รมว.ดีอี เดินทางตรวจเยี่ยม กรมอุตุนิยมวิทยา ประเมินระบบสารสนเทศ ซุปเปอร์คอม ยุค4.0 พอใจระบบแจ้งเตือนภัย วางแผนบริหารจัดการภัยธรรมชาติ ทันท่วงที อธิบดีกรมอุตุ ขานรับบูรณาการ สร้างระบบ Use case เชื่อมต่อหน่วยงาน พร้อมเสริมทีม Fake News Center เติมข้อมูลด้านภัยธรรมชาติ เน้นสื่อสารเตือนภัยพิบัติแก้ข่าวลวง ข่าวปลอมผ่านออนไลน์
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้กล่าวหลังเข้าตรวจเยี่ยมกรมอุตุนิยมวิทยา และร่วมแถลงข่าว “อุตุฯ ยุคใหม่ไม่ใช่ธรรมดา” ณ ศูนย์ปฏิบัติการพยากรณ์อากาศ ชั้น 11 อาคาร 50 ปี อุตุนิยมวิทยา ว่า ภารกิจของกรมอุตุนิยมวิทยามีความสำคัญยิ่งต่อการเตือนภัย มีฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและบริหารจัดการภัยธรรมชาติในสภาวะอากาศต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม
มีระบบบูรณาการความร่วมมือในการเตือนภัยกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และมุ่งเน้นการสร้างประโยชน์ให้กับสังคม ในฐานะผู้บริหารของกระทรวงดีอี พร้อมให้การสนับสนุน ทั้งส่วนงบประมาณและการอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติภารกิจ ส่งเสริมการพัฒนางานอุตุนิยมวิทยาด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลให้มีความพร้อมในการก้าวไปสู่อุตุนิยมวิทยา 4.0 ได้อย่างมั่นใจ
กรมอุตุนิยมวิทยาตามภารกิจนั้น เป้าหมายหลักคือ การตอบสนองต่อความต้องการของประเทศ สังคม และประชาชนโดยการตรวจ เฝ้าระวัง พยากรณ์อากาศ เตือนภัยธรรมชาติด้วยความถูกต้อง รวดเร็ว และทันเหตุการณ์ มุ่งสู่วิสัยทัศน์ “เป็นองค์กรสมรรถนะสูงด้านอุตุนิยมวิทยา เตือนภัยธรรมชาติ เพื่อคุณภาพและประโยชน์ของสังคม”
ปัจจุบันกรมอุตุนิยมวิทยาได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัยมาใช้ในการตรวจอากาศ วิเคราะห์ประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ด้วยคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง (HPC : High Performance Computer) เพื่อคาดการณ์สภาพอากาศและภูมิอากาศเพื่อการแจ้งเตือนภัยธรรมชาติที่แม่นยำ เพิ่มประสิทธิภาพและความถูกต้องในการพยากรณ์อากาศมีความละเอียดในระดับพื้นที่ อาทิ แผนที่อากาศผิวพื้น ภาพถ่ายดาวเทียม (Himawari-8) ในการนำมาวิเคราะห์ ปริมาณฝนสะสมรายวันจากการประมาณค่าฝน วิเคราะห์กลุ่มฝน อุณหภูมิยอดเมฆ
พร้อมทั้งยังได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลสมัยใหม่ เช่น Internet of Things (IoT) ในการสื่อสารกับอุปกรณ์เครื่องมือตรวจวัด ที่กระจายในแต่ละพื้นที่ ในการเก็บข้อมูล ผสานการทำงานร่วมกับระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ได้แก่ ระบบตรวจวัดลมเฉือนและระบบตรวจวัดอัตโนมัติเพื่อการบิน (Wind Shear และ. AWOS) เครื่องมือเตือนภัยการเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากความร้อน (HIAS) เพื่อตรวจวัดและพยากรณ์ค่าได้แบบเรียลไทม์ หรือ ตามสภาพเวลาปัจจุบัน เพื่อเตือนภัยด้านสุขภาพกับสภาพอากาศร้อน, การทำเหมืองข้อความ (Text Mining) และด้านแผ่นดินไหว เครื่องมือตรวจวัดฝนอัตโนมัติ ระบบตรวจวัดอากาศภาคพื้นดินแบบอัตโนมัติ (Automatic Weather System : AWS)
และการบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ในการวิเคราะห์และใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ด้านอุตุนิยมวิทยา อันนำไปสู่บริการดิจิทัลที่ชาญฉลาดเข้าถึงทุกที่ทุกเวลา (Digital Service) ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญและมุ่งสู่การพัฒนาในอนาคตต่อไป นอกจากนี้ กรมอุตุนิยมวิทยามีการสร้างเครือข่ายความร่วมมือภาคประชาชนในการนำข้อมูลอุตุนิยมวิทยาไปใช้ในการประกอบอาชีพได้ตามอาชีพของตน ผู้ประกอบการสามารถใช้ข้อมูลประกอบธุรกิจตามประเภทธุรกิจของตน หน่วยงาน องค์กรต่าง ๆ สามารถนำข้อมูลไปใช้เพื่อประโยชน์ของสังคมได้อย่างมีประสิทธิผลและสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ให้กับประเทศได้
ด้านดร.ภูเวียง ประคำมินทร์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เสริมในช่วงท้ายว่า กรมอุตุนิยมวิทยาได้นำนโยบายจากรัฐบาล Thailand 4.0 มาประยุกต์เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยการสร้างศูนย์การเรียนรู้ มุ่งเน้นการนำผลการพยากรณ์มาใช้ในการวางแผนการเพาะปลูกพืช การประมง อีกทั้งยังเป็นหน่วยงานที่มีข้อมูล Big Data พร้อมจะสนับสนุนข้อมูลด้านอุตุนิยมวิทยาให้กับทางหน่วยงานต่างๆนำไปดำเนินการในภารกิจของตนเอง หรือเรียกกันว่า Use case ซึ่งที่ผ่านมามีหลายองค์กรนำข้อมูลไปใช้แล้ว เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กรมอนามัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มหาวิทยาลัยศิลปากร และจะได้ขยายความร่วมมือไปยังหน่วยงานอื่นๆอีกตามแผนระยะกลางและระยะยาว ต่อไป
ในการมาเยือนเพื่อติดตามการดำเนินงานของกรมอุตุนิยมวิทยาครั้งนี้ ท่านรัฐมนตรีดีอีเล็งเห็นว่ากรมอุตุนิยมวิทยาประสบข่าวลวง (Fake News) ค่อนข้างจะบ่อยครั้งสร้างความสับสนให้กับประชาชน จึงได้เดินหน้านโยบายเกี่ยวกับข่าวลวง โดยมีการดำเนินการที่จะตั้ง Fake News Center ด้านภัยธรรมชาติ ขึ้นโดยเน้นสื่อสารเตือนข่าวลวงภัยพิบัติเน้นสื่อสารข่าวการเตือนภัยพิบัติและข่าวลวงที่กระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง
“ท่านรัฐมนตรี ให้เน้นถึงข้อมูลการตรวจวัดด้านอุตุนิยมวิทยา การพยากรณ์อากาศที่แม่นยำ โดยเรื่องเร่งด่วนในเบื้องต้นนี้ คือ การติดตั้งเครื่องมือแบบ automatic เพิ่มเติมให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ทั้งข้อมูลด้านการบิน แผ่นดินไหว และทะเล ซึ่งจะนำไปสู่การดำเนินการมุ่งเน้น “ถูกต้อง แม่นยำ ละเอียด ครอบคลุม รวดเร็ว เข้าถึงง่าย” สอดคล้องตามหลักการดำเนินการไว้”
อธิบดีกรมอุตุนิยม กล่าวอีกว่า กรมอุตุนิยมวิทยามีความยินดีและเห็นว่าการมาเยี่ยมเยือนของท่านรัฐมนตรีในครั้งนี้ สร้างความอบอุ่นใจและเติมกำลังใจในการปฏิบัติงาน เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนทั้งด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ แผ่นดินไหว และด้านอุตุนิยมวิทยาการบิน ซึ่งจะเป็นการทำให้เกิดความเชื่อมั่นต่อกรมอุตุนิยมวิทยามากขึ้น