่การสร้างความร่วมมือกับพันธมิตร เพื่อให้มั่นใจว่าเราจะมีอนาคตที่ยั่งยืน ไม่ใช่เฉพาะเศรษฐกิจไทย แต่กับเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียนด้วย”

Ms. Deirdre Boyd ผู้ประสานงานพำนักอาศัยแห่งสหประชาชาติในประเทศไทย กล่าวว่า “เราทราบกันดีว่า Circular Economy เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายที่ 12 ของการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามกรอบขององค์การสหประชาชาติที่มีอยู่ 17 ประการ และเศรษฐกิจหมุนเวียนนั้นสามารถจัดอยู่ในเป้าหมายที่ 12 นั่นคือการมีส่วนรับผิดชอบในการบริโภคและการผลิต จึงมีคำถามว่าเราจะอยู่อย่างไร มนุษย์ต้องการอะไร และผลิตอะไรขึ้นมาบ้าง และเราบริโภคอย่างไร เพื่อให้มีชีวิตที่มีคุณภาพที่ดี และอยู่กับทรัพยากรที่โลกของเรามี และส่งต่อทรัพยากรเหล่านี้สู่อนาคต

หากย้อนกลับไปในปี ค.ศ. 2000 เราตั้งเป้าหมายการพัฒนาในยุคมิลเลเนียล เราแทบจะไม่เคยพูดถึงเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน การบริโภคอย่างมีความรับผิดชอบ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในโลกทุกวันนี้ทำให้เราต้องขยับตัวจากเศรษฐกิจที่เดินหน้าเป็นเส้นตรง หรือ Linear Economy สู่เศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ซึ่งการสร้างความร่วมมือกันตามเป้าหมายที่ 17 ของการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้น เปิดโอกาสให้เราสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้และเรียนรู้ไปด้วยกัน เป็นพันธมิตรกัน มีความรับผิดชอบ นำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ และการลดปริมาณขยะ แต่หากปราศจากความร่วมมือกันของทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม องค์การสหประชาชาติจึงขอสนับสนุนให้ทุกคนเข้ามาร่วมทำงานด้วยกันตามทิศทางของการพัฒนาอย่างยั่งยืน”

ด้านดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม กล่าวว่า “วันนี้โลกของเรากำลังเผชิญกับความไม่สมดุลหลายประการ ประการแรกคือความไม่สมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ทำให้เราเจอกับความไม่แน่นอนในหลายบริบท รวมทั้งการเสื่อมถอยของสภาพแวดล้อมที่เราเห็นอยู่ในทุกวันนี้ ประการต่อมา คือ ความไม่เท่ากันของมนุษย์จากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และสังคม ประการสุดท้ายคือ ความไม่เท่ากันของมนุษย์กับเทคโนโลยี ซึ่งปัจจุบันเรากำลังเปลี่ยนสังคมของเราจากที่ใช้เทคโนโลยีเป็นฐานทางเศรษฐกิจ มาเป็นการใช้นวัตกรรมและองค์ความรู้เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เรากำลังเปลี่ยนจากการทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างรุ่งเรืองเป็นการเติบโตอย่างยั่งยืน

รัฐบาลไทยได้นิยามทิศทางเศรษฐกิจใหม่นี้ว่า BCG Model (Bio Economy-Circular Economy-Green Economy) หรือการขับเคลื่อนไปสู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืนใช้หลักการเศรษฐกิจพอเพียงเป็นพื้นฐานและส่วนหนึ่งที่เราเน้นย้ำ คือ เศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งมีหลักปฏิบัติที่เรียกโดยย่อว่า BEGIN ซึ่งหมายถึง Behavior – พฤติกรรม โดยการสร้างโลกใหม่ให้น่าอยู่กว่าเดิมนั้น คนเราต้องเปลี่ยนพฤติกรรม เปลี่ยนความเคยชิน, Education – ระบบการศึกษา โดยเมื่อก่อนการศึกษาเรื่องเศรษฐกิจมุ่งเน้นความพยายามทำให้เกิดกำไรสูงสุด แต่วันนี้เราต้องใช้ทรัพยากรที่มีอย่างจำกัด และจะต้องใช้บนวิถีของการอนุรักษ์ด้วย

Growth mindset – คิดแบบประสานประโยชน์หรือคุณได้เราได้ หากธรรมชาติเสียประโยชน์ มนุษย์ก็เสียประโยชน์ด้วยเช่นกัน, Innovation – คิดนวัตกรรมที่จะเกิดประโยชน์ในวงกว้าง ไม่เฉพาะกับกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง, Nature – ต้องปกป้องทรัพยากรเพื่อคนรุ่นต่อไป และต้องจัดการอย่างมีประสิทธิภาพด้วยการน้อมนำหลักปฏิบัติตามศาสตร์พระราชา หรือเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ และมีการปฏิวัติวิถีชีวิตและความคิดทางเศรษฐศาสตร์บนพื้นฐานของเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ซึ่งสิ่งสำคัญ คือ ต้องมีความร่วมมือกันหรือ collaboration จากทุกภาคส่วน และต้องลงมือทำวันนี้ ทั้งในระดับบุคคล ระดับองค์กร และระดับประเทศ ลงมือทำไปพร้อมๆ กัน”

Ms. Lars Svensson, Sustainability & Communication Director – IKEA Southeast Asia กล่าวว่า “อิเกียเป็นองค์กรที่ชอบลงมือทำ หนึ่งในเป้าหมายของเราคือภายในปี 2030 อิเกียจะต้องผลิตสินค้าที่นำมาจากวัสดุที่นำกลับมาใช้ใหม่ อิเกียเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนจากกิจกรรมที่เกิดขึ้นในธุรกิจของตัวเอง ทั้งกระบวนการตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการส่งมอบสินค้าให้ผู้บริโภค นอกจากนี้การประสานความร่วมมือกันของอิเกียไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในประเทศสวีเดน แต่การที่อิเกียเป็นองค์กรข้ามชาติที่ทำงานในหลายประเทศ ทำให้ได้มีโอกาสทำงานกับองค์กรอื่นๆ เช่น มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ที่จังหวัดเชียงราย และที่ดอยตุง

จากความคล้ายคลึงของวัฒนธรรมการออกแบบและวิถีชีวิตของชาวพื้นเมืองสวีเดนและชาวเขาที่ประเทศไทย ทำให้เราได้ออกแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆ ด้วยกันหลายโครงการ และได้ส่งออกไปจำหน่ายในร้านค้าที่มีอยู่ทั่วโลกของอิเกีย อิเกียยังทำงานกับลูกค้าด้วยการส่งเสริมให้ลูกค้านำถุงกลับมาใช้หรือกลับมาคืน เพื่อนำกลับไปเข้ากระบวนการรีไซเคิล ทั้งหมดคือการตอบโจทย์ทางธุรกิจของอิเกีย ที่มุ่งเน้นเรื่องทรัพยากรมนุษย์ การดูแลโลก และยังสร้างผลประกอบการที่ดีได้ด้วย”

นายอมรพล หุวะนันทน์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Moreloop (สตาร์ทอัพประเทศไทย) กล่าวว่า “ขวดพลาสติกใช้เวลาย่อยสลายกว่า 500 ปี พอมันยาวนานขนาดนั้นก็ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าซักวันหนึ่งพลาสติกน่าจะครองโลก และวันนั้นอาจมาถึงเร็วกว่าที่คิด ผมถามตัวเองว่าถ้าเราผลิตขยะมากขนาดนี้ เราจะสามารถสร้างคุณค่าโดยการนำมันกลับมาใช้เพื่อสิ่งแวดล้อมได้ไหม จากการที่ผมเป็นนักวิเคราะห์อุตสาหการ ทำงานในโรงงานมามาก โดยเฉพาะเรื่องขยะอุตสาหกรรม พอคิดแบบนี้ก็ไปเจอเพื่อนซึ่งตอนนี้เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Moreloop ซึ่งเราเจอปัญหาเรื่องขยะเหมือนกัน โดยสำหรับเขาคือขยะในอุตสาหกรรมแฟชั่น

เราจึงมาตั้งเป้าหมายว่าจะผลิต Online platform ที่จะนำสิ่งที่เหลือจากการผลิตในอุตสาหกรรมการทอ เราจะขายวัสดุแบบนี้ไปทั่วโลกผ่านระบบออนไลน์แล้วเราจะเป็นยูนิคอร์น แต่ 4 เดือนผ่านไปมันไม่ใช่แบบที่ตั้งใจ เราจึงเปลี่ยนวิธีสื่อสารโดยบอกทุกคนว่ามันง่ายมากที่จะสร้างผลิตภัณฑ์ยั่งยืนผ่าน Moreloop เริ่มนำวัสดุเหลือใช้เหล่านี้มาทำเป็นเสื้อยืด สื่อสารเรื่องราวของเราออกไปแล้วลูกค้าก็รู้สึกได้ว่านี่เป็นผลิตภัณฑ์ยั่งยืน และวันนี้เป้าหมายใหม่ของเรา คือ การนำวัสดุเหลือใช้ทั้งหมด 5,000 กิโลกรัมมา Upcycling และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตลงให้ได้กว่า 80,000 กิโลกรัม ส่วนเป้าหมายภายใน 5 ปี เราต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ 1 ล้านกิโลกรัม”

SD Symposium

ขณะที่ ด.ญ.ระริน สถิตธนาสาร เยาวชนนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม (อายุ 12) กล่าวว่า “พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ทำลายสิ่งแวดล้อม คร่าชีวิตสัตว์ ทำให้เกิดอันตราย และเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน หนูอยากบอกว่าการรีไซเคิลไม่ใช่ทางออก เพราะวันนี้ทุกอย่างก็เข้าไปสู่กระบวนการไปรีไซเคิล แต่ก็ยังไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น สิ่งที่เราต้องการคืออนาคตที่มีโลกใบนี้ที่สะอาด ทุกท่านเห็นใช่ไหมคะว่าป่าแอมะซอนเกิดไฟไหม้มา 2 สัปดาห์แล้ว เราไม่รู้เรื่องนี้เลยจนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และเรื่องน้ำแข็งละลายที่ขั้วโลก ทั้งหมดนี้เป็นเหตุบังเอิญหรือเปล่า

วันนี้ประชากรโลก 7 พันล้านคน มีพวกหนูเป็นเด็กๆ ร้อยละ 25 ในกลุ่มประชากรทั้งหมดนั้น ซึ่งเราอยากได้โลกที่ยั่งยืน เราไม่อยากได้อนาคตที่เต็มไปด้วยพลาสติก เราไม่อยากกังวลกับเรื่องแบบนี้และเรื่องความปลอดภัยของโลก หนูพยายามทำให้ดีที่สุดตามหน้าที่ของตัวเอง หนูมีโอกาสได้พูดคุยกับหน่วยงานต่างๆ รวมถึงภาครัฐ และเริ่มต้นทำ Climate action ความจริง คือ เราต้องไม่กลัวที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ทำอยู่เพื่อให้โลกดีขึ้น และถ้าการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่ศัตรูของเรา ทำไมเราไม่เริ่มทำตั้งแต่ตอนนี้ เงินซื้อโลกกลับมาไม่ได้ ถึงมันยากแต่เราต้องพยายามสุดท้ายนี้หนูอยากจะฝากถึงผู้ใหญ่ทุกท่านว่าจะทำอะไร ช่วยคิดถึงเด็กๆ อย่างพวกหนูที่จะเติบโตขึ้นมาในโลกอนาคตด้วย”

Mr. Craig Buchholz, Chief Communication Officer, P&G (สมาชิกของ Alliance to End Plastic Waste – AEPW) ระบุว่า “พีแอนด์จีพยายามบอกว่าเศรษฐกิจหมุนเวียนและการลดการใช้พลาสติกเป็นเรื่องที่ต้องทำ ทำแล้วดีกับโลก มีอะไรมากมายที่เราสามารถทำได้และเราได้แรงบันดาลใจในการทำงานเรื่องพลาสติกจากปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลก แล้วนำมาพิจารณาว่าในกระบวนการทำงานของเรา เรากำจัดพลาสติกออกไปตรงไหนได้บ้าง จึงเป็นสิ่งที่เราต้องวางแผนชัดเจนและมุ่งมั่นที่จะทำ นอกจากนี้เรายังต้องทำงานร่วมกับพันธมิตรหลายฝ่าย ซึ่งการร่วมมือกันไม่ใช่เรื่องง่าย เป็นความท้าทาย และความซับซ้อน แต่เราต้องเข้าใจปัญหาของแต่ละคนที่มีอยู่หลายระดับ แล้วนำมาคิดว่าเราจะทำอย่างไรให้มองเห็นภาพทั้งหมดว่าห่วงโซ่อุปทานนั้นเป็นอย่างไร

เรามีกองทุนที่ใช้งบประมาณดำเนินการกว่า 15,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ เพื่อจัดการเรื่องขยะพลาสติกทั้งหมด และในอีก 5 ปีเราจะมาดูว่าเราจะหาทางกำจัดพลาสติกอย่างไร ซึ่งการทำงานในระยะที่ผ่านมา เราได้เห็นความเคลื่อนไหวที่ค่อนข้างเป็นรูปธรรมและชัดเจน ผนวกกับวิสัยทัศน์ของซีอีโอใหม่ของเรา ทำให้การทำงานเรื่องนี้จริงจังและน่าจะเกิดผลที่ดีในอนาคต”

Mr. Benjamin Sporton, Chief Executive, Global Cement and Concrete Association (GCCA) กล่าวว่า “GCCA เป็นองค์กรใหม่ที่ตั้งขึ้นมาเมื่อปีที่แล้ว มีเป้าหมายร่วมกันในการพัฒนาอย่างยั่งยืน ใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนกระบวนการทางธุรกิจให้เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด ลดการปล่อยก๊าซจากการผลิต และมองหานวัตกรรมในการผลิตตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ตั้งเป้าให้การผลิตซีเมนต์และคอนกรีตเป็นไปอย่างยั่งยืนทั้งห่วงโซ่อุปทาน และเรายังจัดตั้ง Sustainability guideline หรือมาตรฐานโรงงานยั่งยืนขึ้น โดยเก็บข้อมูลด้านการใช้พลังงานทดแทน เพื่อให้เห็นว่ามีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน มีการนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่อย่างไร

ผมมองว่าการที่ทุกอย่างจะดำเนินไปได้ด้วยดีนั้น ผู้บริหารขององค์กรต้องมุ่งมั่นว่าบริษัทของเขาอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่เกิดขึ้นในโลก แล้วพวกเขาจึงมาทำงานร่วมกันเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์จากทั่วโลก และเรามีวิธีจัดการที่ดีและเริ่มลงมือทำงานอย่างมีกลยุทธ์ เพราะเราอาจจะเริ่มจากกลุ่มธุรกิจซีเมนต์ จึงทำให้การทำงานด้วยกันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ เพราะเกิดการทำงานร่วมกันทั้งห่วงโซ่อุปทาน ทั้งดีไซน์เนอร์ วิศวกร หรือในสายการผลิต”

Mr. Graham Houlder, Project Co-ordinator, Circular Economy for Flexible Packaging (CEFLEX) กล่าวว่า “ในส่วนของการสร้างความร่วมมือกันนั้น เราพบว่าเราทำเองลำพังไม่ได้ วันนี้ผู้ประกอบการในยุโรปที่ทำงานกับ CEFLEX ก็พร้อมจะเป็นต้นแบบที่ขยายผลของความสำเร็จไปสู่ทวีปอื่นๆ ด้วย เพราะปัญหาขยะพลาสติก โดยเฉพาะจากบรรจุภัณฑ์เป็นเรื่องระดับโลก และเราเรียนรู้จากกันและกันได้ เราจึงหวังว่างานที่เราทำจะสามารถนำไปใช้ขยายผลได้อีก ในขณะที่เรากำลังเติบโตขึ้น เราก็สร้างการเรียนรู้และเป็นต้นแบบให้กับคนอื่นได้ด้วย ปัจจัยหลัก คือ วันนี้เรามีการทำงานในระดับภูมิภาคอยู่ แต่การทำงานร่วมกัน คือ ต้องทำให้คนทั้งหมดเปลี่ยนแปลงไปด้วยกัน”

ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้น บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)
“เรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนนั้น เราต้องการให้พนักงานนำแนวคิดไปใช้กับที่บ้านด้วย ตั้งแต่การทำงานที่ฉลาด มีความรับผิดชอบ และเมื่อเราเป็นผู้ผลิตปิโตรเคมี เราก็มีหนทางมากมายที่ทำได้เพื่อลดก๊าซเรือนกระจก เราจึงต้องตั้งเป้าหมายเพื่อองค์กรตามเป้าหมายขององค์การสหประชาชาติ และเป้าหมายของกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ตั้งแต่ปี 2012 โดยตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 20 ในส่วนของความรับผิดชอบ เราทำงานกับพาร์ทเนอร์ โดยมีเป้าหมายว่าปี 2030 ต้องมีสินค้ารักษ์โลกร้อยละ 30 ของสินค้าทั้งหมด ซึ่งถือว่าท้าทายแต่เราก็จะไปให้ถึง และความพยายาม คือ เราต้องลด Co2 ลงให้ได้

อีกโครงการหนึ่งคือ Upcycling เพราะมีคนบอกว่าให้ทำกับทะเลจะดีที่สุด เราจึงเก็บพลาสติกจากเกาะเสม็ดและอัพไซเคิลเป็นเสื้อผ้า เป็นเส้นใยเพื่อเพิ่มมูลค่า โดยทำให้แนวคิดของรีไซเคิลเปลี่ยนไปจากสิ่งที่คนไม่อยากจะใช้ เพราะเป็นของรีไซเคิล ไปเป็นการเพิ่มคุณค่าให้มัน เราต้องมีความเชื่อและความตั้งใจของตัวเองก่อน ก่อนจะเริ่มสร้างความร่วมมือ ตั้งแต่ภายในบริษัทที่ต้องเห็นพ้องต้องกันไปในทิศทางเดียวกันเพื่อความยั่งยืน ซึ่งมันไม่ง่ายและใช้เวลา แต่ถ้าหากข้างในเรามีความพร้อมแล้ว เราค่อยมองหาความร่วมมือ และเมื่อเรามีกลุ่มของความร่วมมือแล้วเราก็เริ่มสร้าง Share value เพื่อให้คนเข้ามาทำงานร่วมกับเรา ซึ่งบางครั้งก็เป็นความเข้าใจผิดว่าการทำเศรษฐกิจหมุนเวียนทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น แต่จริงๆ มันทำให้ลดลง”

