เนคเทคเปิดตัวโครงการ Ai for Thai แพลตฟอร์มเอไอแห่งแรกของไทย อวดเทคโนโลยีกว่า 20 ฟีเจอร์แบบ Open API บนมาตรฐานภาษาไทยที่ลึกซึ้ง เล็งกรุยทางสร้างนักเทคโนโลยีด้านเอไอระดับเชี่ยวชาญเพิ่มมากกว่า 500 คนภายใน 3 ปี ประเดิมโชว์การแปลงร่างบรรณาธิการข่าวอาวุโส สุทธิชัย หยุ่น เป็นนักข่าวเอไอคนแรกของประเทศไทยบนเวที NECTEC-ACE 2019
ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค กล่าวหลังการเปิดงาน NECTEC-ACE 2019 ว่า การสร้างแพลตฟอร์มเอไอบนพื้นฐานของระบบภาษาไทยเป็นการทะลายกำแพงทางภาษาของระบบเทคโนโลยีที่สำคัญ เราพยายามมาหลายปีในการสร้างระบบเอไอให้เข้าใจภาษาไทยอย่างถ่องแท้ ทั้งการตัดคำ การตีความจากภาพ ตัวหนังสือและเสียง ตลอดจนการแปลงจากเสียงเป็นตัวอักษร โดยแบ่งเป็น 3 ด้านได้แก่ ด้านภาษา ด้านการมองเห็น และด้านการสนทนา เพื่อส่งต่อให้เกิดความเข้าใจในการพัฒนาและต่อยอดเทคโนโลยีในหลากหลายอุตสาหกรรม ซึ่งจะกลายเป็นหัวใจหลักของการพัฒนาประเทศในอนาคต
โดยภายในงานได้เปิดตัวเอไอแรกของแพลตฟอร์มที่ชื่อว่า JibJib (จิ๊บๆ) ซึ่งเป็นเอไอแชตบอทที่จะเข้ามาช่วยตอบคำถามในแบื้องต้นของการบริการเสมือนหนึ่งเลขาส่วนตัว ด้วยการผสานเทคโนโลยี 3 ส่วนที่สำคัญได้แก่ Partii (พาที) แพลตฟอร์มรู้จำเสียงพูด Vaja (วาจา) แพลตฟอร์มสังเคราะห์เสียงพูด ABDUL (อับดุล) แพลตฟอร์มสร้างแชตบอต นอกจากนี้ยังมีการเปิดตัวนักข่าวเอไอตัวแรกของประเทศไทยขึ้นมาสนทนาบนเวทีกับผู้อำนวยการเนคเทค โดยนำคาแรกเตอร์ของ บรรณาธิการข่าวอาวุโสอย่าง สุทธิชัย หยุ่น มาสร้างเป็นเอไอที่สามารถสื่อสารตอบโต้ได้หลายภาษา โดยภาษาไทยปัจจุบันยังรองรับ 3 สำเนียง(สำเนียงกลาง เหนือ และอีสาน) ได้อย่างเป็นธรรมชาติ
Ai for Thai เป็นแพลตฟอร์มที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีโอกาสเข้ามาใช้ฟรีในรูปแบบ Open API แต่กระนั้นก็เป็นการจำกัดการใช้ในปริมาณทรานเซ็กส์ชั่นราว 500 ครั้งต่อบัญชี เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเท่าเทียมกัน แต่หากองค์กรไหนต้องการมากกว่านั้น อาจจะต้องติดต่อเข้ามาพัฒนาร่วมกับเนคเทคอีกครั้ง ซึ่งเราก็ตั้งเป้าให้ 3 อุตสาหกรรมหลักได้นำเอไอไปพัฒนาและยกระดับมาตรฐานการผลิตหรือบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
โดยอุตสาหกรรมแรกที่เราคาดหวังและเป็นห่วงน้อยที่สุดคือด้านสาธารณะสุข ซึ่งก็จะเป็นการบริการรักษา การวินิจฉัยโรคด้วยเอไอ และกลุ่มเกษตร ที่ยังมีการนำเทคโนโลยีเข้าไปใช้อยู่น้อย แต่ก็เป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศที่มีประชากรส่วนใหญ่กระจายอยู่ทั่วประเทศ และสุดท้ายเป็นกลุ่มการท่องเที่ยว ที่ปัจจุบันมีการใช้งานแพลตฟอร์มจากต่างประเทศเป็นหลัก ทำให้การบริหารจัดการข้อมูลในหลายส่วนไหลออกไปสู่ต่างประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