Mr. Gen Takahashi ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายบริหารต่างประเทศของ JFE Engineering Corporation กล่าวว่า “บริษัท JFE Engineering Corporation เป็นบริษัทผลิตไฟฟ้าจากขยะที่ดำเนินธุรกิจผลิตเหล็กมาก่อน และมีความมุ่งมั่นในการดูแลสิ่งแวดล้อม จึงพยายามพัฒนาเทคโนโลยีด้านการผลิตไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการพัฒนานี้มุ่งเน้นการลดขยะ ไม่ใช่มุ่งการผลิตพลังงาน อย่างไรก็ตามการพัฒนาโรงไฟฟ้าลักษณะนี้ สามารถสร้างรายได้จากการผลิตไฟฟ้าซึ่งเป็นผลพลอยได้ อีกทั้งยังปล่อยสารพิษออกมาน้อยมาก ช่วยลดปริมาณขยะฝังกลบ ถูกสุขอนามัย และยังได้พลังงานไฟฟ้ากลับมาใช้อีก โดยก่อนหน้านี้มีโรงไฟฟ้าหลายโครงการที่ถูกต่อต้านจากชุมชน ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เช่นนี้ มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องทั้งนโยบายของรัฐบาล นโยบายท้องถิ่น และการร่วมมือของภาคเอกชน จึงต้องมีการดำเนินงานอย่างรอบคอบ”

ด้านวรุณ วารัญญานนท์ ที่ปรึกษาเพื่อภาคีอุตสาหกรรม ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยี ปิโตรเคมีและวัสดุ (PETROMAT) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ช่วยผู้จัดการโครงการ Chula Zero Waste Project กล่าวว่า “ปัญหาของการแยกขยะ คือผู้บริโภคไม่รู้ว่าจะทิ้งอย่างไร ส่วนใหญ่ยังเป็นระบบ “One Bin for All” อยู่ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างระบบให้มีความพร้อม ก่อนจะเชิญชวนและให้ความรู้ในการทิ้งขยะให้ถูกต้อง ขณะเดียวกัน ต้องแสดงให้เห็นว่า การแยกขยะช่วยให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงกลุ่มผู้บริโภค

สามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ปฏิบัติตามกฎระเบียบและข้อบังคับ และกลุ่มที่ไม่สนใจและเพิกเฉยต่อกฎระเบียบ สำหรับกลุ่มนี้ ต้องมีการการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ควรนำเรื่องขยะมาพัฒนาเป็นหลักสูตรหนึ่งในระบบการศึกษา เพราะปัจจุบันยังไม่มีการสอนเรื่องนี้อย่างจริงจัง จึงขอเสนอว่าหากต้องการให้เกิดพฤติกรรมการแยกขยะอย่างแท้จริง ต้องมีการดำเนินการหลายด้านพร้อมกัน ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน นโยบาย การศึกษา และการบังคับทางกฎหมาย โดยจะเลือกทำอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้”

วรกิจ เมืองไทย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟาร์มดี จำกัด กล่าวว่า “ปัญหาสำคัญของกลุ่มผู้จัดเก็บ คือ ขาดความรู้ความเข้าใจ ถ้าทุกคนเห็นว่า มีแนวทางการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ขยะได้ ทำให้เห็นว่าขยะมีคุณค่า และมีการรณรงค์ให้ความรู้อย่างต่อเนื่อง ประชาชนก็จะเชื่อว่ามีคุณค่าและจะแยกขยะ โดยไม่ทิ้งให้เป็นภาระของภาครัฐ บริษัทผมจึงทำแอปพลิเคชันเพื่อสร้างให้ขยะมีมูลค่า โดยทำให้ผู้ประกอบการสามารถรู้ปริมาณขยะ และสามารถกำหนดราคากลางได้ อีกทั้งรัฐบาลยังสามารถเก็บเป็นข้อมูลเพื่อพัฒนาด้านโลจิสติกส์ได้”

บุรินทร์ ตั้งศิลปโอฬาร ผู้จัดการงานพัฒนาโครงการ Suez (South East Asia) Limited ระบุว่า “ในอดีตเราให้ความสำคัญเรื่องต้นทุน โดยเน้นการผลิตให้ได้มากที่สุดในต้นทุนที่ต่ำสุด โดยไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และไม่ได้สนใจเรื่องกระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากนัก เช่น เมื่อพลาสติกรีไซเคิลไม่มีคุณภาพ ประชาชนจึงใช้ถุงพลาสติกที่ผลิตจากเม็ดพลาสติกใหม่ แต่คนที่ทำให้ถูกต้องและดีก็ต้องมีต้นทุนเพิ่ม เพราะมีกระบวนการแยกสิ่งปนเปื้อนออกไปให้มากที่สุดจึงจะนำกลับมาเป็นวัตถุดิบได้ ในส่วนของขยะเปียก การนำอาหารเหลือไปให้สัตว์ยิ่งเป็นสิ่งที่อันตราย ซึ่งจะทำให้เกิดโรคและการปนเปื้อนในห่วงโซ่อาหาร ซึ่งหลายประเทศกำหนดเป็นข้อห้ามเด็ดขาด”

ดร.จิตรภรณ์ ฟักโสภา อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า “ทางออกที่ช่วยแก้ปัญหาได้คือการบอกผลลัพธ์ที่อาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นตัวเงิน แต่สามารถจูงใจคนได้ สำหรับนโยบายบางเรื่องก็ไม่เหมาะกับการนำไปปรับใช้ทั้งประเทศ เช่น ควรเน้นเรื่องการไม่ทิ้งขยะในทะเลกับชุมชนริมน้ำและชุมชนใกล้ทะเล ซึ่งปัญหานี้เป็นปัญหาที่หนักกว่าเรื่องขยะบนบก โดยเฉพาะเรื่องปัญหาไมโครพลาสติก”

สุทธา เรืองชัยไพบูลย์ ประธาน บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น (MQDC) กล่าวว่า “เพียงหันตึกไปในทิศทางที่ถูกต้องก็จะสามารถประหยัดพลังงานได้มากมาย และการใช้เทคโนโลยีเช่น BIM สามารถช่วยลดการใช้พลังงานได้อย่างน้อยถึงร้อยละ 15 และชวนให้ลองคำนวณคร่าวๆ ว่า หากพื้นที่กว่า 1 ล้านตารางเมตร จะสามารถลดพลังงานได้เท่าไหร่ เป้าหมายของ MQDC ไม่ใช่เพื่อทำกำไรสูงสุด แต่เป็นการคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว เพื่อสร้างสังคมที่ยั่งยืนและรักษาระบบนิเวศในเมืองเอาไว้ เช่น มองว่าจะทำยังไงให้สัตว์ตัวเล็กตัวน้อย ไม่ว่าจะเป็นนกหรือกระรอก สามารถอยู่ร่วมกับสิ่งก่อสร้างในปัจจุบัน

การใช้เทคโนโลยีจำลองตึก อาคาร สิ่งก่อสร้าง อาจจะเพิ่มเวลาในการทำงาน แต่ช่วยให้ผลลัพธ์การออกแบบมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น หากตึกที่ออกแบบมาเดิมมีการหมุนเวียนของอากาศน้อย ทำให้ห้องพักร้อนคล้ายเป็นเตาอบในตอนค่ำ เราสามารถใช้เทคโนโลยีประเมินทิศทางลมและเปลี่ยนรายละเอียดการออกแบบตึกเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของอากาศมากขึ้นได้ เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยสบายและลดการใช้พลังงานในตึก”

นันทพงษ์ จันทร์ตระกูล Managing Director, CPAC กล่าวว่า “ปัจจุบันซีแพคได้ผันตัวเป็น Construction Solution Provider หรือผู้นำเสนอโซลูชันในอุตสาหกรรมการก่อสร้าง แนวคิดหลักปัจจุบันของซีแพคเป็นไปตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) คือการเปลี่ยน ‘ขยะ’ ให้เป็น ‘สินทรัพย์’ ภายใต้แนวคิด ‘Waste to Wealth’ เพื่อให้ทุกฝ่ายได้ลดการสร้างขยะจากการก่อสร้าง เปลี่ยนสิ่งที่เหลือใช้ให้เป็นวัสดุในขั้นตอนการทำงานอื่น เช่น คอนกรีตผสมเสร็จแล้วที่ส่งให้กับลูกค้ามักเหลือประมาณ 1-2 คิว ซึ่งวิธีการปฏิบัติในอดีตคือทิ้ง แต่ในปัจจุบันทางซีแพคเลือกที่จะนำคอนกรีตที่เหลือมาทำเป็นแผ่นคอนกรีตที่สามารถนำไปบริจาคให้กับวัด โรงเรียน หรือชุมชนต่อไปโดยที่ไม่ต้องทิ้ง

ปัญหาสิ่งแวดล้อมกำลังเข้าสู่ยุควิกฤติที่ทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการปรับเปลี่ยน ต้องเริ่มต้นด้วยการเปลี่ยนทัศนคติ (mindset) ของพนักงานทุกคนว่าจะมีส่วนช่วยชะลอวิกฤติขยะดังกล่าวอย่างไรผ่านหน้างานของตัวเอง และทุกคนต้องทำงานกับคู่ค้าอย่างใกล้ชิดเพื่อหาแนวทางก่อสร้างที่มีประสิทธิภาพสูงสุดและสร้างขยะให้น้อยที่สุด ทั้งนี้ การใช้เทคโนโลยี เช่น BIM เพื่อคำนวณการใช้วัสดุอย่างพอดิบพอดี แม้จะต้องใช้เวลาในการทำงานเพิ่มขึ้นแต่ก็มีส่วนช่วยลดการสร้างขยะจากการก่อสร้าง”

Mr. Jorge Chedeik, Director and Envoy of the Secretary-General on South-South Cooperation, UNOSSC กล่าวว่า “หลักการของเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นเรื่องที่ดี แต่การจะทำได้ต้องอาศัยกระบวนการหลายอย่าง ทั้งการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรกับชุมชน และการทำให้เป็นห่วงโซ่อุปทาน เป็น Atomic economy คือให้เกิดการระเบิดต่อๆ กันไป หรือเราอาจทำให้แง่ของการผลักดันให้เกิดกฎหมาย หรือข้อปฏิบัติร่วมกันให้ได้ ต้องรวมทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับองค์กรเข้ามาทำงานร่วมกัน ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ซึ่งในอดีตเราจะเห็นว่าทุกคนทำงานจะทำตามกรอบของตัวเอง แต่เราต้องพยายามทลายกรอบนั้น และพาทุกคนก้าวเข้าสู่การทำงานที่มุ่งสู่การพัฒนาและเติบโตอย่างยั่งยืน และลองมองหาว่าเราจะทำงานด้วยกันได้อย่างไร”

Mr. Doulaye Kone, Deputy Director, Bill&Melinda Gates Foundation กล่าวว่า “ผมให้ความสำคัญกับการสื่อสาร เพราะการสร้างความร่วมมือระหว่างกันนั้นจะต้องสื่อสารกันตลอดเวลาให้ชัดเจนว่าเราจะทำอะไร ถ้าเราเข้าใจตรงกันการทำงานด้วยกันก็จะไม่มีปัญหา ต่างคนก็ต่างอุทิศส่วนของตัวเองเข้ามาสู่โครงการในส่วนที่ตนเองถนัด โดยต้องทำให้แน่ใจว่าเราวางโครงสร้างการทำงานที่ดี เพื่อให้แต่ละคนที่เข้ามารู้บทบาทของตัวเอง อย่างเช่นวันนี้ที่เรามีประเด็นเหมือนกันในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เดินหน้า แล้วกำหนดบทบาทของแต่ละคนให้ชัดเจน ก็จะเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยการให้การร่วมมือเกิดขึ้นได้”

Mr. Svein Rasmussen, CEO, Starboard กล่าวว่า “เราต้องสู้กับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกตั้งแต่วันนี้ เพื่อหยุดยั้งปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเราต้องตระหนักว่าทุกวันนี้โลกของเรากำลังเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมครั้งใหญ่ เราจึงต้องช่วยกันปลูกต้นไม้ และมองหาตัวเลขที่ทุกคนจะตั้งเป็นเป้าหมายในการทำงานร่วมกัน ว่าจะสร้างความสามารถในการแข่งขันและโอกาสทางการค้าของตัวเอง ไปพร้อมๆ กับการเริ่มต้นสร้างการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการการทำธุรกิจ เพื่อให้ปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่เพิ่มมากขึ้น”

Ms.Kakuko Nagatani-Yoshida, Regional Coordinator for Chemicals Waste and Air Quality, Asis ans Pacific Office,UN Environment กล่าวว่า “เราคิดว่าการสร้างความร่วมมือระหว่างกันเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นก้าวแรกที่จะนำไปสู่การพูดคุยเพื่อแก้ปัญหาและหาทางออกร่วมกัน เช่น การลดถุงพลาสติกของ 7-11 ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดี จากสิ่งที่เราเห็นคือกองขยะมากมายที่รอการจัดการโดยเฉพาะในประเทศไทย จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องมาหาทางออกร่วมกัน เช่น เรื่องของการค้ากับพลาสติก ขณะที่อุตสาหกรรมรีไซเคิลมีมูลค่ามากกว่า 20 ล้านดอลลาร์ ธุรกิจในโลกจึงต้องปรับตัวเพื่อรองรับเรื่องนี้ เราจึงช่วยหาคนที่เกี่ยวข้องเรื่องนี้เข้ามาทำงานด้วยกันเพื่อให้เกิดผลตั้งแต่ระดับประเทศไปจนถึงภูมิภาค

สำหรับการสร้างความร่วมมือระหว่างธุรกิจกับภาครัฐเราก็เริ่มเห็นกันมากขึ้น เพราะวันนี้บริษัทใหญ่ๆ ไม่ได้ทำงานเพื่อผลกำไรสูงสุดอย่างเดียวแล้ว แต่ต้องทำงานประสานกับภาคส่วนอื่นๆ ด้วย เพื่อเดินหน้าสู่ความยั่งยืน”

Mr.Pham Hoang Hai, Partnership Development Head – Vietnam Business Council for Sustainable Development ระบุว่า “เมื่อพูดถึงเศรษฐกิจหมุนเวียนในเวียดนาม ในปี 2016 เป็นปีแรกที่เราได้ยินเรื่องนี้ ไม่มีใครรู้เลยว่ามันคืออะไร ทุกคนคิดถึงแต่ 3R แต่หลังจากนั้นจนถึงวันนี้ เรามีความร่วมมือมากมายที่มุ่งเน้นการผลักดันให้เกิดข้อตกลงและกฎหมาย และเน้นย้ำให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงความสำคัญของเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งความท้าทายในการทำงานร่วมกันนั้นอาจมีความยากในการพูดคุยกับคนที่อยู่นอกธุรกิจ

แต่ทุกคนควรต้องมาทำงานร่วมกัน เพื่อให้ปลายทางคือการพัฒนาให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ให้ประโยชน์แก่ทุกคนเกิดขึ้นได้จริง ซึ่งการทำงานในระดับอาเซียน เรามีการทำงานร่วมกันเป็น Business Council เพื่อแก้ปัญหาที่กำลังเป็นประเด็นเร่งด่วน ส่วนเวียดนามเองก็มีความคล้ายกับอินโดนิเซีย ที่ภาครัฐต้องหันไปโฟกัสที่การพัฒนากระบวนการรีไซเคิลเพื่อเป็นคำตอบในเรื่องธุรกิจได้”

Dr. Safri Burhanuddin, Deputy IV of Coordinating, Ministry for Maritime Affairs of Republic Indonesia ระบุว่า “ตั้งแต่มีการประกาศว่า อินโดนีเซียเป็นผู้ผลิตขยะรายใหญ่ของโลก ชาวอินโดนีเซียก็พยายามทำทุกอย่างเพื่อลดปัญหาขยะที่ปล่อยลงสู่ทะเล เราทำงานร่วมกันทั้ง 18 กระทรวง และมีกลไกในการจัดการขยะทั้งหมด 6 ข้อ โดยภายใต้การศึกษาพบว่าร้อยละ 80 ของขยะมาจากบนบก และแม่น้ำในจาร์กาต้าได้รับการจัดการให้สะอาด

โดยการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐบาลอินโดนิเซีย เนเธอร์แลนด์ และเอ็นจีโอ เพื่อดูแลคุณภาพน้ำ มีโครงการนำร่องเกิดขึ้นมากมาย เช่น การใช้ขยะพลาสติกมาทำถนน ในอุตสาหกรรมรีไซเคิลมีการจัดตั้งคณะกรรมการทำงานร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาและจัดการเรื่องขยะพลาสติก ซึ่งเป้าหมาย คือ จะต้องลดปริมาณพลาสติกให้ได้ในปี 2025

ความท้าทายของการสร้างความร่วมมือกันที่วันนี้อินโดนีเซียกำลังเผชิญ คือ ปัญหาพลาสติกของโลกที่ภาคเอกชนอาจต้องเป็นฝ่ายเริ่มเพราะภาครัฐอาจยังไม่มีงบประมาณ หลังจากนั้นจึงดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม เช่นที่หมู่บ้านชาวประมง 4,000 ชุมชนมาร่วมกันทำงานเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรม และคาดว่าจะเห็นผลในปี 2025”

การจัดงาน “SD Symposium 10 Years: Collaboration for Action” ในครั้งนี้ นับว่าเป็นการเปิดมุมมองใหม่ๆ ให้กับประเทศไทยและทั่วโลกได้เห็นถึงการตระหนักรู้ปัญหา ความตั้งใจที่จะแก้ไข และการดำเนินการในระยะยาวเพื่อให้เกิดการกระทำที่เป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน ซึ่ง Thereporeter.asia เองก็คาดหวังว่า การรวบรวมแนวคิดที่เด่นๆ จากวิทยากรในงานครั้งนี้ จะมีประโยชน์พอสมควรที่จะทำให้คนไทย ได้นำไปเป็นส่วนหนึ่งในการปรับใช้อย่างจริงจัง เพราะไม่ใช่แค่เมืองไทย แต่คือทั่วโลก และไม่ใช่แค่เรา แต่คือคนรุ่นหลังของเราที่จะต้องใช้ชีวิตอยู่ต่อไปนับจากนี้

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง

เอสซีจี

Related Posts