การเปิดตัว Ai for Thai ในครั้งนี้ เพื่อสร้างโอกาสให้ทุกคนไทยที่อยากเข้าถึงแพลตฟอร์มเอไอที่มีการพัฒนาคอร์หลักของเทคโนโลยีให้เข้าใจภาษาไทยอย่างลึกซึ้ง ได้มีโอกาสเข้าถึงแพลตฟอร์มผ่านเว็บไซต์ www.aiforthai.in.th ทั้งการพัฒนาและต่อยอดหรือการทดสอบระบบ ซึ่งจะมีผู้เชี่ยวชาญคอยให้การแนะนำปรับแต่งให้เกิดความสมบูรณ์ ตลอดจนการผลิตแอปพลิเคชั่นเพื่อต่อยอดไปสู่นักพัฒนาเชิงพาณิชย์มากย่ิ่งขึ้นในอนาคต
วันนี้เราตั้งใจที่จะสร้างระบบที่เข้าใจคนไทยมากขึ้น ที่ผ่านมาเราเห็นอุปสรรคสำคัญของการพัฒนาที่ต่อยอดมาจากเทคโนโลยีต่างประเทศ ท้ายที่สุดนักพัฒนาก็ไม่สามารถพัฒนาต่อไปได้ด้วยข้อจำกัดทางเทคโนโลยีที่ไม่เปิดโอกาสให้เข้าถึงโค้ดในระดับการพัฒนา ทำให้เวลาของการพัฒนาสูญเปล่า แพลตฟอร์มนี้จะเข้ามาช่วยตอบโจทย์การพัฒนาด้วยรูปแบบ Open API ที่เปิดโอกาสให้นักพัฒนาสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างเต็มที่ และไร้ข้อจำกัดโดยสิ้นเชิง หากเริ่มต้นการพัฒนาที่แพลตฟอร์ม Ai for Thai นี้
เราเชื่อว่าการเปิดตัวครั้งนี้จะเป็นอีโคซิสเต็มส์ที่สำคัญในการสร้างให้เกิดฟีเจอร์เอไอใหม่ๆขึ้นมากมายในประเทศไทย อีกทั้งยังจะช่วยพัฒนาผู้เชี่ยวชาญให้เกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาในการพัฒนาบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านเอไอให้ได้มากกว่า 500 คนภายใน 3 ปีนี้ เพื่อรองรับการเติบโตและผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านเอไอของประเทศไทยในอนาคต รวมไปถึงการขยับอันดับความรู้ด้านเอไอของไทยที่ปัจจุบันอยู่ในอันดับ 56 ของโลกขึ้นมาสู๋อันดับที่ดีขึ้นอีกด้วย
นอกจากนี้เรายังได้รับความร่วมมือจากสปอนเซอร์ 4 รายที่สนับสนุนในรูปแบบที่แตกต่างกัน โดยพันธมิตรรายแรกเป็น กสท โทรคมนาคม ที่มอบโมดูลตลอดจน GPU ให้เราได้เข้าใช้งานเพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มนี้ และ KBTG ที่สนับสนุนด้านการเงินเพื่อการต่อยอดของประเทศไทยในอนาคต และไอเน็ต ที่มอบระบบคลาวด์ให้เราได้ใช้งาน ตลอดจน Pantip.com ที่ส่งต่อข้อมูลของโลกออนไลน์ให้เอไอได้เรียนรู้และสร้างรูปแบบองค์ความรู้จากฐานข้อมูลที่เป็นจริงมากขึ้น
ทั้งนี้ในปี 2030 มีการคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมเอไอจะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศเอเชีย(ไม่รวมจีน) กว่า 0.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ประเทศจีนกระทบราว 7 ล้านล้านเหรียญ ยุโรปราว 2.5 ล้านล้านเหรียญ อเมริกาเหนือราว 3.7 ล้านล้านเหรียญ กลุ่มประเทศละตินอเมริการาว 0.5 ล้านล้านเหรียญ และประเทศอื่นๆอีกราว 1.2 ล้านล้านเหรียญ ซึ่งนับเป็นรายได้มูลค่ามหาศาลแม้เพียงส่วนแบ่งเล็กน้อย ถ้าหากประเทศไทยสามารถพัฒนาองค์ความรู้และสามารถต่อยอดเอไอเชิงพาณิชย์ได้ทัดเทียมนานาประเทศได้ในไม่ช้านี้
โดยผู้ที่สนใจพัฒนาและต่อยอดจากแพลตฟอร์ม Ai for Thai สามารถเข้าไปใช้บริการได้ผ่านหน้าเว็บไซต์ www.aiforthai.in.th นับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป